เจ้าหน้าที่ช่วยเหลือโรฮิงญา 59 คน พบถูกทิ้งไว้บนเกาะดง น่านน้ำอันดามัน
2022.06.06
ปัตตานี และกรุงเทพฯ
พล.อ. สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ยืนยันกับสื่อมวลชนในวันจันทร์นี้ว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจจะสืบสวนว่า มีเจ้าหน้าที่รัฐบาลไทยเกี่ยวข้องกับการนำพาชาวโรฮิงญา 59 คน รวมทั้งเด็กและผู้หญิง ที่ถูกทิ้งไว้บนเกาะดง ในน่านน้ำทะเลอันดามัน ขณะที่เบื้องต้น พนักงานสอบสวนยังไม่พบความเชื่อมโยงดังกล่าว
เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา แหล่งข่าวชาวบ้านได้แจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบว่า พบชาวโรฮิงญากลุ่มหนึ่งถูกทิ้งให้อดอยากอยู่บนเกาะดง ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกของเกาะหลีเป๊ะ ประมาณ 8 ไมล์ และอยู่ห่างจากฝั่ง อ.เมืองสตูล ประมาณ 80 ไมล์ ในพื้นที่หมู่ที่ 8 ต.เกาะสาหร่าย อ.เมืองสตูล
“ดำเนินการตามขั้นตอนอย่างชัดเจนไว้แล้ว เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ต้องสืบสวนสอบสวนให้ได้ข้อเท็จจริง จะต้องดูว่าค้ามนุษย์หรือไม่ ถ้าไม่ใช่ค้ามนุษย์ก็เป็นผู้อพยพหลบหนีเข้าเมืองก็เป็นอีกกระบวนการนึง... สิ่งสำคัญที่สุดที่เราต้องทำสองเรื่องคือ เราดำเนินการตามกฎหมายระหว่างประเทศ กับเราดำเนินการเรื่องสิทธิมนุษยชน” พล.อ. สุพจน์ ตอบสื่อมวลชนเมื่อถูกถามว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐบาลไทยมีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำพาชาวโรฮิงญาหรือไม่
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ได้นำตัวชาวโรฮิงญาทั้งหมดไปควบคุมไว้ที่ค่าย ตชด. ในจังหวัดสตูล และสอบสวนเพื่อคัดแยกว่า มีใครที่ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ และใครเป็นผู้เข้าเมืองผิดกฎหมาย โดยมีชาวโรฮิงญาที่ได้รับบัตรคนไร้สัญชาติรับหน้าที่เป็นล่ามแปลภาษา ซึ่งสองกลุ่มนี้จะได้รับการปฏิบัติต่างกัน นอกจากนั้น เจ้าหน้าที่ได้สอบสวนเพิ่มเติมว่ามีเจ้าหน้าที่ไทยเกี่ยวข้องกับการนำพาชาวโรฮิงญากลุ่มนี้หลบหนีเข้าเมืองหรือไม่
หลังจากการควบคุมตัวชาวโรฮิงญา พล.ต.ท. สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผู้ช่วย ผบ.ตร.) ได้เดินทางไปยังจังหวัดสตูล และเปิดเผยในวันอาทิตย์ว่า จากสอบสวนเบื้องต้นพบว่าชาวโรฮิงญา 59 คน ที่ถูกปล่อยทิ้งอยู่บนเกาะดง (เกาะบูตัง) นั้นได้เดินทางมาจากประเทศเมียนมา โดยก่อนหน้านี้ มีเรือของขบวนการเดียวกัน 2 ลำ ถูกจับกุมที่ประเทศมาเลเซีย ทำให้คนขับเรือลำที่ 3 กลัวความผิด จึงได้ปล่อยคนบนเรือทั้งหมดทิ้งไว้ที่เกาะดัง แล้วหนีไป
“พวกเขาเดินทางมาจากพม่าเพื่อจะไปบังคลาเทศ แต่เข้าบังคลาเทศไม่ได้ ก็เลยหันกลับจะเข้ามาเลเซีย พอเข้ามาเลเซียก็โดนทางการมาเลเซียจับกุม เรือ 2 ลำแรกมี 30 กว่าคน กับ 100 กว่าคน เรือลำที่ 3 เมื่อทราบว่าเรือ 2 ลำแรกถูกจับกุม ก็เกิดความกลัว ก็เลยเอาลูกเรือทั้งหมดไปทิ้งไว้บนเกาะบูตัง หรือเกาะดง ทั้งหมดมี 59 คน จังหวัดสตูลก็ร่วมกับสหวิชาชีพทั้งหมด ดำเนินการคัดแยกทั้งหมดเบื้องต้น ว่าที่มาที่ไปเขามายังไง และตรวจสุขอนามัย” พล.ต.ท. สุรเชษฐ์ กล่าว
“ขณะนี้ ยังไม่มีข้อมูลว่าเกี่ยวพันกับคนไทยหรือไม่ แต่ว่ายังไม่ทิ้งประเด็นเหล่านี้ ต้องหาข้อมูลความเชื่อมโยง… ในขั้นตอนหลังจากมีการคัดแยกเหยื่อแล้ว หากเป็นเหยื่อค้ามนุษย์เราก็จะช่วยเหลือ และไล่ตรวจสอบว่ามีใครเป็นขบวนการนายหน้าบ้าง ใครเป็นคนจัดหาเรือ จัดหาน้ำท่า” พล.ต.ท. สุรเชษฐ์ กล่าวเพิ่มเติม
เบนาร์นิวส์ ไม่สามารถติดต่อขอรายละเอียดเพิ่มเติมจาก พล.ต.ท. สุรเชษฐ์ ได้ในวันจันทร์นี้
ด้านเอ็นจีโอรายหนึ่ง กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า กลุ่มที่จัดว่าเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์จะได้การดูแลที่สถานคุ้มครองสวัสดิภาพผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ เช่น ที่บ้านศรีสุราษฎร์ และที่อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา เป็นต้น ขณะที่ผู้เข้าเมืองผิดกฎหมายจะถูกผลักดันกลับตามประเทศต่อไป
ด้าน เจ้าหน้าที่ทหารในพื้นที่ (สงวนชื่อและนามสกุล) เปิดเผยว่า ในห้วงเวลาเร็ว ๆ นี้ มีการจับกุมแรงงานผิดกฎหมายได้ต่อเนื่องและมีจำนวนมากขึ้น ส่วนมากเป็นชาวเมียนมา และมีชาวโรฮิงญาปะปน ส่วนชาวโรฮิงญากลุ่มที่ได้รับการช่วยเหลือกลุ่มนี้ ต้องจ่ายค่าผู้นำพาข้ามประเทศคนละ 5 พันริงกิต หรือประมาณ 3.5 หมื่นบาท
ด้าน นายอิสมาแอล หมัดอาด้ำ ประธานมูลนิธิคนช่วยคน และสภาเครือข่ายช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม สำนักจุฬาราชมนตรี เปิดเผยว่า ขบวนการค้ามนุษย์ในประเทศไทยยังคงดำเนินการอยู่โดยตลอด
“ขบวนการค้ามนุษย์แค่แผ่ว ไม่ได้สูญพันธุ์ ซึ่งสอดคล้องกับบทสัมภาษณ์ของหน่วยความมั่นคงที่สะท้อนถึง การกวาดล้างจับกุมขบวนการค้ามนุษย์ที่รอยตะเข็บชายแดนภาคใต้ยังดำเนินอยู่” นายอิสมาแอล กล่าว
ประเทศไทยตกเป็นข่าวในทางลบไปทั่วโลก หลังจากที่เจ้าหน้าที่พบหลุมศพชาวโรฮิงญากว่า 30 ศพ บริเวณบนเทือกเขาแก้ว ในพื้นที่ ต.ปาดังเบซาร์ อ.สะเดา จ.สงขลา เมื่อปี 2558 นำไปสู่การดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งเจ้าหน้าที่ทหาร, ตำรวจ, นักการเมืองท้องถิ่น และประชาชนธรรมดา ทั้งสิ้นกว่า 100 ราย
เมื่อเดือนเมษายน 2565 สำนักข่าวอัลจาซีรา (Al Jazeera) ได้เผยแพร่สารคดีข่าวชื่อ “Thailand’s Fearless Cop” ซึ่งได้นำเสนอเรื่องราวของ พล.ต.ต. ปวีณ พงศ์สิรินทร์ อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 และหัวหน้าทีมสืบสวนคดีค้ามนุษย์ในคดีดังกล่าว ที่ระบุว่า เขาจำเป็นต้องลี้ภัยไปยังประเทศออสเตรเลียเพราะกลัวถูกแก้แค้น เนื่องจากการทำคดีค้ามนุษย์ซึ่งเกี่ยวข้องกับตำรวจ-ทหารระดับสูง เช่น พล.ท. มนัส คงแป้น อดีด ผอ.กอ.รมน. ภาค 4 หนึ่งในจำเลยสำคัญในคดี
พล.ต.ต. ปวีณ ได้กล่าวพาดพิงถึง พล.อ. ประวิตร, พล.ต.อ. จักรทิพย์ ชัยจินดา อดีต ผบ.ตร., พล.อ. ไพบูลย์ คุ้มฉายา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ว่าได้รับรู้ในเรื่องความไม่โปร่งใสของเจ้าหน้าที่แต่ไม่ได้แก้ไขปัญหา
เมื่อเดือนพฤษภาคม 2565 พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้แถลงผลการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ของรัฐบาล โดยในปี 2564 เจ้าหน้าที่สามารถจับกุมคดีค้ามนุษย์เพิ่มมากขึ้นเป็น 188 คดี จากจำนวน 133 คดี ในปี 2563