จำคุก ส.ต.ต. นรวิชญ์ 1 ปี 15 วัน คดีชนหมอกระต่าย

เจ้าหน้าที่ตำรวจทำผิดเสียเอง ควรได้รับโทษสูงกว่าบุคคลทั่วไป พ่อหมอกระต่ายกล่าว
นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2022.04.25
กรุงเทพฯ
จำคุก ส.ต.ต. นรวิชญ์ 1 ปี 15 วัน คดีชนหมอกระต่าย ส.ต.ต. นรวิชญ์ บัวดก เดินทางมาฟังคำพิพากษาศาลอาญา ในคดีขี่บิ๊กไบค์ชนหมอกระต่ายเสียชีวิต วันที่ 25 เมษายน 2565
Thai News Pix/เบนาร์นิวส์

ในวันจันทร์นี้ ศาลอาญาพิพากษาให้จำคุก ส.ต.ต. นรวิชญ์ บัวดก เป็นเวลา 1 ปี 15 วัน โดยไม่รอลงอาญา ตามความผิดในคดีขับขี่บิ๊กไบค์ชน พญ. หมอวราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล หรือหมอกระต่าย เสียชีวิตในใจกลางกรุงเทพ เมื่อเดือนมกราคม ที่ผ่านมา ขณะที่บิดาของหมอกระต่ายเห็นว่าบทลงโทษต่ำไป  

นายณัฐพล ชิณะวงศ์ ทนายความของครอบครัว พญ. วราลัคน์ เปิดเผยหลังฟังคำพิพากษาต่อสื่อมวลชนว่า ศาลตัดสินว่า ส.ต.ต. นรวิชญ์ มีความผิดจริง หลังเจ้าตัวรับสารภาพ

“ตัดสินให้จำคุกจำเลย 1 ปี 15 วัน ปรับรวมกันแล้ว 4 พันบาท แล้วก็ให้เพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ของทางจำเลย ไม่มีเงื่อนไข คือเป็นการพิพากษาลงโทษโดยไม่รอลงอาญา ไม่รอการกำหนดโทษ” นายณัฐพล กล่าว

“ศาลมองว่าเป็นการขับรถไวในเขตชุมชน ซึ่งมีสถานพยาบาล เหตุเกิดตรงทางม้าลาย ศาลใช้คำว่าจำเลยเพิกเฉยต่อความปลอดภัย ต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้อื่น ซึ่งผมคิดว่า ผมเห็นพ้องด้วยในผลนี้ที่ศาลได้คำนึงถึงว่าการกระทำของจำเลยเป็นเรื่องร้ายแรง” นายณัฐพล กล่าวเพิ่มเติม

อย่างไรก็ตาม นายแพทยอนิรุทธ์ สุภวัตรจริยากุล กล่าวแสดงความผิดหวังในบทลงโทษที่ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น

“เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจที่รู้กฎหมายแล้วทำผิดเสียเอง ก็น่าจะได้รับโทษที่สูงกว่าบรรทัดฐานของบุคคลทั่วไป” นายแพทยอนิรุทธ์ กล่าวกับผู้สื่อข่าว

ในคดีนี้ พนักงานอัยการสำนักงานคดีอาญา 3 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องคดี อ. 399/2565 ที่ ส.ต.ต.นรวิชญ์ เป็นจำเลย ใน 9 ข้อหาประกอบด้วย 1. นำรถที่มิได้ติดแผ่นป้ายเลขทะเบียนมาใช้ 2. ฝ่าฝืนใช้รถที่ไม่ได้เสียภาษีประจำปี 3. ใช้รถที่ไม่ได้จัดให้มีการประกันความเสียหายสำหรับผู้ประสบภัย 4. นำรถไม่สมบูรณ์มาขับ (ไม่มีกระจกมองข้าง) 5. ขับรถไม่ชิดขอบทางด้านซ้าย 6. ขับรถจักรยานยนต์เร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด 7. ขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยหรือความเดือดร้อนของผู้อื่น 8. ขับรถโดยไม่ปฏิบัติตามเครื่องหมายบนพื้นทาง และ 9. ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้เฉี่ยวชนผู้อื่นถึงแก่ความตาย

ทั้งนี้ สำหรับครอบครัวของ พญ. วราลัคน์ ไม่ได้เดินทางมาฟังคำพิพากษาในวันนี้ โดยส่งนายณัฐพล เป็นตัวแทนในการฟัง

นายณัฐพล กล่าวถึงคดีแพ่งว่า ได้ยื่นฟ้องไปแล้ว และคดีอยู่ระหว่างการพิจารณของศาล ศาลได้เลื่อนคดีไปวันที่ 8 สิงหาคม เพราะทางจำเลยขอขยายระยะเวลายื่นคำให้การ ซึ่งในวันนั้น จะเป็นการนัดชี้สองสถาน คือ วันที่ศาลจะกำหนดข้อพิพาทในคดี

