UNODC: ขบวนการค้ายาเสพติดขยายตัว แม้มีโควิดระบาด

วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช
2021.06.10
กรุงเทพฯ
UNODC: ขบวนการค้ายาเสพติดขยายตัว แม้มีโควิดระบาด เจ้าหน้าที่ป้องกัน​และปราบปรามยาเสพติดของไทยจัดเรียงถุงยาบ้า ในพิธีทำลายยาเสพติดที่ยึดมาได้ ครั้งที่ 50 ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา วันที่ 26 มิถุนายน 2563
รอยเตอร์

ในวันพฤหัสบดีนี้ สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Office on Drugs and Crime – UNODC) เปิดเผยรายงานสถานการณ์การค้ายาเสพติดสังเคราะห์ ในภูมิภาคเอเชียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในปี 2564 พบว่า มีจำนวนเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาถึง 19 เปอร์เซ็นต์ แม้ว่าจะมีการระบาดของโรคโควิด-19 ก็ตาม

นายเจเรมี ดักลาส ผู้แทนของยูเอ็นโอดีซี ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก เปิดเผยในการแถลงข่าวที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย ว่า องค์กรอาชญากรรมต่าง ๆ ยังคงสามามารถขยายการค้าขายยาเสพติดได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ตอนบนของแม่น้ำโขงและในรัฐฉานของเมียนมา โดยการรักษาปริมาณการนำเข้าสารเคมี ไปยังแหล่งผลิตยาเสพติดอย่างต่อเนื่อง แม้จะมีการเข้มงวดในการเดินทางข้ามพรมแดนที่ส่งผลต่อการค้าบริเวณชายแดนที่ถูกกฎหมายก็ตาม

“ขณะที่การแพร่ระบาดของโควิด ทำให้เศรษฐกิจโลกถดถอย แต่องค์กรอาชญากรรมที่ครอบงำภูมิภาคนี้อยู่ กลับสามารถปรับตัวและทำกำไรได้จำนวนมาก คนพวกนี้ยังสามารถผลักดันให้เกิดการผลิตยาบ้าในปริมาณที่เพิ่มขึ้น เพื่อสร้างตลาดและความต้องการสินค้าอย่างต่อเนื่อง” เจเรมี ระบุในแถลงการณ์ที่ส่งให้สื่อมวลชน

รายงานของยูเอ็นโอดีซี ในชื่อเรื่อง “Synthetic Drugs in East and Southeast Asia: latest developments and challenges 2021”, ที่เผยแพร่ต่อสื่อมวลชนในวันนี้ ระบุว่า การตรวจยึดยาบ้ามีประมาณเพิ่มขึ้นอย่างมาก ในช่วงการแพร่ระบาดของ โควิด-19

รายงานของยูเอ็นโอดีซี ยังระบุว่า การเพิ่มขึ้นของยาบ้า ทำให้ราคาขายส่งและราคาบนท้องถนนถูกลง ทำให้มีการกระจาย ความต้องการในปริมาณที่เพิ่มขึ้น โดยในปีที่ผ่านมา หน่วยงานในภูมิภาคสามารถตรวจยึดยาบ้าได้ประมาณ 170 ตัน ซึ่งเพิ่มขึ้น 19% ของจำนวนที่ยึดได้ในปี 2019 และมีการเปลี่ยนเส้นทางการลักลอบและปริมาณยาบ้าที่ลักลอบผ่านจากประเทศลาว ไปยังประเทศไทยและเวียดนาม รายงานระบุ

พ.ต.ท.ไพศิษฎ์ สังคหะพงศ์ รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด กล่าวระหว่างแถลงข่าวว่า ในปีที่ผ่านมาพบการเปลี่ยนแปลงที่มีนัยยะสำคัญในเรื่องการผลิตยาเสพติด และการลักลอบขนยาเสพติดในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มีการพบว่า มีการลักลอบค้ายาเสพติด ทั้งยาบ้า และยาไอซ์ ไปยังประเทศที่สามในวงกว้าง ผ่านทางบก ทางอากาศ และไม่นานมานี้ พบว่ามีการเพิ่มขึ้นของการลักลอบลำเลียงยาเสพติดผ่านทางทะเล ไปยังประเทศที่สาม นอกจากนี้ยังพบว่า ขบวนการค้ายาเสพติดใช้เทคนิคการขายยาเสพติดออนไลน์ในทุกแพลทฟอร์มของโซเชียลมีเดีย ซึ่งประเทศไทยกำลังจับตาความเคลื่อนไหวนี้อยู่

“ตั้งแต่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้การเดินทางทางอากาศมีความยากลำบาก และเป็นเหตุผลให้ขบวนการค้ายาเสพติดหันมาใช้การขนส่งทางทะเลมากเพิ่มขึ้น เพราะง่ายและสะดวกสบายในการส่งยาเสพติดไปกับสินค้าต่าง ๆ” พ.ต.ท.ไพศิษฎ์ สังคหะพงศ์ ระบุ

“ตั้งแต่เดือนที่ผ่านมา เราพบว่า ผู้บังคับใช้กฎหมายในต่างประเทศสามารถจับสินค้าที่ลักลอบขนยาเสพติดจากประเทศไทยได้ เช่น ประเทศออสเตรเลีย ฮ่องกง และฟิลิปปินส์ ซึ่งขบวนการได้มีการซุกซ่อนยาเสพติดในสินค้าอิเลคทรอนิกส์ กรอบรูป เป็นต้น” พ.ต.ท.ไพศิษฎ์ กล่าวเพิ่มเติม

รองเลขาธิการ ป.ป.ส. ระบุด้วยว่า ประเทศไทยมีหน่วยปฏิบัติการเฉพาะกิจที่สนามบิน และหน่วยปฏิบัติการพิเศษ ที่เรียกว่า ASEAN SEAPORT ซึ่งได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่าง ๆ จากภาครัฐ และกองทัพ ในปฏิบัติการตรวจจับยาเสพติด รวมถึงได้รับความร่วมมืออย่างดีจากประเทศต่าง ๆ ในการร่วมกันปฏิบัติการสกัดกั้นยาเสพติด

ทั้งนี้ รองเลขาธิการ ป.ป.ส. ระบุด้วยว่า ประเทศไทยมีเจ้าหน้าที่ทางการทูต ที่ทำงานด้านยาเสพติดกับประเทศเพื่อนบ้าน 5 ประเทศ ได้แก่ เมียนมา ลาว กัมพูชา เวียดนาม และ จีน ซึ่งนักกการทูตเหล่านี้ได้ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับยาเสพติดมาเป็นเวลากว่า 40 ปี ว่าทำอย่างไร จึงจะแก้ปัญหายาเสพติดได้ จนกระทั่งได้ข้อสรุปในการทำงานในปัจจุบัน คือ การสกัดกั้นการนำสารเคมีเข้าไปในพื้นที่การผลิต และดำเนินการยึดทรัพย์จากขบวนการยาเสพติด

“ในอดีตเราโฟกัสไปที่ปริมาณการจับกุมผู้ต้องสงสัย และปริมาณยาที่จับได้ เราทำแบบนั้นหลายปี และเราพบว่ามันไม่ได้ผล เพราะเราจับได้แค่ผู้ค้ายาตัวเล็ก ๆ และจำนวนยาที่เราจับได้วันนี้ เช่น ยาบ้า 1 ล้านเม็ด ผู้ผลิตก็จะผลิตเพิ่มขึ้นในวันรุ่งขึ้น เราจึงปรึกษาไปยัง ยูเอ็นโอดีซี และพบว่า เราควรหยุดการขนส่งสารเคมี ที่ใช้เป็นสารตั้งต้นในการผลิตยาเสพติดไปยังพื้นที่การผลิตจะได้ผลมากกว่า เพราะเมื่อไม่มีสารเคมีก็จะผลิตยาเสพติดไม่ได้ ซึ่งเราพยายามทำเรื่องนี้มาได้สาม-สี่ปีแล้ว แม้ว่าจะยังไม่ประสบความสำเร็จ แต่เราก็พยายามทำทุกวัน และสถิติแสดงให้เห็นว่าจำนวนสารเคมีโดนสกัดกั้นเพิ่มขึ้นทุกวัน” รองเลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าว

“นอกจากนี้ ประเทศไทยยังได้ใช้วิธีการยึดทรัพย์ เพราะเรารู้ว่า ถ้าเรายึดเงินและสมบัติของนักค้ายา เขาจะได้รับผลกระทบและไม่สามารถใช้เงินในการผลิตยาได้อีก” พ.ต.ท.ไพศิษฎ์ กล่าวเพิ่มเติม

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง