ไทยผ่านร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม เป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
2023.12.21
กรุงเทพฯ
สภาผู้แทนราษฎร (สส.) มีมติในวันพฤหัสบดีนี้ ผ่านร่าง พ.ร.บ.แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) หรือ ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม วาระแรก หลังรัฐบาล ส.ส. และภาครัฐร่วมผลักดันกฎหมายอย่างเต็มที่ เพื่อให้เกิดความเสมอภาคเท่าเทียมทางเพศ
ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม 4 ร่างที่ถูกนำเสนอเข้าสู่สภาโดยรัฐบาล, พรรคก้าวไกล, พรรคประชาธิปัตย์ และการเข้าชื่อของประชาชนได้รับเสียงสนับสนุน 369 ต่อ 10 เสียง พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติพิจารณาร่าง 4 ฉบับ ที่คณะรัฐมนตรี สส. และภาคประชาชน เสนอไว้ โดยให้ร่างของ ครม. เป็นร่างหลัก
การนำเสนอร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม มีแนวโน้มที่ดี เนื่องจากนายกรัฐมนตรี และรัฐบาลยืนยันที่จะสนับสนุนร่างกฎหมายฉบับนี้เต็มที่
“ครม. ได้มีมติเห็นชอบส่งร่างแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพื่อรองรับเรื่องสมรสเท่าเทียมไปเสนอต่อรัฐสภา กฎหมายฉบับนี้สามารถทำให้บุคคลเพศเดียวกันสามารถหมั้น สมรสกันได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มีสิทธิและหน้าที่เท่าเทียมกับคู่สมรสที่เป็นชายหญิง” นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อสื่อมวลชนในวันอังคาร
ทั้งนี้ ร่างกฎหมายทุกฉบับมีจุดสำคัญโดยสรุปคือ แก้ไขให้ “บุคคลสองคน (ทุกเพศ)” สมรสกันได้ จากแต่เดิมระบุว่าต้องเป็น “ชาย-หญิง” เท่านั้น ซึ่งจะทำให้ “คู่สมรส (ทุกเพศ)” สามารถจัดการทรัพย์สิน และรับบุตรบุญธรรมได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย
“ผลการสำรวจความคิดเห็นสะท้อนให้เห็นว่า ประชาชนร้อยละ 96.6 เห็นด้วยกับร่างกฎหมายดังกล่าว ประโยชน์ของร่างพระราชบัญญัติเป็นการยืนยันเจตนารมย์ และนโยบายของรัฐบาลในการเคารพและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนโดยการปรับปรุงกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม เพื่อเป็นหลักประกันว่า บุคคลทุกคนจะได้รับสิทธิในการจัดตั้งข้อมูลอย่างเสมอภาคเท่าเทียมและไม่เลือกปฏิบัติ” นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี กล่าวนำเสนอร่างกฎหมายเข้าสู่การพิจารณา
นายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส. บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล กล่าวต่อสภาฯ ว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้มีความสำคัญกับผู้มีความหลากหลายทางเพศมาก
“ธัญเกิดมาเป็นกะเทยค่ะ ไม่ว่าธัญจะหัวเราะ หรือร้องไห้ ความเป็นกะเทยก็ยังคงติดตัวกับธัญอยู่เสมอ สิ่งที่จะติดตัวกะเทยทุกคนในประเทศนี้ ก็คือ ความเป็นไปไม่ได้ ธัญตระหนักรู้ดีเมื่อเติบโตขึ้นมาว่า กะเทยมีตัวตนในสังคม มีสิทธิ มีศักดิ์ศรี และการที่จะใช้ชีวิตอย่างที่เขาอยากจะเป็น รวมถึงการดำเนินชีวิตในครอบครัว” นายธัญวัจน์ กล่าว
โดยหลักการของร่างกฎหมายทุกฉบับ เหมือนกันเรื่องการให้สิทธิการสมรสของผู้มีความหลากหลายทางเพศ แต่แตกต่างกันในรายละเอียด เช่น ร่างของประชาชนไม่ได้มีการให้แก้ไขเรื่องการหมั้น ซึ่งต่างจากร่างของรัฐบาลและก้าวไกล ร่างของประชาชนและก้าวไกล กำหนดให้ผู้ที่จะสมรสได้ต้องมีอายุขั้นต่ำ 18 ปี ขณะที่ร่างของรัฐบาลกำหนดอายุ 17 ปี และร่างของประชาชนระบุให้กฎหมายมีผลบังคับใช้ 60 วันหลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา ขณะที่ร่างของก้าวไกลและรัฐบาลกำหนดที่ 120 วัน
สำหรับร่างกฎหมายนี้ น.ส. มัจฉา พรอินทร์ นักปกป้องสิทธิมนุษยชน ผู้อำนวยการองค์กรสร้างสรรค์อนาคตเยาวชน เชื่อว่า สังคมไทยพร้อม และรัฐบาลจะสนับสนุนกฎหมายฉบับนี้ให้บังคับได้จริง
“เมื่อดูบรรยากาศของสังคมและรัฐสภาวันนี้แล้ว แทบไม่มีความกังวลใจใด ๆ เพราะเหมือนทุกพรรคการเมืองอยากจะให้ผ่าน แต่เมื่อผ่านแล้ว สิ่งที่เราจะต้องทำในขั้นต่อไปคือ การมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง กฎหมายต้องไม่นำไปสู่การมีมาตราหรือการบังคับใช้ที่ทำให้คนหลากหลายทางเพศกลายเป็นพลเมืองชั้นสอง แต่โดยหลักการของทุกร่าง ก็ไม่มีตรงไหนที่ซ่อนการเลือกปฏิบัติ” น.ส. มัจฉา กล่าวกับเบนาร์นิวส์
แม้กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ) ในประเทศไทยจะมีบทบาทมากในสังคม และได้รับการยอมรับอย่างมาก จนในสายตาชาวต่างชาติก็เชื่อว่า ไทยเปิดกว้างสำหรับความหลากหลายทางเพศ แต่ในทางกฎหมายไทยกลับยังไม่ได้รับรองสถานะให้กับผู้มีความหลากหลายทางเพศ
ในปี 2565 พรรคก้าวไกลเคยเสนอ ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมเข้าสู่สภา ขณะเดียวกัน รัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็เสนอ ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต เข้าสู่การพิจารณาเช่นกัน ซึ่งแม้กฎหมายจะมีความคล้ายกัน แต่ ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศจดทะเบียนกันได้ แต่จะมีสถานะเป็น “คู่ชีวิต” ซึ่งด้อยสิทธิทางกฎหมายกว่า “คู่สมรส”
กระทั่ง 15 มิถุนายน 2565 ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมของก้าวไกล ผ่านความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรวาระแรก แต่เมื่อ พล.อ. ประยุทธ์ ประกาศยุบสภา ขณะที่กฎหมายยังพิจารณาไม่สำเร็จ ทำให้กฎหมายยังไม่เคยถูกบังคับใช้จริง
ต่อร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม น.ส. นรีลักษณ์ แพไชยภูมิ ตัวแทน กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ยืนยันว่า ราชการและรัฐบาลพร้อมให้การสนับสนุนกฎหมายฉบับนี้เต็มที่
“ในอดีต สังคมเราอาจจะยังไม่เปิดรับ 100 เปอร์เซ็นต์ กรมฯ เลยจะเริ่มจาก พ.ร.บ.คู่ชีวิต ก่อน แต่ตอนนี้ด้วยนโยบายที่ชัดเจนของท่านนายกฯ ก็ทำให้เราเปลี่ยน เราทิ้ง พ.ร.บ.คู่ชีวิต และมาทำสมรสเท่าเทียมเลย ก็ทำให้ทั้งภาคประชาชน ภาครัฐ หรือพรรคต่าง ๆ ไปในทิศทางเดียวกัน หวังว่าการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นในช่วงชีวิตของพวกเรา” น.ส. นรีลักษณ์ กล่าว
ในสมัยรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร ปี 2544 กระทรวงมหาดไทยเคยมีแนวคิดที่จะผลักดันแก้ไขกฎหมายการสมรส แต่เนื่องจากเกิดกระแสต่อต้านในสังคมจึงทำให้แนวคิดดังกล่าวตกไป
ในปี 2555 สมัยรัฐบาล น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีการเสนอ ร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต เข้าสู่การพิจารณา แม้ร่างกฎหมายดังกล่าวจะยังไม่ได้ให้สิทธิการสมรสสำหรับผู้มีความหลากหลายทางเพศ
แต่เมื่อเกิดรัฐประหาร ปี 2557 การพิจารณากฎหมายดังกล่าวจึงตกไป อย่างไรก็ตาม ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การยอมรับผู้มีความหลากหลายทางเพศมีมากขึ้นในสังคมไทย และการเคลื่อนไหวของกลุ่ม LGBTQ ก็เกิดขึ้นบ่อยครั้ง ทำให้ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมถูกนำเสนอเข้าสู่สภาพร้อมแรงสนับสนุน ทำให้สามารถผ่านความเห็นชอบในวาระแรกสำเร็จ
ปัจจุบันมีประเทศที่รับรองสิทธิการสมรสของคนหลากหลายทางเพศ 31 ประเทศ หากประเทศไทยสามารถบังคับใช้กฎหมายสมรสเท่าเทียมสำเร็จ จะทำให้ไทยกลายเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่อนุญาตให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศแต่งงานกันอย่างถูกกฎหมาย และเป็นประเทศที่สองในเอเชียถัดจากไต้หวัน