ด้าน ส.ต.ต. นรวิชญ์ ซึ่งก่อนหน้านี้ ได้รับการประกันตัวระหว่างการพิจารณาคดีด้วยวงเงิน 5 หมื่นบาท เดินทางมาฟังคำพิพากษาด้วยตัวเอง พร้อมกับทนายความ แต่ปฏิเสธที่จะตอบคำถามสื่อมวลชน

“เขาก็รู้สึกเสียใจ นรวิชญ์ยอมรับและสารภาพมาตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว ตั้งแต่ชั้นสอบสวน ถึงชั้นพนักงานอัยการ และศาล” นายสนทยา น้อยเจริญ ทนายความของ ส.ต.ต. นรวิชญ์เปิดเผยกับสื่อมวลชน

ภายหลังศาลอาญาอ่านคำพิพากษา บิดาและผู้บังคับบัญชาของ ส.ต.ต. นรวิชญ์ ได้ยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์ โดยใช้ตำแหน่งราชการเป็นหลักทรัพย์ โดยศาลอาญาพิจารณาแล้วอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยระหว่างอุทธรณ์ ตีราคาประกัน 200,000 บาท

คดีนี้ สืบเนื่องจากช่วงบ่ายของ วันที่ 21 มกราคม 2565 ส.ต.ต. นรวิชญ์ ได้ขี่จักรยานยนต์บิ๊กไบค์พุ่งชน พญ. วราลัคน์ ขณะกำลังข้ามทางม้าลาย หน้าโรงพยาบาลสถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์ เขตพญาไท จนทำให้ร่างของ พญ. วราลัคน์ กระเด็นไปไกลกว่า 10 เมตร และเสียชีวิตในเวลาต่อมา โดยจากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เชื่อว่ารถจักรยานยนต์คันดังกล่าวใช้ความเร็วระหว่าง 108-128 กิโลเมตรต่อชั่วโมงขณะที่ชน

ต่อมาเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2565 พนักงานสอบสวนได้ส่งฟ้อง คดีของ ส.ต.ต. นรวิชญ์ ต่อพนักงานอัยการใน 9 ข้อหา และล่าสุดอัยการได้ยื่นฟ้องต่อศาล กระทั่งศาลมีคำพิพากษาในวันจันทร์นี้

นอกจากคดีอาญาที่มีคำพิพากษาไปแล้ว ครอบครัวของ พญ. วราลัคน์ ยังได้ยื่นฟ้องคดีแพ่งต่อ ส.ต.ต. นรวิชญ์ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายเป็นเงิน 72 ล้านบาท ซึ่งศาลมีนัดอีกครั้งในเดือนสิงหาคม 2565

นอกจากนั้น ยังได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง เรียกร้องค่าเสียหายจำนวนเท่ากัน จากกรุงเทพมหานคร แต่ศาลยังไม่ได้มีการกำหนดนัดในคดีนี้

หลังเกิดเหตุ กรุงเทพฯ ได้ให้เจ้าหน้าที่มาปรับปรุงทางม้าลายบริเวณดังกล่าว ด้วยการทาสีแดงรอบทางม้าลาย และปรับการควบคุมความเร็วจากเดิม 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมงให้เหลือ 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

ทั้งนี้ ไทยถือเป็นประเทศที่มีอุบัติเหตุบนท้องถนนสูงที่สุดประเทศหนึ่งของโลก โดยรายงานสถานการณ์ความปลอดภัยบนท้องถนน เมื่อปี 2561 ขององค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า ไทยมีอัตราการเสียชีวิตบนท้องถนนสูงที่สุดในเอเชีย ด้วยสถิติการเสียชีวิต 32.7 คน ต่อประชากร 1 แสนคน

ในทุกปี ประเทศไทยมีคนเสียชีวิตบนท้องถนนถึงกว่า 2 หมื่นคน ซึ่งใกล้เคียงกับตัวเลขผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 WHO ยังประเมินว่า อุบัติเหตุบนท้องถนนในไทยเฉพาะปี 2562 ปีเดียวมีมูลค่าถึง 5 แสนล้านบาท ซึ่งเทียบเท่ากับ 3 เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP)

“มันเป็นเรื่องของความสูญเสียที่ไม่มีอะไรจะมาทดแทนได้ ไม่ว่าจำนวนเงินจะมากจะน้อย ทดแทนกันไม่ได้ อันนี้เป็นการคิดในเรื่องของการสูญเสียเบื้องต้นเท่านั้นเอง ส่วนการเยียวยาภาวะจิตใจ มันประเมินกันไม่ได้” นพ. อนิรุทธ์ สุภวัตรจริยากุล บิดาของ พญ. วราลัคน์ กล่าวหลังจากยื่นฟ้องต่อศาลเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2565

Thai News Pix และวิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง