กรมศิลปากรรับมอบ โกลเด้นบอย คืนจากอเมริกาแล้ว

นักโบราณคดี กระตุ้นพิพิธภัณฑ์ทั่วโลกคืนโบราณวัตถุให้ไทยเพิ่ม
นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2024.05.21
กรุงเทพฯ
กรมศิลปากรรับมอบ โกลเด้นบอย คืนจากอเมริกาแล้ว กรมศิลปากรรับมอบประติมากรรมรูปเคารพพระศิวะประทับยืน 'โกลเด้นบอย' คืนจากพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิทัน ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร วันที่ 21 พฤษภาคม 2567
เจมส์ วิลสัน-ไทยนิวส์พิกซ์/เบนาร์นิวส์

กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรมได้จัดพิธีรับมอบประติมากรรมรูปเคารพพระศิวะประทับยืน “โกลเด้นบอย” คืนจาก พิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิทัน (The Metropolitan Museum of Art) นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกาในวันอังคารนี้ ด้าน นักโบราณคดี เรียกร้องให้ พิพิธภัณฑ์ทั่วโลกคืนโบราณวัตถุให้ไทยเพิ่ม

“โบราณวัตถุที่ประเทศไทยได้รับมอบจาก พิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิทัน สหรัฐอเมริกา ถือเป็นสมบัติของประชาชนชาวไทยทุกคน เป็นหลักฐานที่จะแสดงให้เห็นถึงความเจริญรุ่งเรืองของดินแดนประเทศไทยในอดีตกว่าพันปีมาแล้ว เป็นมรดกที่สำคัญของศิลปวัฒนธรรมประเทศชาติ และแสดงออกถึงประวัติศาสตร์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยในช่วงเวลาดังกล่าว” น.ส. สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวในพิธีรับมอบ

โกลเด้นบอย คือ รูปสำริดพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 หรือ พระศิวะประทับยืน ที่สูง 1.29 เมตร ซึ่งศิลปะเขมรในคริสต์ศตวรรษที่ 11 ชิ้นนี้ ถูกค้นพบที่บ้านยางโปร่งสะเดา ต.ตาจง อ.ละหานทราย จ.บุรีรัมย์ ประเมินว่าหากมีการซื้อขายจะมีราคาสูงถึง 100 ล้านบาท

นอกจากโกลเด้นบอยแล้ว ประติมากรรมอีกชิ้นที่ The MET ส่งคืนให้ไทยคือ รูปหล่อสตรีชันเข่าพนมมือ สูง 43 เซนติเมตร ซึ่งเชื่อว่าเป็นศิลปะเขมร ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 11 ทำจากโลหะสำริด ประดับเงินและทองคำ โดยโบราณวัตถุทั้งสองชิ้นนี้จะถูกจัดแสดงให้ประชาชนเข้าชม ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ตั้งแต่วันพุธเป็นต้นไป

ด้าน นายจอห์น กาย (John Guy) ภัณฑารักษ์ ศิลปะเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิทันซึ่งเดินทางมาส่งมอบโบราณวัตถุด้วยตัวเองยืนยันว่า The MET จะยังประสานงานกับหน่วยงานของไทยเพื่อคืนโบราณวัตถุเพิ่มเติมในอนาคต

“การส่งคืนโบราณวัตถุให้กับประเทศไทยในวันนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการต่อยอดความร่วมมือจากการหารือร่วมกันอย่างต่อเนื่องของทั้งสองฝ่าย การส่งคืนโบราณวัตถุคืนให้กับประเทศไทยเกิดขึ้นหลังจากที่ The MET เริ่มการตรวจสอบแหล่งที่มาของทรัพย์สินทางวัฒนธรรม เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งความมุ่งมั่นนี้ขับเคลื่อนโดยพิพิธภัณฑ์ว่า The MET ให้ความสำคัญกับที่มาของโบราณวัตถุในครอบครอง” นายกาย กล่าว

“ประติมากรรมสำริดทั้งสองชิ้นนี้ เป็นผลงานชิ้นเอกหากจะเปรียบเทียบกับงานที่มีในแบบเดียวกัน เราหวังว่าจะได้เริ่มสานต่อการเจรจา และทำงานร่วมกับทีมงานในประเทศไทย เพื่อแสดงให้โลกได้เห็นถึงประวัติศาสตร์ และคุณค่าของศิลปวัฒนธรรมไทยต่อไป” นายกาย กล่าวเพิ่มเติม

ด้าน ดร. ทนงศักดิ์ หาญวงษ์ นักวิชาการกลุ่มสำนึก 300 องค์ ในฐานะนักโบราณคดีผู้มีส่วนสำคัญในการทวงคืนโกลเด้นบอย เปิดเผยว่า มีโบราณวัตถุของไทยอีกหลายร้อยชิ้นที่ไทยควรได้คืนจากต่างประเทศ

“ฝ่ายไทยดำเนินการทวงคืนมาโดยตลอด เมื่อ The MET มอบคืน เป็นสิ่งที่ดีเราได้โบราณวัตถุชิ้นนี้มาก่อน ซึ่งมันยังมีโบราณวัตถุอีกหลายชิ้นมากที่ไทยพยายามทวงคืนโดยเอกสาร แต่เขายังไม่ส่งให้ ตอนนี้ ที่เราทำเอกสารติดต่อคืนจากทั่วโลกมีร่วม 40 รายการ และมีชิ้นที่ยังไม่ได้ทำเอกสารอีกหลายรายการที่สถานทูตไทยไปเจรจาก่อน ร่วมร้อยชิ้นที่รอคืนอยู่” ดร. ทนงศักดิ์ กล่าว

ดร. ทนงศักดิ์ ระบุว่า ไทยมีการพยายามเจรจาทั้งอย่างเปิดเผย และทางลับกับ อังกฤษ ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย และอีกหลายประเทศเพื่อให้ได้รับการส่งคืน

เส้นทางกลับบ้านของโกลเด้นบอย

การส่งคืน โบราณวัตถุสองชิ้นในวันนี้ สืบเนื่องจาก The MET ได้ประกาศอย่างเป็นทางการเมื่อ 15 ธันวาคม 2566 ว่าจะส่งโบราณวัตถุสองชิ้น กลับคืนสู่ประเทศไทยซึ่งเป็นมาตุภูมิ เนื่องจาก ในปี 2562 อัยการสหรัฐฯ ได้ดำเนินคดีกับนายดักลาส แลตช์ฟอร์ด (Douglas A.J. Latchford) นักค้าโบราณวัตถุชาวอังกฤษ และนักค้าโบราณวัตถุคนอื่น ข้อหาซื้อขายวัตถุโบราณผิดกฎหมาย 

ของผิดกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับคดีจำนวนหนึ่งถูกจัดแสดงที่ The MET และเมื่อ The MET ตรวจสอบข้อมูลกับทางการไทยและกัมพูชา จึงตัดสินใจที่จะส่งคืนโบราณวัตถุ 14 ชิ้นให้กับกัมพูชา และ 2 ชิ้นให้กับไทย

ดร. ทนงศักดิ์ ระบุว่า นายแลตช์ฟอร์ด ซึ่งภายหลังได้สัญชาติและชื่อไทย ‘ภัคพงษ์ เกรียงศักดิ์’ เป็นหนึ่งในนักค้าโบราณวัตถุที่มีไทยเป็นจุดหมาย ปี 2518 เขาตั้งสำนักงานในบุรีรัมย์ ห่างจากบ้านยางโปร่งสะเดา 5 กิโลเมตร และเมื่อทราบข่าวการค้นพบโบราณสถานแห่งใหม่จึงเข้าไปจ้างให้ชาวบ้านขุดหาของมีค่าในราคาตารางเมตรละ 100 บาท และเมื่อพบโกลเด้นบอย จึงเสนอซื้อประติมากรรมชิ้นนี้ในราคา 1 ล้านบาท

The MET ระบุว่า ก่อนหน้านี้ โกลเด้นบอยถูกนำมาประมูลโดย บริษัท สปิงค์แอนด์ซัน (Spink and Son) ในปี 2531 และนายวอลเตอร์ อันเนนเบิร์ก (Walter Annenberg) อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำสหราชอาณาจักร เป็นผู้ชนะการประมูล ก่อนที่ในปี 2534 อันเนนเบิร์กจะมอบโกลเด้นบอย ให้กับ The MET พร้อมกับโบราณวัตถุชิ้นอื่นที่เขาสะสมมูลค่าร่วม 1 พันล้านดอลลาร์

ขณะที่ รูปหล่อสตรีชันเข่าพนมมือ สูง 43 เซนติเมตร ซึ่งเชื่อว่าเป็นศิลปะเขมร ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 11 สมัยเมืองพระนคร ทำจากโลหะสำริด ประดับเงินและทองคำ เคยอยู่ในความครอบครองของดอริส วีนเนอร์ (Doris Wiener) นักค้าวัตถุโบราณชาวอเมริกัน ก่อนที่จะถูกจัดแสดงใน The MET และถูกส่งคืนเช่นกัน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง