ททบ. 5 ป้องความร่วมมือข่าวสารกับรัสเซีย-จีน-อิหร่าน

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2022.03.24
กรุงเทพฯ
ททบ. 5 ป้องความร่วมมือข่าวสารกับรัสเซีย-จีน-อิหร่าน สถานทูตยูเครน ในประเทศไทย ขณะมีงานแถลงข่าวเรื่องการรุกรานยูเครนของรัสเซีย โดยพลเรือนชาวยูเครนสนทนาสดผ่านวิดีโอคอล จากเมืองจีโทมีร์ ในยูเครน จัดขึ้นที่โรงแรมคอนราด กรุงเทพฯ วันที่ 18 มีนาคม 2565
เอเอฟพี

ผู้อำนวยการสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 (ททบ. 5) ได้ชี้แจงในวันพฤหัสบดีนี้ ว่า ททบ. 5 ดำเนินความร่วมมือแลกเปลี่ยนข้อมูลกับรัฐบาลรัสเซีย-จีน-อิหร่าน เพื่อเป็นการเสนอข้อมูลข่าวสารให้ครอบคลุมจากทุกฝ่าย หลังจากที่โดนสังคมวิจารณ์ว่าเป็นความร่วมมือกับรัฐบาลเผด็จการ

และในวันเดียวกันนี้ พล.อ. รังษี กิติญาณทรัพย์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ททบ. 5 ยังได้เข้าพบอุปทูตยูเครน ประจำประเทศไทยเพื่อชี้แจงว่าจะนำเสนอข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับสงครามยูเครน ซึ่งรัสเซียเป็นฝ่ายเปิดการรุกรานมาเป็นเวลาหนึ่งเดือน  

การชี้แจงครั้งนี้ สืบเนื่องจากเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา สถานเอกอัครราชทูตรัสเซียประจำประเทศไทย ได้เปิดเผยว่าได้หารือกับ ททบ. 5 เพื่อเสริมความร่วมมือด้านข้อมูลข่าวสาร ซึ่งก่อนหน้านี้ในเดือนพฤศจิกายน 2564 ททบ. 5 ได้เปิดเผยว่ามีความร่วมมือกับ China Media Group (CMG) ซึ่งเป็นสำนักข่าวของประเทศจีน และต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ได้ตกลงร่วมมือกับ Islamic Republic of Iran Broadcasting (IRIB) สำนักข่าวของอิหร่าน ซึ่งทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในด้านลบต่อตัว ททบ. 5 ด้วยร่วมมือกับสำนักข่าวจากประเทศที่มักถูกโจมตีด้านการขาดสิทธิมนุษยชน และเสรีภาพ

พล.อ. รังษี เปิดเผยต่อสื่อมวลชนในวันนี้ว่า การร่วมมือด้านข่าวสารกับประเทศต่าง ๆ เป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลโดยตรงจากรัฐบาลประเทศนั้น ๆ และไม่ใช่การแทรกแซงทางการต่างประเทศ

“การประสานงานกับทางฝั่งรัสเซีย จีน อิหร่าน ยูเครนครั้งนี้ เขาก็ไม่ได้คิดตังค์ผมเลย สิ่งที่คนไทยได้คือ ฟังข่าวสองด้าน ช่อง 5 มีหน้าที่ในการนำข้อมูลข่าวสารมาให้ประชาชน ผมเชื่อว่าข้อมูลเหล่านี้เป็นข้อมูลที่สำคัญที่คนไทยควรรับไปพิจารณา… ผมไม่นิยมทำข่าวแบบ propaganda (ประชาสัมพันธ์ชวนเชื่อ) เพราะมันไม่มีประโยชน์ เราเป็นสื่อ ดังนั้นจรรยาบรรณคือนำข้อเท็จจริงที่นำเสนอ” พล.อ. รังษี กล่าว และระบุว่าปกติต้องจ่ายซื้อข่าวจากรอยเตอร์ปีละสองล้านบาท

“สิ่งที่ผมทำอยู่ยังไม่เห็นว่าทำอะไรที่มันล้ำเส้น เพราะผมไม่ได้เชียร์สหรัฐฯ หรือ จีน แต่เขามีข้อมูลและส่งมา เขาให้ผมฟรี คิดว่าจีนกับรัสเซีย เขาจะมา propaganda เหรอ คิดว่าเขาคงไม่ได้โง่ขนาดนั้น” พล.อ. รังษี กล่าวเพิ่มเติม

ก่อนหน้านี้ ททบ. 5 ถูกวิจารณ์อย่างหนักจากการที่ รายการเล่าข่าวข้น ดำเนินรายการโดย นายกนก รัตน์วงศ์สกุล และนายธีระ ธัญไพบูลย์ เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 ได้นำเสนอวิดีโอซึ่งเป็นข้อมูลที่บิดเบือนเกี่ยวกับการสู้รบระหว่างรัสเซีย-ยูเครน แม้ต่อมาวิดีโอรายการดังกล่าวได้ถูกลบออกไปจากอินเทอร์เน็ต แต่การที่ ททบ. 5 ได้ทำความร่วมมือด้านข้อมูลข่าวสารกับรัสเซีย ทำให้ยิ่งถูกโจมตีอย่างหนัก

ด้วยแรงกดดันดังกล่าว ททบ. 5 ได้ตัดสินใจเข้าพบเพื่อหารือกับ นายโอเล็กซานดร์ ลีซัก อุปทูตยูเครน ประจำประเทศไทย ในช่วงเช้าวันนี้

“ผมขอบคุณ ช่อง 5 ที่ให้โอกาสในการหารือร่วมกันวันนี้ เราซาบซึ้งใจมากที่ ช่อง 5 ตกลงที่จะนำเสนอข้อมูลจริงของสงครามและปฏิบัติการทางทหารในยูเครน เราเฝ้าคอยการเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้อง จากข้อความของพวกเรา ในประเทศไทย และในสื่อไทย ซึ่งจะช่วยให้การดำเนินการของเราประสบความสำเร็จ และข้อมูลที่เป็นความจริงได้ถูกนำเผยแพร่ต่อประชาชน” นายโอเล็กซานดร์ กล่าวกับ ททบ. 5 ระหว่างการเข้าพบ

อย่างไรก็ตาม พล.อ. รังษี ไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดการหารือร่วมกับ นายโอเล็กซานดร์ ด้วยตัวเอง

ในวันเดียวกันนี้ สื่อมวลชนได้พยายามสอบถามความคิดเห็นของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ต่อเรื่องความร่วมมือของ ททบ. 5 กับรัสเซีย แต่ พล.อ. ประยุทธ์ ได้ปฏิเสธที่จะตอบคำถามดังกล่าว

รัสเซียเริ่มปฏิบัติการทางทหารในยูเครน

เมื่อหนึ่งเดือนที่ผ่านมา นายวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานธิบดีรัสเซีย ได้ประกาศปฏิบัติการทางทหารในยูเครน ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 โดยมีการนำทหารและอาวุธสงครามเข้าโจมตีหลายเมืองในยูเครน ซึ่งชนวนของการสู้รบครั้งนี้ สื่อมวลชนและนักวิเคราะห์ทั่วโลกเชื่อว่า เกิดจากการที่ยูเครนพยายามใกล้ชิดองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (North Atlantic Treaty Organization - NATO) ซึ่งรัสเซียเห็นว่า สถานการณ์ดังกล่าวเป็นภัยคุกคามต่อรัสเซีย และเมื่อยูเครนไม่ยอมเปลี่ยนท่าที รัสเซียจึงเริ่มโจมตี จนทำให้ทั้งสองฝ่ายมีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก

หลังจากที่รัสเซียได้นำกำลังทหารบุกเข้าไปในยูเครน นานาชาติได้ใช้มาตรการคว่ำบาตรรูปแบบต่าง ๆ เช่น การหยุดซื้อเชื้อเพลิงจากรัสเซีย, ยกเลิกเที่ยวบินเข้าไปในรัสเซีย รวมถึงยุติการทำธุรกรรมทางการเงินกับรัสเซีย และมีการแถลงการณ์ประณามการกระทำของรัสเซีย อย่างไรก็ตาม จนถึงปัจจุบัน รัสเซียยังคงใช้กำลังทหารกับยูเครน แม้จะมีความพยายามให้ยุติการสู้รบอย่างต่อเนื่องก็ตาม

ในการนำเสนอข่าวการสู้รบนั้น สำนักข่าวต่างประเทศจำนวนมากนำเสนอข้อมูลในมุมมองที่เห็นว่า รัสเซียเป็นผู้โจมตีใส่ยูเครน อย่างไรก็ตาม รัสเซียพยายามให้ข้อมูลว่ารัสเซียมีความจำเป็นที่ต้องดำเนินการทางทหารกับยูเครน เพื่อปกป้องคนเชื้อสายรัสเซียในยูเครน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง