กอ.รมน. ภาค 4 สรุป รอมฎอนสันติสุข เสียชีวิต 4 เจ็บ 19 ราย

พ.อ. เอกวริทธิ์ ชอบชูผล โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ภาค 4 ส่วนหน้า เปิดเผยข้อมูลช่วงรอมฎอน หรือช่วงถือศีลอดของผู้นับถือศาสนาอิสลามว่า มีเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ 35 เหตุ มีผู้เสียชีวิต 4 ราย และบาดเจ็บ 19 ราย นักสิทธิมนุษยชนชี้รอมฎอนปีนี้เลวร้ายกว่าสองปีที่ผ่านมา

“เหตุความมั่นคง ในพื้นที่สี่จังหวัดชายแดนภาคใต้ช่วงรอมฎอนมี 35 เหตุ แยกเป็นปัตตานี 13 เหตุ ยะลา 6 เหตุ นราธิวาส 13 เหตุ และสงขลา 3 เหตุ ถือว่าสถานการณ์ที่เกิดช่วงนี้สูงกว่าหลายปี” พ.อ. เอกวริทธิ์ กล่าว

ในปี 2565 คณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ เคยริเริ่ม “รอมฎอนสันติสุข” โดยอนุญาตให้ผู้มีหมายจับคดีความมั่นคงเดินทางกลับบ้าน เพื่อประกอบศาสนกิจกับครอบครัวได้ โดยไม่ถูกคุมตัว ในห้วงเวลาการถือศีลอด และทั้งสองฝ่ายจะไม่ใช้กำลังปะทะกัน ซึ่งปีนั้น คณะพูดคุยฯ แถลงว่า แนวทางดังกล่าวประสบความสำเร็จ เพราะลดเหตุความรุนแรงได้ อย่างไรก็ตาม รอมฎอนสันติสุขไม่ได้ถูกปฏิบัติในปี 2566

ในปี 2567 นายอรุณ บุญชม จุฬาราชมนตรี ได้ประกาศให้วันอังคารที่ 12 มีนาคม เป็นวันเริ่มเดือนรอมฎอน และวันที่ 10 เมษายน เป็นวันวันอีฎิลฟิตริ หรือวันสิ้นสุดการถือศีลอดในเดือนรอมฎอน

ก่อนหน้านี้ ในการพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ 6-7 กุมภาพันธ์ 2567 ที่มาเลเซีย คณะพูดคุยฯ ฝ่ายไทย ระบุว่า จะทดลองปลดประกาศจับผู้ต้องหาคดีความมั่นคง ลดการปิดล้อม และตั้งด่านตรวจ ช่วงเดือนถือศีลอดโดยใช้ชื่อ “รอมฎอนสันติสุข” อีกครั้ง เพื่อสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ และลดเหตุความรุนแรง

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 14 มีนาคม เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงร่วม 50 นาย ได้เข้าปิดล้อมจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับคดีความมั่นคงในพื้นที่ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี จนเกิดเหตุปะทะ ทำให้มีผู้ต้องหา 2 รายถูกวิสามัญฆาตกรรม ทำให้เกิดการวิพากษ์-วิจารณ์บนโซเชียลมีเดียว่า รัฐบาลไม่จริงใจในการเจรจา

ต่อมา 22 มีนาคม เกิดเหตุคนร้ายลอบวางระเบิด-เผา ทรัพย์สินราชการ และเอกชนกว่า 40 จุดในพื้นที่ สี่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งหลายฝ่ายเชื่อว่า เป็นการพยายามตอบโต้การวิสามัญฆาตกรรมผู้ต้องหาคดีความมั่นคงของเจ้าหน้าที่เมื่อวันที่ 14 มีนาคม

และล่าสุด 7 เมษายน เกิดเหตุคนร้ายซุ่มยิงรถของเจ้าหน้าที่กองร้อยทหารพรานที่ 4613 ในพื้นที่ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส จนมีเจ้าหน้าที่อาสาสมัครทหารพราน เสียชีวิต 2 นาย และบาดเจ็บ 8 นาย

ต่อเหตุความไม่สงบที่เกิดขึ้น พล.ท. ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4 เปิดเผยว่า รู้สึกเสียใจกับการสูญเสียที่เกิดขึ้น และกำชับให้เจ้าหน้าที่เข้มงวดเรื่องการรักษาความปลอดภัย

“เราสั่งการคุมเข้มพื้นที่ เพื่อดำเนินการตรวจสอบ รวบรวมวัตถุพยาน และเร่งติดตามตัวผู้ก่อเหตุมาดำเนินคดีตามกฎหมายโดยเร็วที่สุด ย้ำให้ทุกพื้นที่ ทุกฐานปฏิบัติการเพิ่มมาตรการควบคุมความปลอดภัย สอดส่องดูแลไม่ให้เกิดเหตุการณ์ความสูญเสียของกำลังพลเจ้าหน้าที่ และพี่น้องประชาชน ใช้ปฏิบัติการเชิงรุก เพื่อจำกัดเสรีการก่อเหตุ คุมเข้มพื้นที่รับผิดชอบทุกตารางนิ้ว” พล.ท. ศานติ กล่าว

