ชุมชนลุ่มน้ำโขงถูกบีบให้หาทางเอาตัวรอดจากหายนะแห่งพลาสติกด้วยตนเอง
2025.01.02
มรสุมเดือนมิถุนายนกำลังก่อตัวอยู่บนท้องฟ้าระหว่างที่ บุญรัตน์ ชัยแก้ว เหวี่ยงแหออกไปคลุมกลุ่มขยะที่ลอยเกลื่อนแม่น้ำโขงไปจนสุดลูกหูลูกตา กว่า 6 ครั้ง ที่เขาออกเรือข้ามแม่น้ำที่เต็มไปด้วยมลพิษบริเวณสามเหลี่ยมทองคำที่เชื่อมประเทศไทย ลาว และเมียนมาไว้ด้วยกัน แต่เขากลับตกได้พลาสติกมากกว่าปลาทุกครั้ง
ใต้ลงมาจากสามเหลี่ยมทองคำ ณ บริเวณใจกลางลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง เด็ก ๆ พากันแหวกว่ายท่ามกลางสายน้ำเศษพลาสติก ระหว่างที่เจ้าหน้าที่กำลังกำจัดขยะออกไปจากริมฝั่งแม่น้ำเมืองพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ในขณะที่ความพยายามในการกำจัดขยะรูปแบบเดียวกันกำลังดำเนินไปพร้อมกันในทะเลสาบเขมร หรือที่รู้จักกันในนาม “หัวใจแห่งลุ่มน้ำโขง”
ไล่ตามสายน้ำลงไปทางประเทศเวียดนาม ตรงจุดที่ลำน้ำโขงแตกย่อยเป็นสาขา เกิดเป็นเกาะแก่งและพื้นที่ชุ่มน้ำ เป็นดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ณ เมืองเกิ่นเทอ ริมลำน้ำสาขาของแม่น้ำโขง ชาวประมงรู้สึกโล่งใจที่ไม่ต้องอาศัยอยู่ในแม่น้ำที่ถูกโอบล้อมไปด้วยขยะพลาสติกอีกต่อไป
แม่น้ำโขงถือเป็นแหล่งปากท้องของชีวิตนับล้าน หล่อเลี้ยงชีวิตที่อาศัยอยู่ตลอดระยะทาง 4,300 กิโลเมตร (2,700 ไมล์) ตั้งแต่ต้นน้ำบริเวณที่ราบสูงทิเบต ผ่านทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก่อนที่จะไหลออกสู่ทะเลจีนใต้
ทว่า การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมของแม่น้ำโขงร่วมกันท่ามกลางความกว้างใหญ่ของแม่น้ำสายนี้กลับกลายเป็นจุดอ่อนสำคัญของการเกิดปัญหาขยะพลาสติก
แม่น้ำโขงเป็นหนึ่งในลำน้ำสายหลักทั่วโลกที่เป็นสายพานทิ้งสิ่งปฏิกูลลงสู่มหาสมุทร ขยะเหล่านี้ไม่ได้เป็นเพียงสิ่งสกปรกที่ทำลายภูมิทัศน์ แต่ยังเป็นภัยคุกคามต่อสิ่งมีชีวิตนับพันที่ต้องพึ่งพิงแม่น้ำสายนี้ ในขณะที่ปริมาณการบริโภคพลาสติกขนาดเล็กของมนุษย์ยังคงสร้างความกังวลด้านสุขภาพอย่างต่อเนื่อง
ประชาชนหลายคนหวังว่าสนธิสัญญาพลาสติกโลก (Global Plastic Treaty) จะสามารถบรรเทาปัญหาขยะพลาสติกล้นแม่น้ำได้ ทว่า การถกเถียงในประเด็นการผลิตพลาสติกและการใช้สารเคมีที่ยืดเยื้อส่งผลให้สนธิสัญญาดังกล่าวยังไม่ได้ถูกลงนามในช่วงต้นเดือนธันวาคมนี้ อีกทั้ง ผู้เจรจาต่อรองยังกำหนดการประชุมต่ออีก 6 ครั้ง เพื่อตัดสินข้อสรุปของสนธิสัญญาด้วยกันตามเวลาที่เหมาะสมในช่วงปีหน้า
ทว่า ถึงแม้สนธิสัญญาฉบับนี้จะได้รับการลงนามเรียบร้อยแล้ว อาจต้องใช้เวลาอีกหลายขวบปีกว่าที่ประชาชนแถบลุ่มแม่น้ำโขงจะได้รับการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม
ในขณะเดียวกัน บรรดาชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณริมแม่น้ำโขงเลือกที่จะไม่รอคอยความช่วยเหลือระดับโลก
ณ 4 จุดหลักที่เกิดปัญหาขยะพลาสติกในแม่น้ำโขง ได้แก่ อำเภอเชียงแสน ประเทศไทย, กรุงพนมเปญ, บริเวณโตนเลสาป ประเทศกัมพูชา, และเมืองเกิ่นเทอ ประเทศเวียดนาม ได้ปรากฏความพยายามในการแก้ปัญหาขยะพลาสติก และยังทำให้เห็นว่ามลพิษจากขยะพลาสติกเหล่านี้กำลังกระทบกับชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนที่ต้องพึ่งพาอาศัยแม่น้ำสายนี้มากเพียงใด
“ปัจจุบัน เราเสพติดพลาสติกมากกว่ายุคไหน ๆ ถ้าเทียบกับระดับความใหญ่โตของปัญหาแล้ว ถือว่าเราพยายามแก้น้อยมาก” ผศ.ดร. ปเนต มโนมัยวิบูลย์ ประจำมหาวิทยาลัยบูรพา ผู้เชี่ยวชาญด้านปัญหาขยะพลาสติกข้ามแดนออกความเห็น
ไทย เมียนมา ลาว สามเหลี่ยมทองคำแห่งลุ่มน้ำโขง
ตามลักษณะทางภูมิศาสตร์ ลุ่มแม่น้ำโขงตอนบนทั้งหมดไหลผ่านประเทศจีน หรือรู้จักกันในชื่อลุ่มแม่น้ำล้านช้าง สามเหลี่ยมทองคำถือเป็นประตูสู่ลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง
สายน้ำโขงที่ไหลคดเคี้ยวผ่านประเทศทั้ง 3 ประเทศ ได้รับการยอมรับในฐานะพรมแดนทางธรรมชาติระหว่างประเทศอย่างเป็นทางการ สะท้อนให้เห็นถึงประเด็นทางการเมืองที่เกี่ยวข้องกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่มีลักษณะข้ามพรมแดนของแม่น้ำโขง
ปุญญวีร์ ศรีสานเตี้ย ผู้จัดการปางช้าง กล่าวว่า ขยะมีหลายประเภท ทั้งถุงพลาสติก ขวด กระดาษห่ออาหาร ซึ่งหากช้างกินเข้าไป อาจส่งผลอันตรายต่อสุขภาพของมันได้
ผศ.ดร. ปเนต มโนมัยวิบูลย์ ให้ข้อมูลว่า “แม้แต่บรรพบุรุษ หรือรุ่นพ่อแม่ของเราก็ยังไม่เจอปัญหาขยะพลาสติกที่รุนแรงระดับนี้ แต่เราเป็นคนรุ่นแรกที่กำลังเผชิญอยู่” งานวิจัยเกี่ยวกับตัวอย่างขยะขนาดใหญ่ในบริเวณสามเหลี่ยมทองคำที่ผ่านมาของเขาพบว่า ร้อยละ 91 ของขยะเป็นพลาสติก ซึ่งปรากฏเป็นฉลากสินค้าจากประเทศเมียนมาร้อยละ 30 และราวร้อยละ 20 มีที่มาจากประเทศจีน
กัมพูชา หัวใจแห่งลุ่มน้ำโขง
หลังจากที่แม่น้ำโขงไหลผ่านประเทศเมียนมา ไทย และลาว เส้นทางน้ำก็มุ่งลงสู่ประเทศกัมพูชา กรุงพนมเปญ ตั้งอยู่ ณ จุดบรรจบของลำน้ำบาสักและลำน้ำโตนเลสาป โดยมีทะเลสาบเขมรตั้งอยู่ไกลออกไปทางด้านตะวันตกเฉียงเหนือกว่า 100 กิโลเมตร (60 ไมล์) หรือที่รู้จักกันในนาม “หัวใจแห่งลุ่มน้ำโขง” เนื่องจากบริเวณนี้มีชีพจรน้ำที่แตกต่างออกไปจากบริเวณอื่น
ตั้งแต่ช่วงเดือนพฤษภาคมถึงตุลาคม ปริมาณฝนจากฤดูมรสุมประจำปีที่ตกลงในลุ่มน้ำโขง ส่งผลให้เกิดน้ำหลากท่วมพื้นที่โดยรอบทะเลสาบเขมร จนทำให้ขนาดของทะเลสาบขยายตัวออกมากกว่าเดิมถึง 5 เท่า โดยน้ำจากแม่น้ำโขงไหลทวนเข้าไปยังทะเลสาบเขมร
ปรากฏการณ์ที่แรงน้ำสามารถเปลี่ยนแปลงทิศทางการไหลของแม่น้ำ ถือเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติของลำน้ำสายนี้เพียงสายเดียวในโลก โดยเมื่อระดับน้ำลดลงในช่วงฤดูแล้ง ทิศทางการไหลของแม่น้ำก็จะไหลย้อนกลับไปทางเดิมอีกครั้งหนึ่ง
ซเรย์ ทอค (Srey Toch) พนักงานเก็บขยะกล่าวกับนักเคลื่อนไหวว่า “หลายคนไม่รู้จักวิธีการทิ้งขยะที่ถูกต้อง พวกเขาเลยทิ้งมั่วไปทุกที่”
