สว. เข้ารอบสุดท้าย 3 พันคน เรื่องร้องเรียนร่วม 80 ครั้ง

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2024.06.17
กรุงเทพฯ
สว. เข้ารอบสุดท้าย 3 พันคน เรื่องร้องเรียนร่วม 80 ครั้ง ผู้สมัครลงทะเบียนเลือกตั้งชิงตำแหน่งวุฒิสภา ณ ที่ทำการเขตพญาไท กรุงเทพฯ ในวันที่ 20 พฤษภาคม 2567
ศักดิ์ชัย ลลิต/เอพี

คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดเผยว่า มีผู้ที่สามารถผ่านการคัดเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ระดับจังหวัด 3 พันคน ที่จะเข้าสู่การเลือกรอบสุดท้ายระดับประเทศวันที่ 26 มิถุนายนนี้ แม้จะมีผู้ร้องเรียนปัญหาการเลือก สว. ร่วม 80 ครั้ง ขณะที่ นักวิชาการเชื่อว่า สว. ที่ได้จะไม่สะท้อนความหลากหลาย และจะสร้างปัญหาในอนาคต

นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. กล่าวกับสื่อมวลชนว่า การเลือกตั้ง สว. ในวันอาทิตย์ที่ผ่านมา โดยรวมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย

“สามารถจะยื่นเรื่องโดยตรงกับ กกต. ได้ หรือสามารถไปยื่นกับศาลฎีกาก็ได้เช่นกันภายใน 3 วัน ในส่วนที่เป็นคำร้องที่มีขึ้นตั้งแต่ระดับอำเภอมี 78 คำร้อง มีเกี่ยวกับคำร้อง ต้องตรวจสอบว่า พยานหลักฐานที่นำมายื่นเป็นพยานหลักฐานที่แท้จริงหรือไม่ ถ้าจริงก็เข้าสู่กระบวนการไต่สวน สอบสวนอย่างรวดเร็ว” นายอิทธิพร กล่าว

กกต. เปิดเผยว่า มี สว. ที่ได้รับเลือกให้ไปเลือกอีกครั้งในระดับประเทศ 3,000 คน แบ่งเป็นชาย 2,164 คน และหญิง 836 คน มีผู้ไม่มารายงานตัวในการเลือกระดับจังหวัด 497 คน ตามกำหนดการ ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกระดับจังหวัดจะต้องเข้ารับการคัดเลือกระดับประเทศในวันที่ 26 มิถุนายน 2567 หลังจากนั้น กกต. กำหนดจะประกาศรายชื่อ สว. 200 คน ที่ผ่านการเลือกตั้งในวันที่ 2 กรกฎาคม 2567 

“กระบวนการ เราคิดว่าสามารถที่จะตรวจสอบ และสั่งได้อย่างรวดเร็ว ไม่กระทบแน่ ๆ ส่วนถ้าเป็นการร้องจากผู้สมัครคนใด เป็นกระบวนการต้องใช้เวลาอยู่บ้าง เชื่อมั่นว่าไม่กระทบกับกรอบเวลาที่กำหนดเอาไว้ ถ้ามีปัญหาก็เอาชื่อสำรองขึ้นมา” นายอิทธพร เชื่อว่า จะไม่มีปัจจัยที่ทำให้การประกาศผล สว. ต้องเลื่อนออกไป

ด้านประเด็นร้องเรียน นายธนะวิทย์ วงศ์ธารทิพย์ ผู้สมัคร สว. กลุ่ม 19 อาชีพอิสระ กรุงเทพฯ ได้เดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อ กกต. ในวันจันทร์ให้ตรวจสอบการทุจริตเนื่องจากถูกผู้สมัครคนอื่นขอให้ลงคะแนนเลือกคนอื่น และไม่ลงคะแนนให้ตัวเอง

“การนับหนึ่งด้วยการโกง การเตี๊ยมเป็นประชาธิปไตยจริงไหม สว. 200 คน คงไม่ใช่อย่างที่อยากจะเห็น” นายธนะวิทย์ กล่าว

ขณะที่ นายพัชระ บัวแพง ผู้สมัคร สว.กลุ่ม 15 กลุ่มผู้สูงอายุ และคนพิการ จังหวัดขอนแก่น ได้เข้าร้องเรียนต่อ กกต. ให้ตรวจสอบเช่นกันเนื่องจากพบความพิรุธในการลงคะแนน

“ผู้สมัคร สว. มีผู้ที่ได้รับเลือกเป็นอันดับ 1 คะแนนสูงโดดกว่าเพื่อน และมีผู้ที่ไม่เลือกลงคะแนนให้ตัวเองกว่า 20 คน เรื่องเหล่านี้ไม่น่าจะเป็นความบังเอิญ น่าจะมีการฮั้วกันเกิดขึ้น จึงมาร้องคัดค้านกับทาง กกต. ตามสิทธิ์ ให้สืบสวนหาข้อเท็จจริงและชี้แจงต่อประชาชน เพื่อความโปร่งใส” นายพัชระ กล่าว

การเลือกตั้ง สว. ครั้งนี้ เกิดขึ้นเพื่อทดแทน สว. ชุดล่าสุด 250 คน ที่แต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งหมดวาระไปแล้วตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2567 โดยเป็นการเปิดรับสมัคร ผู้ลงสมัครรับเลือกเป็น สว. ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งวุฒิสภา พ.ศ. 2561 (พ.ร.ป. สว.ฯ) ซึ่งนับเป็นการใช้รูปแบบนี้ครั้งแรก

สำหรับการเลือกตั้ง สว. ผู้สมัคร สว. ต้องมีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป จ่ายเงินค่าสมัคร 2,500 บาท ต้องมีประสบการณ์ในสายอาชีพที่จะลงสมัครอย่างน้อย 10 ปี และต้องเกิด หรือมีทะเบียนบ้าน หรือเคยอาศัยทำงาน เรียนในอำเภอที่จะลงสมัครอย่างน้อย 2 ปีขึ้นไป 

มีกลุ่มอาชีพให้เลือกลงรับสมัคร 20 กลุ่มอาชีพ เช่น กลุ่มการบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง, กลุ่มกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม, กลุ่มอาชีพทำนา ปลูกพืชล้มลุก และกลุ่มอื่น ๆ โดยจะให้ผู้สมัครแต่ละคนลงคะแนนเลือกกันเองในกลุ่มอาชีพตั้งแต่ระดับอำเภอ, จังหวัด และประเทศ รวม 3 ระดับ

ผศ. ปิยพงษ์ พิมพลักษณ์ สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ชี้ว่า รูปแบบการเลือก สว. ที่กำลังดำเนินอยู่จะไม่สะท้อนความหลากหลายของผู้ที่ได้รับเลือก 

"การให้ผู้สมัครลงคะแนนเลือกกันเองนั้น ก็ทำให้เกิดช่องว่างจะมีผู้มีอิทธิพลเข้ามาซื้อเสียงและให้ผู้สมัครสมยอมกัน ซึ่งขัดกับหลักการของวุฒิสภาที่ควรมาจากเสียงประชาชนอย่างแท้จริง” ผศ. ปิยพงษ์ กล่าว

ในการเลือกระดับประเทศจะให้ผู้มีคะแนนมากที่สุด 40 คนแรก ของแต่ละกลุ่มอาชีพ เลือกผู้สมัครจากต่างกลุ่มอาชีพ หลังจากนั้นผู้ที่ได้รับคะแนนมากที่สุด 10 อันดับแรกของแต่ละกลุ่มอาชีพ 20 กลุ่ม จากการเลือกโดยผู้สมัครต่างกลุ่มอาชีพ จะได้เป็น สว. รวม 200 คน และผู้ที่ได้รับคะแนนเป็นอันดับ 11-15 ของแต่ละกลุ่มอาชีพจะนับเป็นรายชื่อ สว. สำรอง 100 คน แต่ สว. ชุดใหม่นี้จะไม่มีสิทธิในการเลือกนายกรัฐมนตรี แบบเดียวกับ สว. ชุดที่แต่งตั้งโดย คสช. 

“การแก้ไขในความเห็นของผม พูดถึงในกรณีที่เรายังต้องมี สว. นะ ก็ควรปรับให้ระบบเป็นการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน ไม่แบ่งสัดส่วนกลุ่มอาชีพ ส.ว. 200 คน ชุดนี้ อาจจะไม่ได้สะท้อนความหลากหลายของประชาชนขนาดนั้น แต่เป็นตัวแทนกลุ่มผลประโยชน์ที่เข้ามาผ่านช่องโหว่ ซึ่งอาจไปจำกัดการทำงานของรัฐบาล” ผศ. ปิยพงษ์ ระบุ 

รุจน์ ชื่นบาน ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง