ฮิวแมนไรท์วอทช์กระตุ้นไทยให้ออกกฎหมายรับรองสิทธิหลากหลายทางเพศ
2021.12.16
กรุงเทพฯ
ฮิวแมนไรท์วอทช์ กล่าวในการนำเสนอรายงานเรื่องเผยกฎหมายไทยไม่ใส่ใจความเท่าเทียมทางเพศ ทำให้ความเชื่อที่ว่าไทยเป็นดินแดนเปิดกว้างต่อคนข้ามเพศนั้นไม่จริง และเรียกร้องให้รัฐบาลไทยออกกฎหมายเพื่อรองรับอัตลักษณ์ทางเพศที่หลากหลายมากขึ้น
“ประเทศไทยไม่ใช่สวรรค์ของ LGBTQ” ณชเล บุญญาภิสมภาร นักรณรงค์เคลื่อนไหวข้ามเพศ เพื่อสิทธิคนข้ามเพศ กล่าวในการสัมมนาออนไลน์ที่จัดโดยฮิวแมนท์ไรท์วอทช์ (HRW) ที่มีขึ้นในวันพฤหัสบดีนี้ ซึ่งอาจจะตรงข้ามกับความเข้าใจของคนมากมายที่เห็นว่าประเทศไทยเปิดกว้าง ยอมรับให้คนข้ามเพศเข้ามามีบทบาทต่าง ๆ รวมทั้ง มีธุรกิจการผ่าตัดแปลงเพศขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชียอีกด้วย
ความคิดนของณชเล สอดคล้องที่รายงานการวิจัยของฮิวแมนไรท์วอทช์ ภายใต้ชื่อ “คนที่ไม่เข้ากับกรอบของสังคม”: ประเทศไทย” (“People Can’t Be Fit into Boxes”: Thailand’s Need for Legal Gender Recognition) ที่ระบุว่า การที่ไม่มีกฎหมายรับรองสิทธิของคนข้ามเพศ ทำให้คนเหล่านี้ไม่มีการคุ้มครองสิทธิในด้านต่าง ๆ และต้องเผชิญกับการเลือกปฏิบัติหรือการตีตราต่าง ๆ รวมไปถึงไม่สามารถเข้าถึงบริการหลากหลายแบบที่รัฐให้ หรือควรจะต้องมีสำหรับพวกเขา นักวิจัยในโครงการนี้ได้สัมภาษณ์คนข้ามเพศในประเทศไทยไม่น้อย และก็พบว่าพวกเขาถูกปฏิเสธไม่ให้รับบริการทางสังคมอย่างเช่น การศึกษา สุขภาพ รวมทั้งการจ้างงานด้วย
ณชเล ซึ่งเป็นหญิงข้ามเพศที่อาศัยอยู่ในสหรัฐฯ มานานปี ก่อนที่จะเดินทางกลับมาไทยและกลายเป็นนักเคลื่อนไหวเพื่อต่อสู้สิทธิความหลากหลายทางเพศ ได้รับเชิญให้ร่วมในการแถลงข่าวเพื่อเปิดตัวรายงานของฮิวแมนไรท์วอทช์ในวันนี้ด้วย เธอยกตัวอย่างว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ออกมาในวันที่ 4 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ที่บอกว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการแต่งงานที่อนุญาตให้เฉพาะคู่รักชายหญิงไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญนั้น แม้รัฐธรรมนูญเองจะบัญญัติว่าทุกคนนั้นเท่าเทียมกัน เป็นการแสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมความที่ไม่ยอมรับความหลากหลายของสังคมไทย ความหลากหลายทางเพศนั้นถูกกดทับด้วยโครงสร้างทางกฎหมายในปัจจุบันซึ่งจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนแปลง
ณชเล ยังได้กล่าวอีกว่าประเทศไทยจำเป็นจะต้องมีกฎหมายรับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพที่เป็นธรรมและมีความหมายกว้างขวาง
“กฎหมายรับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับสังคมไทย นักกิจกรรม LGBTQ ของไทยได้พยายามผลักดันกฎหมายนี้ออกมาไม่ต่ำกว่า 15 ปีแล้ว และมีหน่วยงานของรัฐพยายามผลักดันด้วย อย่างไรก็ตาม ร่างกฎหมายยังคงเป็นการรับรองเฉพาะคนที่ผ่านการแปลงเพศแล้วเท่านั้น ซึ่งเป็นแนวคิดที่ไม่เปิดกว้างนัก” ณชเล กล่าว
การเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิคนข้ามเพศของไทยได้เริ่มเข้มข้นมากขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะการต่อสู้ในแง่มุมของกฎหมาย นอกจากการส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเพื่อให้ได้สิทธิการสมรสเท่ากับชายหญิงแล้ว ก็ยังมีการนำเสนอร่าง พรบ. คู่ชีวิต ที่ให้สิทธิสำหรับคนสองคนแม้จะไม่ต่างเพศกันก็สามารถได้รับสิทธิทางกฎหมายต่าง ๆ ที่คล้ายคลึงกับการสมรส ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติร่าง พรบ.นี้ ไปเมื่อกลางปี 2563 แต่ก็ยังไม่ได้ผ่านออกมาเป็นกฎหมาย เพราะยังอยู่ในขั้นตอนการแก้ไข ร่าง พรบ. นี้เอง ก็ก่อให้เกิดการถกเถียงกันอย่างกว้างขวางในสังคมไทยว่าทำไมคนข้ามเพศถึงได้รับสิทธิที่น้อยกว่าคู่สมรสชายหญิง และก็ทำให้เกิดความเคลื่อนไหวทางสังคมที่มากขึ้นในเรื่องสิทธิของคนข้ามเพศเหล่านี้
“คนข้ามเพศในประเทศไทยต้องเผชิญกับการดูถูกดูแคลน การเลือกปฏิบัติ รวมทั้งถูกกันออกจากการเข้าถึงการศึกษารวมทั้งการจ้างงาน” ไคลย์ ไนท์ ซึ่งเป็นนักวิจัยอาวุโสด้านสิทธิคนข้ามเพศของฮิวแมนไรท์วอทช์ และเป็นหนึ่งในผู้เขียนรายงานฉบับนี้กล่าว และบอกด้วยว่า “รัฐบาลไทยควรจะต้องเร่งมือเพื่อให้กฎหมายรับรองสิทธิด้านต่าง ๆ ของคนข้ามเพศเกิดขึ้นในไทยให้ได้”
งานวิจัยชิ้นนี้ทำในช่วงระหว่างเดือนมกราคมถึงพฤษภาคมปีที่แล้ว โดยการสัมภาษณ์เชิงลึกกับคนข้ามเพศ 62 ราย ในกรุงเทพ ตรัง เชียงใหม่ และอุบลราชธานี นอกจากนี้ ก็ยังสัมภาษณ์คนทำงานด้านสังคม, นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญ และเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานที่ทำงานด้านสิทธิต่าง ๆ ด้วย ซึ่งได้พบว่าคนข้ามเพศที่เป็นกลุ่มตัวอย่างต้องเผชิญกับการรังแกในโนโรงเรียน ถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าทำงาน หรือหากจะเข้าทำงานก็ต้องแต่งกายให้ตรงกับเพศกำเนิด รวมทั้งการไปรับบริการการแพทย์ก็ได้รับบริการที่ตรงกับเพศกำเนิดเท่านั้น
ปุญชรัสมิ์ ตาเลิศ หรือแคนดี้ หญิงข้ามเพศที่ทำงานกับสมาคมฟ้าสีรุ้ง ซึ่งทำงานส่งเสริมสิทธิของคนข้ามเพศ กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า การที่คนข้ามเพศไม่สามารถเข้าถึงบริการของรัฐที่ตรงกับความต้องการของตนเอง หรือถูกกีดกันจากโอกาสการทำงาน ส่งผลให้คนข้ามเพศในบางกลุ่มต้องกลายเป็นคนชายขอบ ที่เข้าไม่ถึงโอกาสต่าง ๆ ในชีวิต และส่งผลถึงสถานะทางเศรษฐกิจไปด้วย
สิ่งที่พูดถึงในรายงานของ HRW นั้นเธอได้ประสบกับตัวเองมาตลอด ทั้งการรังแกทางเพศในโรงเรียน การถูกปฏิเสธโอกาสในการทำงานเพียงเพราะเธอมีเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด และเหตุการณ์ที่เกิดล่าสุดก็คือ เธอได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด จนทำให้รายได้หดหายไป และต้องการงานที่สองมาช่วยหนุนรายได้ ดังนั้น เธอจึงไปสมัครงานเป็นพนักงานต้อนรับในที่ทำงานแห่งหนึ่ง แต่ก็ได้รับคำตอบว่าทางบริษัทต้องการพนักงานที่เป็นหญิงแท้เท่านั้น
นอกจากนี้ แคนดี้ยังเป็นผู้ที่ร้องเรียนไปยังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติว่าถูกกีดกันไม่ให้บริจาคโลหิตจากศูนย์บริจาคโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย เมื่อปลายปี 2563 เพราะสภากาชาดไทยปฏิเสธไม่รับบริจาคโลหิตจากคนข้ามเพศ เนื่องจากเป็นกลุ่มเสี่ยงในการติดเชื้อเอชไอวี และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ
“ในแบบสอบถามก่อนการบริจาคมีคำถามว่า เคยมีเพศสัมพันธ์กับเพศเดียวกันหรือไม่ ซึ่งแคนดี้ก็ตอบไปตามความจริง พอตอบปุ๊บเขาก็บอกว่าแคนดี้ไม่สามารถบริจาคได้ เพราะเป็นกลุ่มเสี่ยงสูง อันนี้เป็นการตัดสิทธิกันโดยตีขลุมว่า การที่มีเพศสัมพันธ์กับเพศเดียวกันจะทำให้ติดเชื้อเอชไอวีได้ แต่ที่จริงแล้วเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกันทั้งในชายหญิงหรือในเพศเดียวกันต่างหากที่ทำให้ความเสี่ยงสูง แต่เขาคิดแค่ว่าเพศเดียวกันนี่แหละที่เป็นต้นเหตุ มันเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนอย่างมาก” แคนดี้กล่าว
นอกจากนี้ เธอก็ยังได้กล่าวอีกด้วยว่าความเข้าใจคลาดเคลื่อนที่มีต่อคนรักเพศเดียวกัน คนข้ามเพศ หรือคนที่แสดงออกทางเพศไม่ตรงกับเพศกำเนิดนั้น ทำให้เกิดความรังเกียจเดียดฉันท์ การเลือกปฏิบัติ ตลอดจนการมองข้ามและในรองรับสิทธิหลายประการ
“รัฐบาลไทยไม่เคยรู้เลยว่าคนข้ามเพศในเมืองไทยมีอยู่เท่าไร ในการสำรวจมโนประชากรก็ทำในพื้นฐานความคิดของหญิงกับชายเท่านั้น ซึ่งคนข้ามเพศมีอยู่จำนวนไม่น้อย และพวกเขาก็มีความต้องการที่จะถึงบริการของรัฐในแบบที่แตกต่างไปจากหญิงกับชาย ทั้งในด้านบริการสุขภาพ การแสดงออกตามสิทธิและการได้รับการยอมรับจากสังคมบนพื้นฐานของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” แคนดี้กล่าว
ด้าน ณชเล เองก็เรียกร้องให้รัฐบาลไทยใช้ความพยายามมากขึ้นในการเข้าถึงข้อมูล และความต้องการเข้าถึงบริการสาธารณะของรัฐในหมู่คนข้ามเพศ รวมทั้งมองตัวอย่างของประเทศอื่น ๆ ที่มีกฎหมายรองรับสิทธิของคนข้ามเพศเพื่อให้เปิดกว้างและยอมรับความหลากหลายต่าง ๆ ในสังคมให้มากขึ้นกว่าเดิม