ซี สุภัล ผู้อำนวยการองค์กรแบมบูชูท (Bambooshoot) ซึ่งเป็นองค์กรเอกชนเพื่อสาธารณประโยชน์ที่ดูแลเรื่องการกำจัดขยะออกจากทะเลสาบเขมร กล่าวว่า “เราเห็นปัญหาขยะได้อย่างชัดเจนมาก เพราะทะเลสาบเขมรคือปลายทางของเมืองทุกเมือง แม่น้ำทุกสาย ดังนั้นขยะทุกรูปแบบจึงลอยมากองรวมกันที่นี่”
นับตั้งแต่เอียง สุภัลเลธ ก้าวขึ้นมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมของประเทศกัมพูชาเมื่อปีที่ผ่านมา เขายกการจัดการปัญหาขยะพลาสติกขึ้นมาเป็นวาระสำคัญ โดยเขาได้ปล่อยแคมเปญต่อต้านพลาสติกระดับชาติ และกล่าวสุนทรพจน์เมื่อเดือนกันยายนว่า “พลาสติกคือศัตรูอันดับหนึ่งของเรา ถ้าเราจำกัดมันออกไปได้สำเร็จ ชุมชนที่อยู่ทางลุ่มน้ำตอนล่าง เช่น ชาวบ้านในประเทศเวียดนามจะได้รับประโยชน์ รวมถึงพวกเราทุกคนด้วย”
เวียดนาม เมื่อลุ่มน้ำโขงบรรจบกับท้องทะเล
เมื่อแม่น้ำโขงไหลผ่านเมืองพนมเปญไปทางใต้ ปลายทางต่อมาคือชายแดนกัมพูชา-เวียดนาม จากนั้นจึงไหลผ่านตัวเมืองที่กำลังขยับขยายอย่างโฮจิมินห์ ซึ่งเป็นเมืองที่สายน้ำกระแสหลักที่แตกแขนงออกไปเป็นหลายลลำน้ำสาขา ผ่านพื้นที่ชุ่มน้ำ และเกาะแก่งต่าง ๆ เรียกรวมกันว่าดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง หรือที่รู้จักกันในนาม “ชามข้าว” แห่งประเทศเวียดนาม
เนื่องจากสายน้ำโขงพัดพาสารอาหารทางธรรมชาติมาตามเส้นทาง ส่งผลให้พื้นที่ทำนาในประเทศเวียดนามมีความอุดมสมบูรณ์และกลายเป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมข้าวที่มีมูลค่าสูงถึงหลายล้านดอลลาร์ ทว่า แหล่งปลูกข้าวหลายแหล่งกำลังเผชิญหน้ากับภัยคุกคามที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อขยะพลาสติกไหลมาในเส้นทางน้ำเดียวกันนี้
เมืองเกิ่นเทอ ซึ่งเป็นเมืองที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในบริเวณดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ปัจจุบันได้กลายเป็นศูนย์รวมขยะหลักของภูมิภาค
เหงียน คง ถ่วน นักวิจัยจากวิทยาลัยสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรทางธรรมชาติเกิ่นเทอกล่าวว่า “เรากำลังพยายามทำความเข้าใจกับระดับภาพรวมของปัญหา เราอาจจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับพลาสติกมากขึ้น แต่ยิ่งการลงมือแก้ปัญหาใช้เวลานานมากเท่าไหร่ ปัญหาก็จะใหญ่โตตามไปด้วย”
เขาให้ข้อมูลว่า บรรดาชาวนามักจะทิ้งกองปุ๋ยและขวดยาปราบศัตรูพืชไว้ตามมุมของผืนนาเสมอ เนื่องจากกลัวว่าการเผาจะทำให้ต้องสูดสารพิษเข้าร่างกาย ดังนั้นเมื่อฝนตก น้ำฝนจะชะกองขยะอันตรายเหล่านี้ลงในแม่น้ำลำคลอง ซึ่งสุดท้ายจะไหลลงกลับสู่ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง
“ผมกลัวเวลาที่ต้องกินปลา แต่ผมก็ต้องกิน” เขากล่าว พร้อมยักไหล่น้อย ๆ
รายงานฉบับนี้ได้รับการสนับสนุนเงินทุนจาก Dialogue Earth เป็นองค์กรอิสระไม่แสวงหากำไร รายงานและวิเคราะห์ด้านสิ่งแวดล้อม เรดิโอฟรีเอเชีย ยังคงควบคุมงานบรรณาธิการทั้งหมด