ด้าน สมาชิกบีอาร์เอ็น(สงวนชื่อและนามสกุล) เปิดเผยว่า เหตุที่เกิดขึ้นในช่วงรอมฎอนไม่ใช่เกิดจากบีอาร์เอ็นเพียงกลุ่มเดียว แต่ยังมีกลุ่มอื่นก่อเหตุด้วย

“ยังมีการวิสามัญชาวบ้าน มีการละเมิด และในการชี้แจงของรัฐ รัฐไม่เคยผิด นั่นแสดงให้เห็นว่า รัฐไทยไม่จริงใจที่จะอยากให้สงบ ถ้ารัฐไทยไม่จริงใจ ก็ได้รับความไม่จริงใจกลับ เราเลยยังไม่เห็นความหวัง เสียทั้งงบประมาณ เสียเวลา ปัญหามันไม่ใช่การแบ่งแยกดินแดน เพราะรัฐต้องไม่ลืมว่า ชาวบ้านคือคนที่ถูกกระทำ และรัฐสร้างความอยุติธรรมกับพวกเขา” สมาชิกรายดังกล่าว ระบุ

เหตุการณ์ปล้นปืนค่ายปิเหล็ง ปี 2547 ถูกนับเป็นจุดเริ่มต้นความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ระลอกใหม่ รัฐบาลเลือกที่จะจัดการปัญหาด้วยการส่งฝ่ายความมั่นคงลงไปปฏิบัติงาน ทำให้ระหว่างปี 2547-2553 ชายแดนใต้มีทหาร ตำรวจ รวมถึงอาสาสมัครรักษาดินแดน (อส.) กว่า 7.5 หมื่นนาย

000_34P36L4.jpg
ประชาชนชาวไทยมุสลิมใน จ.นราธิวาส ร่วมกันสวดละหมาดเนื่องในเทศกาลฮารีรายอ ในวันที่ 10 เมษายน 2567 (เอเอฟพี) (MADAREE TOHLALA/AFP)

ต่อมาในปี 2556 รัฐบาลพยายามหาทางแก้ไขปัญหา โดยเริ่มใช้ “การพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้” เป็นทางออก แต่ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) ระบุว่า ตั้งแต่มกราคม 2547 ถึงพฤศจิกายน 2566 มีเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นกว่า 22,200 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตกว่า 7,540 คน และมีผู้บาดเจ็บอีกกว่า 14,000 ราย

“เมื่อเขาเรียกร้องไม่ได้ เขาเลยต้องสร้างสถานการณ์ จนตอนนี้ ความสูญเสียมันมากเกินกว่าจะบอกให้แล้ว ๆ กันไป การแก้ปัญหา ตราบใดที่การพูดคุยสันติสุขมีกรอบมากมาย มีการปิดกั้น หัวหน้าคณะพูดคุยฯ ไม่มีอำนาจตัดสินใจ ก็ยากที่จะประสบความสำเร็จ การพูดคุยควรเป็นไปในแบบที่ไม่มีเงื่อนไข เพื่อทุกฝ่ายจะได้เปิดใจคุยกัน” สมาชิกบีอาร์เอ็นรายเดิม กล่าว

ล่าสุดในปี 2567 คณะพูดคุยฯ พยายามใช้ แผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติสุขแบบองค์รวม (Joint Comprehensive Plan towards Peace - JCPP) ที่มีแนวทางหลัก 3 ข้อ คือ 1. การลดความรุนแรงในพื้นที่ และลดการเผชิญหน้า 2. การจัดการปรึกษาหารือกับประชาชน และ 3. การแสวงหาทางออกทางการเมือง โดยคาดหมายว่า บีอาร์เอ็นจะร่วมลงนามรับรอง JCPP ภายในปีนี้ และสามารถนำไปสู่ข้อตกลงสันติสุขร่วมกันในอนาคต

ด้าน น.ส. อัญชนา หีมมิหน๊ะ ประธานกลุ่มด้วยใจ และ กมธ.สันติภาพ กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า รอมฎอนปีนี้เลวร้ายกว่าปี 2565 และ 2566 มาก ตัวเลขเหตุการณ์มีจำนวนเพิ่มขึ้น 2 เท่า มีผู้ได้รับผลกระทบในวงกว้างโดยเฉพาะภาคธุรกิจและผลกระทบที่เป็นลูกโซ่คือการบังคับใช้กฏหมายพิเศษ การจับกุมประชาชน และความหวาดระแวง

“สิ่งสำคัญที่ขาดหายไปจากคู่เจรจาระหว่างไทยและBRN คือความอดทนอดกลั้นต่อการไม่ใช้ความรุนแรงตอบโต้กันจุดเริ่มต้นจากการที่รัฐใช้ความรุนแรงและต่อมาคือการตอบโต้จากกองกำลังติดอาวุธซึ่งต่างก็ไม่แยแสว่าประชาชนคนตรงกลางจะเป็นอย่างไร” น.ส. อัญชนา กล่าว

ทั้งนี้ในวันที่ 9 เมษายน 2567 คณะรัฐมนตรี(ครม.) ได้ขยายการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ออกไปอีก 3 เดือนตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน ถึง 19 กรกฎาคม 2567 ซึ่งเป็นการขยายระยะเวลาเป็นครั้งที่ 76 นับตั้งแต่มีสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่