สหรัฐฯ ปรับสถานการณ์ค้ามนุษย์ไทยจากระดับ 2 ลงระดับ 2 เฝ้าระวัง

ทีมข่าวเบนาร์นิวส์
2021.07.01
กรุงเทพฯ และวอชิงตัน
สหรัฐฯ ปรับสถานการณ์ค้ามนุษย์ไทยจากระดับ 2 ลงระดับ 2 เฝ้าระวัง แรงงานข้ามชาติตระเตรียมเรือประมงก่อนออกทะเลอีกครั้ง ที่ท่าเรือ จังหวัดสมุทรสาคร วันที่ 22 มกราคม 2561
รอยเตอร์

สหรัฐอเมริกาจัดระดับสถานการณ์การค้ามนุษย์ของไทย ในปี 2564 ให้อยู่ในกลุ่มที่ 2 เฝ้าระวัง (Tier-2 Watch List) เป็นการลดอันดับลงจากที่เคยถูกจัดอยู่ในกลุ่มที่ 2 (Tier-2) มาตลอด 3 ปีที่ผ่านมา โดยสหรัฐฯ มองว่า ไทยดำเนินการเแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ไม่เพียงพอ ขณะที่นักสิทธิแรงงานแนะนำให้รัฐบาลออกมาตรการที่ชัดเจนในการดูแลแรงงานข้ามชาติช่วงโควิด-19 เพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าว

กระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา ได้เผยแพร่ รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ (Trafficking in Persons Report หรือ TIP) ประจำปี 2564 ในวันพฤหัสบดีนี้ โดยระบุว่า แม้เห็นถึงความพยายามด้านต่าง ๆ เช่น การร่วมมือกับภาคประชาสังคมในการสืบสวนเรื่องการค้ามนุษย์ และปกป้องเหยี่อการค้ามนุษย์ หรือฝึกอบรม อัยการ และผู้พิพากษา เรื่องการพิจารณาคดีที่เกี่ยวข้องกับเหยื่อการค้ามนุษย์ แต่อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไทยยังดำเนินการได้ไม่สอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำของสหรัฐฯ

“รัฐบาลไม่ได้แสดงให้เห็นถึงความพยายามที่มากขึ้นในการต่อต้านการค้ามนุษย์ หากเทียบกับช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อน แม้จะนำผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 มาพิจารณาด้วยก็ตาม… ปี 2563 ไทยมีการสอบสวนคดีค้ามนุษย์ ดำเนินคดีกับผู้ต้องสงสัย และลงโทษผู้ค้ามนุษย์น้อยกว่าปี 2562 มีการทุจริตและการสมรู้ร่วมคิดของเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นอุปสรรคในการต่อต้านการค้ามนุษย์ ดังนั้น ประเทศไทยจึงถูกลดระดับเป็นระดับที่ 2 เฝ้าระวัง” รายงานดังกล่าว ระบุ

“รัฐบาลไทยรายงานว่า ในปี 2563 สามารถดำเนินคดีที่เกี่ยวกับการค้ามนุษย์ได้ 14 คดี ซึ่งนับว่าลดลงมาก เมื่อเทียบกับปี 2562 ซึ่งระบุว่า ได้ดำเนินคดีถึง 77 คดี โดยองค์กรภาคประชาสังคมมีความเห็นว่าการไม่ดำเนินการสอบสวน หรือฟ้องคดีค้ามนุษย์ส่วนใหญ่ เกิดจากความไม่เข้าใจของเจ้าหน้าที่รัฐเรื่องแรงงานบังคับ” ตอนหนึ่งของรายงาน

ทั้งนี้ ประเทศไทยเคยถูกจัดให้อยู่ในระดับที่ 2 ของรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ (Trafficking in Persons Report หรือ TIP) ในปี 2551 และ 2552 ก่อนถูกปรับให้อยู่ในระดับที่ 2 เฝ้าระวัง ช่วงปี 2553 – 2556 และถูกลดสู่ระดับที่ 3 ในปี 2557 หลังการรัฐประหาร ทำให้ไทยสูญเสียสิทธิประโยชน์ด้านการค้าบางอย่าง รัฐบาลจึงพยายามอย่างมากในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ กระทั่งสามารถกลับขึ้นสู่ระดับที่ 2 ในปี 2561

นอกจากนั้น รายงานระบุว่า รัฐบาลไทยลดความพยายามในการระบุตัวและปกป้องผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ โดยปี 2563 มีผู้เสียหายในคดีการค้ามนุษย์เพียง 230 ราย ซึ่งน้อยกว่าปี 2562 และปี 2561 ซึ่งมีผู้เสียหาย 868 ราย และ 631 รายตามลำดับ และไม่มีการรายงานการคัดกรองแรงงานข้ามชาติว่าผู้ใดเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ทั้งที่ปี 2562 รัฐบาลไทยระบุว่า มีแรงงานข้ามชาติที่เป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ถึง 7,156 ราย เพื่อการปรับปรุงสถานการณ์การค้ามนุษย์ในประเทศไทย รัฐบาลสหรัฐฯ แนะนำให้ รัฐบาลไทยปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์

“การปรับปรุงเพื่อให้สามารถดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องได้อย่างมีประสิทธิภาพ เอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐได้อย่างเหมาะสม สามารถคัดกรองเหยื่อ หรือผู้ได้รับผลกระทบจากการค้ามนุษย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ พัฒนาระบบดูแลเหยื่อให้เหยื่อสามารถกลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้เร็วขึ้น ลดการอยู่ในสถานพักพิงชั่วคราว และสร้างมาตรฐานในการดูแลแรงงานข้ามชาติ เพื่อให้แรงงานได้รับค่าจ้างอย่างสม่ำเสมอ ได้ถือครองใบอนุญาต และเอกสารสำคัญด้วยตนเอง รวมทั้งนายจ้างจำเป็นต้องรับผิดชอบค่าธรรมเนียมในการจัดหาแรงงานข้ามชาติด้วย” ตอนหนึ่งของคำแนะนำ ระบุ

การจัดประเทศไทยอยู่ในกลุ่มที่ 2 เฝ้าระวัง ของสหรัฐฯ ในครั้งนี้ ถือว่าผิดจากความคาดหวังของรัฐบาลไทยเอง ตามการเปิดเผยในเดือนเมษายน 2564 ของ น.ส. รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ระบุว่ารัฐบาลตั้งเป้าว่าจะได้รับการประเมินให้อยู่ในระดับเทียร์ 1 หมายถึง ประเทศที่ดำเนินการสอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำตามกฎหมายของสหรัฐอเมริกา ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศแรกในเอเชีย ที่ประกาศใช้แผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน

เอ็นจีโอแนะให้รัฐบาลมีนโยบายชัดเจนช่วงโควิด

ด้าน นายอดิศร เกิดมงคล จากเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (Migrant Working Group - MWG) ชี้ว่า มาตรการต่อแรงงานข้ามชาติที่ไม่ชัดเจนช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในไทยอาจเป็นช่องโหว่ให้เกิดการค้ามนุษย์ได้

“ช่วงโควิด-19 ที่ไทยขาดแคลนแรงงานข้ามชาติ รัฐจำเป็นต้องประกาศแนวทางปฏิบัติให้ชัดเจน เพื่อคลายความกังวลให้กับแรงงานข้ามชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยตอนนี้ และใช้โอกาสนี้นำแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาอย่างผิดกฎหมาย เข้าสู่ระบบ ซึ่งจะทำให้ ไม่มีนายจ้างปล่อยทิ้งแรงงานข้ามชาติ หรือเจ้าหน้าที่รัฐที่เอาเปรียบ หรือหาประโยชน์จากแรงงานข้ามชาติ” นายอดิศร กล่าวกับเบนาร์นิวส์

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง