สภาผ่าน พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม วาระสาม

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2024.03.27
กรุงเทพฯ
สภาผ่าน พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม วาระสาม กลุ่มชุมชนผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศชูป้ายสนับสนุนนโยบายสมรสเท่าเทียม ระหว่างเดินขบวนไพรด์ ในกรุงเทพฯ วันที่ 4 มิถุนายน 2566
เอเอฟพี

สภาผู้แทนราษฎร (สส.) มีมติผ่านร่าง พ.ร.บ. แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) หรือ ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม วาระที่สาม ซึ่งจะทำให้คนทุกเพศสามารถสมรสกันได้ และมีกฎหมายรองรับ ด้านนักสิทธิฯ หวังว่ากฎหมายฉบับนี้จะจุดประกายให้กับประเทศอื่น ๆ ในเอเชีย

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานฯ สรุปผลการลงมติ จำนวนผู้ลงมติ 415 คน เห็นชอบ 400 คน งดออกเสียง 2 คน และไม่ลงคะแนน 3 คน หลังจากนี้ กฎหมายจะเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภา ซึ่งหากผ่านความเห็นชอบจะทูลเกล้าฯให้ในหลวงลงพระปรมาภิไธย เพื่อประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาตราเป็นกฎหมายต่อไป

“กฎหมายฉบับนี้ชายหญิงทั่วไปท่านเคยได้รับสิทธิอย่างไร ท่านจะไม่เสียสิทธิแม้แต่น้อย สิทธิของท่านในทางกฎหมายยังเท่าเดิมทุกประการ และในทางเดียวกัน กฎหมายฉบับนี้จะคุ้มครองคนกลุ่มหนึ่งซึ่งแล้วแต่จะเรียกว่าเป็น LGBT ผู้ชายข้ามเพศ ผู้หญิงข้ามเพศอะไรตาม” นายดนุพร ปุณณกันต์ ประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ แถลงต่อที่ประชุม ก่อนลงมติวาระที่สองและสาม

“วันนี้ทุกสังคมเชื่อว่าทุกคนทราบดีว่าเราไม่ได้มีแค่เพศชาย เพศหญิงอีกต่อไปแล้ว เราเลือกที่จะคืนสิทธิให้คนกลุ่มนี้ เป็นสิทธิเบื้องต้น การรักษาพยาบาล การลดหย่อนภาษีต่าง ๆ รวมถึงการเซ็นยินยอมให้เข้าสู่การรักษาพยาบาล กฎหมายฉบับนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างความเท่าเทียม” นายดนุพร กล่าว

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2566 สภาผู้แทนราษฎร เห็นชอบผ่าน ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม 4 ร่างของรัฐบาล, พรรคก้าวไกล, พรรคประชาธิปัตย์ และประชาชน ทำให้มีการตั้ง กมธ. วิสามัญพิจารณากฎหมาย และนำมาสู่การลงมติในวาระที่สองและสามในสัปดาห์นี้ 

000_34JD8GX.jpg
กัญจน์ เกิดมีมูล (ซ้าย) และปกชกร วงศ์สุภาร์ (ขวา) โพสท่าถ่ายรูปกับใบรับจดแจ้งชีวิตคู่ ในงานจำลองการแต่งงานระหว่างบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ในกรุงเทพฯ วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 (ลิเลียน สุวรรณรัมภา/เอเอฟพี)

ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม 68 มาตรา มีจุดสำคัญโดยสรุปคือ แก้ไขให้ “บุคคลสองคน (ทุกเพศ)” สมรสกันได้ จากแต่เดิมระบุว่า ผู้ที่จะสมรสต้องเป็น “ชาย-หญิง” เท่านั้น ซึ่งจะทำให้ “คู่สมรส (ทุกเพศ)” สามารถจัดการทรัพย์สิน และรับบุตรบุญธรรมได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย

“ผลการสำรวจความคิดเห็นสะท้อนให้เห็นว่า ประชาชนร้อยละ 96.6 เห็นด้วยกับร่างกฎหมายดังกล่าว ประโยชน์ของร่างพระราชบัญญัติเป็นการยืนยันเจตนารมณ์ และนโยบายของรัฐบาลในการเคารพและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนโดยการปรับปรุงกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม เพื่อเป็นหลักประกันว่า บุคคลทุกคนจะได้รับสิทธิในการจัดตั้งข้อมูลอย่างเสมอภาคเท่าเทียมและไม่เลือกปฏิบัติ” นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี กล่าวนำเสนอร่างกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาวาระแรก 

แม้กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ) ในประเทศไทยจะมีบทบาทมากในสังคม และได้รับการยอมรับอย่างมาก จนในสายตาชาวต่างชาติก็เชื่อว่า ไทยเปิดกว้างสำหรับความหลากหลายทางเพศ แต่ในทางกฎหมายไทยกลับยังไม่ได้รับรองสถานะให้กับผู้มีความหลากหลายทางเพศ

ในปี 2565 พรรคก้าวไกลเคยเสนอ ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมเข้าสู่สภา ขณะเดียวกัน รัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็เสนอ ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต เข้าสู่การพิจารณาเช่นกัน ซึ่งแม้กฎหมายจะมีความคล้ายกัน แต่ ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศจดทะเบียนกันได้ แต่จะมีสถานะเป็น “คู่ชีวิต” ซึ่งด้อยสิทธิทางกฎหมายกว่า “คู่สมรส”

“หากมีเรื่องที่ผิดพลาดรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต เราไปร้องเรียนในฐานะภรรยาหรือคู่ชีวิตไม่ได้ เพราะเราไม่มีสิทธิเหมือนสามีภรรยาทั่วไป แค่คิดก็เจ็บปวดแล้ว การใช้ชีวิตของมนุษย์คู่หนึ่งบนโลกใบนี้ ทุกเพศควรมีสิทธิได้รับสวัสดิการหรือการรับรองทางกฎหมายเหมือนคนทั่วไป” ปกชกร วงศ์สุภาร์ LGBT อายุ 67 ปี กล่าวกับเบนาร์นิวส์ 

กระทั่ง 15 มิถุนายน 2565 ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมของก้าวไกล ผ่านความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรวาระแรก แต่เมื่อพล.อ. ประยุทธ์ ประกาศยุบสภา ขณะที่กฎหมายยังพิจารณาไม่สำเร็จ ทำให้กฎหมายยังไม่เคยถูกบังคับใช้จริง กระทั่งมีการเสนออีกครั้งในรัฐบาลปัจจุบัน

ต่อร่างกฎหมายฉบับนี้ น.ส. มุกดาภา ยั่งยืนภราดร เจ้าหน้าที่สิทธิมนุษยชน ฟอร์ตี้ฟายไรต์ กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า อยากให้กฎหมายของไทยเป็นแรงบันดาลใจให้ประเทศอื่นในเอเชีย แม้กฎหมายอาจจะยังมีข้อน่าท้วงติงเรื่องรายละเอียดบางจุดก็ตาม

“หวังว่าการเปลี่ยนแปลงในไทยจะจุดประกายให้กับประเทศอื่นในเอเชีย แม้ว่าตัวกฎหมายนี้จะไม่ได้สมบูรณ์ 100% แต่ถ้ามองในมุมมองขององค์กรสิทธิระหว่างประเทศ นี่เป็นการทำให้กฎหมายในไทยสอดคล้องกับมาตรฐานสากลมากขึ้น และเรื่องของอายุขั้นต่ำในการสมรสมันก็เป็นไปเพื่อสอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก” น.ส. มุกดาภา กล่าว

สมัยรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร ปี 2544 กระทรวงมหาดไทยเคยมีแนวคิดที่จะผลักดันแก้ไขกฎหมายการสมรส แต่เนื่องจากเกิดกระแสต่อต้านในสังคมจึงทำให้แนวคิดดังกล่าวตกไป

ในปี 2555 สมัยรัฐบาล น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีการเสนอ ร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต เข้าสู่การพิจารณา แม้ร่างกฎหมายดังกล่าวจะยังไม่ได้ให้สิทธิการสมรสสำหรับผู้มีความหลากหลายทางเพศ

แต่เมื่อเกิดรัฐประหาร ปี 2557 การพิจารณากฎหมายดังกล่าวจึงตกไป อย่างไรก็ตาม ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การยอมรับผู้มีความหลากหลายทางเพศมีมากขึ้นในสังคมไทย และการเคลื่อนไหวของกลุ่ม LGBTQ ก็เกิดขึ้นบ่อยครั้ง ทำให้ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมถูกนำเสนอเข้าสู่สภาพร้อมแรงสนับสนุน ทำให้สามารถผ่านความเห็นชอบในวาระแรกสำเร็จ

ปัจจุบันมีประเทศที่รับรองสิทธิการสมรสของคนหลากหลายทางเพศ 31 ประเทศ หากประเทศไทยสามารถบังคับใช้กฎหมายสมรสเท่าเทียมสำเร็จ จะทำให้ไทยกลายเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่อนุญาตให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศแต่งงานกันอย่างถูกกฎหมาย และเป็นประเทศที่สามในเอเชียถัดจากไต้หวัน และเนปาล

วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช และรุจน์ ชื่นบาน ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง

ความคิดเห็น

วรงค์รัตน์
Aug 17, 2024 11:00 PM

มันเจ็บปวดมากนะถ้าเห็นคู่ชีวิตเราจากไปต่อหน้าทั้งที่ถึงมือหมอแล้ว แต่ไม่สามารถเซ็นรับรองได้ ทั้งๆที่เราเป็นคู่ชีวิตกันเราอยู่ด้วยกันมา20ปี แต่เรากลับเสียเธอไปเพราะรักษาไม่ทัน รักษาไม่ได้ แค้นใจที่สุด