การกลับมาของทักษิณให้ความหวังและก่อความวิตก

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2023.07.31
กรุงเทพฯ
การกลับมาของทักษิณให้ความหวังและก่อความวิตก ผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทยถือป้ายที่มีรูปถ่ายของอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร และยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งของพรรค ในกรุงเทพฯ วันที่ 28 เมษายน 2566
เอเอฟพี

การประกาศจะเดินทางกลับประเทศไทย ในวันที่ 10 สิงหาคม 2566 ของทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งต้องหลบหนีคดีการเมืองอยู่ในต่างประเทศอย่างยาวนานกว่า 15 ปี กลายเป็นที่จับตามองของสื่อมวลชน และคนในประเทศ ท่ามกลางบรรยากาศอันตึงเครียดของการจัดตั้งรัฐบาล

แพทองธาร ชินวัตร หรืออุ๊งอิ๊งค์ บุตรสาว ซึ่งเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ของพรรคเพื่อไทย เป็นผู้ประกาศการเดินทางกลับของทักษิณ โดยขณะเดียวกันกับที่พรรคเพื่อไทยกำลังพยายามรวมรวมเสียง เพื่อจัดตั้งรัฐบาลให้ได้ หลังการเลือกตั้ง ที่มีขึ้นตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคม 2566

แผนการเดินทางกลับประเทศของนักธุรกิจมหาเศรษฐี ผู้ซึ่งเผชิญกับคดีความมากมายระหว่างดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครั้งนี้ ทำให้เกิดการถกเถียงในวงกว้าง โดยหลายคนเชื่อว่า การมาถึงของทักษิณจะมีผลอย่างมากกับการตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่

ทักษิณ ปัจจุบัน อายุ 74 ปี เคยเป็นอดีตหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง และเป็นที่ชื่นชอบของประชาชนจากนโยบายประชานิยม จนสามารถขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ระหว่างปี 2544-2549 ขณะเดียวกัน เขาก็มักถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับการทุจริต ไม่จงรักภักดี และสร้างความแตกแยกในประเทศ

“ถ้าเขาจะกลับประเทศ เขาไม่ใช่โจรผู้ร้ายที่ฆ่าประชาชน คุณทักษิณไม่ได้ผิดอะไรมากมาย เขาแค่ผิดจริยธรรม แต่พวกเผด็จการไม่รู้จะจัดการเขายังไงก็เลยใช้ข้อหานี้จัดการเขาให้ติดคุก เขาเลยต้องหลบภัยไปก่อน” สมศักดิ์ จตุคาม คนขับแท็กซี่ อายุ 61 ปี กล่าว

230731-th-politics-thaksin-return-Somsak.jpg

สมศักดิ์ จตุคาม คนขับแท็กซี่ วันที่ 27 กรกฎาคม 2566 (นนทรัฐ ไผ่เจริญ/เบนาร์นิวส์) 

ขณะที่ วรรณลี ทรัพย์ประดิษฐ์ ชาวกรุงเทพ อายุ 76 ปี หนึ่งในผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พร้อมที่จะไปต้อนรับทักษิณ ที่สนามบินดอนเมือง หรือศาลฎีกา หากเขากลับประเทศ

“ท่านทักษิณเป็นคนดี หัวสมองดีมาก ถ้าประเทศไทยไม่ได้ท่านทักษิณมาบริหาร ก็จะเจ๊งไปตลอด จะมีคนจนตลอดไป พอท่านบริหารประเทศเราก็ดีขึ้น” วรรณลี กล่าว

วรรณีลี บอกว่า เธอเป็นคนเสื้อแดง ตั้งแต่ที่ทักษิณ ถูกรัฐประหารในปี 2549 และเธอเชื่อว่า หากทักษิณเดินทางกลับประเทศจริง เขาจะได้รับพระราชทานอภัยโทษในไม่ช้า

“ท่านกลับมาแล้วต้องเข้าคุกก็ไม่เห็นเป็นไร ลงเครื่องบินจากดอนเมือง ไปศาลฎีกาสนามหลวง ไปกรมราชทัณฑ์ เราก็ไม่ว่า ให้เขาอยู่ตามกฎหมายไปเขาไม่น่าจะอยู่สักเท่าไหร่ เดี๋ยวก็ได้พระราชทานอภัยโทษแล้ว มาวันที่ 10 วันที่ 12 (สิงหาคม 2566) ก็วันเกิดพระราชินี ก็ได้พระราชทานอภัยโทษแล้ว” วรรณลี ระบุ

230731-th-politics-thaksin-return-Wanlee.jpg

วรรณลี ทรัพย์ประดิษฐ์ ชาวกรุงเทพฯ ผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทย วันที่ 27 กรกฎาคม 2566 (นนทรัฐ ไผ่เจริญ/เบนาร์นิวส์) 

เมื่อสัปดาห์ก่อน พล.ต.อ. ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่จะควบคุมตัวทักษิณ ทันทีที่เดินทางถึงประเทศ และนำตัวไปยังศาลฎีกา

ทักษิณ อาจต้องถูกจำคุกเป็นเวลา 10 ปี จากการกระทำผิดใน 3 คดี อย่างไรก็ตาม วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย เปิดเผยว่า ทักษิณ สามารถขอพระราชทานอภัยโทษได้ตั้งแต่วันแรกที่รับโทษจำคุก

ถึงตลอดหลายปีที่ผ่านมา ทักษิณประกาศว่า ต้องการจะกลับบ้าน แต่นับจากการเดินทางออกนอกประเทศในเดือนสิงหาคม 2551 ทักษิณไม่เคยได้เหยียบมาตุภูมิอีก แม้ในยุคที่ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวของตนเองเป็นนายกรัฐมนตรีในปี 2554-2556 เมื่อ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำรัฐประหารในปี 2557 และดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเรื่อยมา ยิ่งทำให้ทักษิณ ไม่กล้าเดินทางกลับ เพราะไม่มั่นใจเรื่องความปลอดภัย และไม่มั่นใจว่าจะได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรมในเรื่องคดีความ

“ผมเป็นห่วงความปลอดภัยของนายกทักษิณเสมอ เพราะขณะนี้เรายังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้อย่าง 100 เปอร์เซ็นต์ ไม่อยากให้ท่านรีบกลับมาช่วงนี้ รอให้เพื่อไทยเป็นรัฐบาล สักปีหรือสองปีก่อน น่าจะดีกว่า” ภาคภูมิ เวียงน่าง ชาวจังหวัดแพร่ อายุ 40 ปี กล่าว

230731-th-politics-thaksin-return-pakpoom.jpg

ภาคภูมิ เวียงน่าง ชาวจังหวัดแพร่ วันที่ 27 กรกฎาคม 2566 (นนทรัฐ ไผ่เจริญ/เบนาร์นิวส์) 

ด้าน แซม แสนอินทร์ นักธุรกิจ อายุ 55 ปี ชาวจังหวัดสงขลา เชื่อว่า ทักษิณควรจะกลับมารับโทษตามกฎหมาย

“เขาเป็นคนไม่ดีอยู่แล้ว เขาทำประเทศชาติชาติเสียหายเยอะมาก ที่เขาโดนคดี โดนจำคุกหลายคดีเป็นเรื่องของการคอร์รัปชั่นทั้งนั้น แต่เขาสามารถกลับมาบ้านได้ในฐานะคนไทย แต่เขาต้องติดคุก แต่ตอนนี้ เขายังไม่ควรกลับมาเพราะว่าสถานการณ์การเมืองยังไม่นิ่ง ยังไม่ได้รัฐบาลใหม่” แซม กล่าว

การประกาศกลับประเทศครั้งแรกในรอบ 15 ปี ของนายทักษิณ เกิดขึ้นท่ามกลางความตึงเครียดของการจัดตั้งรัฐบาล ที่นำโดยพรรคก้าวไกล และเพื่อไทย กับพันธมิตรทั้งหมด 8 พรรค ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มี สส. 312 คน จาก สส. ทั้งหมด 500 คน ยืนยันว่าจะเสนอชื่อ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรี

แต่ตามกติกาของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ที่เขียนโดย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้อำนาจ สว. 250 คน ที่ถูกแต่งตั้งโดย คสช. ร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย ทำให้ในการเลือกนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม พิธา ซึ่งได้รับเสียงสนับสนุนจาก สส. และ สว. 324 เสียง ยังไม่สามารถเป็นนายกรัฐมนตรีได้ เพราะเสียงสนับสนุนไม่ถึง 375 เสียง ซึ่งเป็นเสียงกึ่งหนึ่งของที่ประชุมร่วมรัฐสภา 749 เสียง

เมื่อตั้งรัฐบาลไม่ได้ ก้าวไกลจึงส่งไม้ต่อการจัดตั้งรัฐบาลให้เพื่อไทย ในทันทีเพื่อไทยได้เชิญพรรคภูมิใจไทย, รวมไทยสร้างชาติ, ชาติพัฒนากล้า, พลังประชารัฐ และชาติไทยพัฒนา มาหารือ ณ ที่ทำการพรรค เพื่อหาแนวทางจัดตั้งรัฐบาล และหลังการพูดทั้ง 5 พรรคได้แสดงจุดยืนว่าไม่พร้อมร่วมรัฐบาลกับพรรคที่ต้องการแก้ไข ม.112 ซึ่งหมายถึงพรรคก้าวไกล สร้างความตึงเครียดระหว่างสองพรรค

แต่เดิม การเลือกนายกรัฐมนตรีของรัฐสภาครั้งที่ 3 ถูกกำหนดให้มีขึ้นในวันที่ 27 กรกฎาคม แต่ถูกเลื่อนออกไปก่อน เพื่อรอฟังการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ กรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินร้องให้วินิจฉัยว่า การที่รัฐสภาไม่ให้มีการเสนอชื่อ พิธาชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นครั้งที่ 2 ในวันที่ 19 กรกฎาคม เพราะเห็นว่าเป็นการเสนอญัตติซ้ำ เป็นการใช้อำนาจที่ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่

อย่างไรก็ตาม รัฐสภา ได้มีจดหมายข่าวระบุว่า ศาลรัฐธรรมนูญอาจมีคำวินิจฉัยเรื่องดังกล่าวในวันที่ 3 สิงหาคม และรัฐสภาอาจสามารถจัดประชุมเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีได้ในวันที่ 4 สิงหาคม 2566

ผู้ติดตามการเมืองเชื่อว่า การที่ทักษิณจะเดินทางกลับประเทศจะส่งผลต่อการจัดตั้งรัฐบาลโดยการนำของพรรคเพื่อไทย ขณะเดียวกัน ทักษิณ ก็อาจต้องเผชิญกับการต่อต้านจากฝ่ายผู้จงรักภักดี และผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกลบางส่วน โดยเชื่อว่า การเดินทางกลับครั้งนี้ อาจผลักให้ก้าวไกลต้องแยกตัวจากการร่วมรัฐบาล

230731-th-politics-thaksin-return-kritin.jpg

กฤติน ลิขิตปริญญา พนักงานบริษัทเอกชน จังหวัดสมุทรปราการ วันที่ 27 กรกฎาคม 2566 (นนทรัฐ ไผ่เจริญ/เบนาร์นิวส์) 

กฤติน ลิขิตปริญญา พนักงานบริษัทเอกชน อายุ 27 ปี จากจังหวัดสมุทรปราการ ชี้ว่า การเดินทางกลับประเทศของทักษิณ ไม่ใช่ชัยชนะของฝ่ายประชาธิปไตย

“ในอดีต ผมเชื่อว่า ถ้าอดีตนายกทักษิณ หรือผู้ลี้ภัยที่อยู่ในต่างประเทศได้กลับบ้าน อาจเป็นชัยชนะของฝ่ายประชาธิปไตย แต่ตอนนี้ เรากลับไม่รู้สึกแบบนั้น เพราะถึงทักษิณได้กลับบ้าน แต่เสียงของเราในการเลือกตั้งเหมือนจะไร้ความหมาย เราไม่ไดรัฐบาลอย่างที่เราต้องการ” กฤติน กล่าว

“ผมเชื่อว่า คุณทักษิณคือตัวละครสำคัญทางการเมือง การขยับแต่ละครั้งของแก หรือการถูกกระทำแต่ละครั้งก็สามารถขับเคลื่อนทิศทางทางการเมืองไทย การกลับมาครั้งนี้ก็เชื่อว่า จะส่งผลกระทบทางการเมืองไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง” กฤติน ระบุ

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง