ค้นพบหนูผีจิ๋ว เม่นแคระแวมไพร์ไร้หนาม และสัตว์สายพันธุ์ใหม่ ในลุ่มน้ำโขง

งานวิจัยในพื้นที่ห่างไกล การศึกษาพันธุกรรม และการค้นคลังพิพิธภัณฑ์ ช่วยระบุสายพันธุ์พืช-สัตว์ที่ไม่เป็นที่รู้จัก
สตีเฟน ไรท์ สำหรับเรดิโอฟรีเอเชีย
2024.12.16
ค้นพบหนูผีจิ๋ว เม่นแคระแวมไพร์ไร้หนาม และสัตว์สายพันธุ์ใหม่ ในลุ่มน้ำโขง องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล เผยภาพ (ไม่ระบุวันที่) หนูผีจิ๋ว สายพันธุ์ใหม่ค้นพบที่ภูเขาทางตอนเหนือของเวียดนาม หนักเพียง 8 กรัม และจัดอยู่ในกลุ่มสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่เล็กที่สุด 10 อันดับแรกของโลก
ไฮ ตวน บุย, ชินยา โอกาเบ และมาชารุ โมโตกาวา

“หนูผีจิ๋ว” (shrew mole) น้ำหนัก 8 กรัม เป็นหนึ่งในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีขนาดเล็กที่สุดในโลก และเม่นแคระแวมไพร์ไร้หนาม (fanged furry hedgehog) เป็นสัตว์สองสายพันธุ์ในบรรดาสัตว์และพันธุ์พืชอีกกว่า 200 ชนิด ที่ถูกค้นพบใหม่ในแถบลุ่มแม่น้ำโขง ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

นักวิจัยให้ข้อมูลว่า การสำรวจนี้เกิดขึ้นครอบคลุมพื้นที่ในประเทศเวียดนาม เมียนมา กัมพูชา ลาว และไทย ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของบรรดาพืชพันธุ์และสัตว์เฉพาะถิ่นในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง และความสำคัญที่จะต้องอนุรักษ์พันธุ์พืชและสัตว์เหล่านี้ ท่ามกลางสถานการณ์การค้าสัตว์ป่า และโลกที่กำลังรุดหน้าพัฒนาอย่างไร้ขอบเขตผ่านการเกษตรเชิงอุตสาหกรรม การท่องเที่ยวระดับมวลชน หรือการสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ

ความสำเร็จของการจำแนกพันธุ์พืชและสัตว์บางส่วนตามหลักวิทยาศาสตร์เป็นผลมาจากงานวิจัยภาคสนามในพื้นที่ห่างไกล บวกกับการวิเคราะห์ข้อมูลที่เป็นข้อมูลทางพันธุกรรมด้วยเช่นกัน เนื่องจากกลุ่มนักวิจัยสามารถระบุหนึ่งในสายพันธุ์สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมได้สำเร็จ หลังจากที่จมฝุ่นอยู่ในพิพิธภัณฑ์มานานกว่าหลายทศวรรษ

ข้อมูลจากการสำรวจลุ่มแม่น้ำโขง โดยองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (World Wide Fund for Nature – WWF) ซึ่งค้นพบสายพันธุ์มหัศจรรย์ทั้ง 234 สายพันธุ์ระบุว่า ลุ่มแม่น้ำโขงซึ่งเป็นแม่น้ำสายที่ยาวที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังคงเป็นแหล่งศึกษาที่อุดมสมบูรณ์สำหรับการสำรวจทางวิทยาศาสตร์ และเป็นศูนย์รวมระดับโลกด้านความหลากหลายของสายพันธุ์สิ่งมีชีวิต

“แต่การค้นพบนี้ก็ยังเตือนสติเราได้เป็นอย่างดีว่า เราจะสูญเสียอะไรไปบ้างหากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ไม่ยั่งยืน ยังคงบ่อนทำลายคุณค่าของธรรมชาติอย่างไม่หยุดยั้ง” แถลงการณ์ระบุ

“สายพันธุ์พืชและสัตว์มากมายมีความเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์ไปก่อนที่พวกมันจะถูกค้นพบเสียอีก เหตุเพราะโดนรุกล้ำถิ่นที่อยู่ โรคภัยที่เกิดจากกิจกรรมแห่งการพัฒนาของมนุษย์ การแก่งแย่งในการดำรงชีวิตกับสายพันธุ์ต่างถิ่น รวมไปถึงการค้าสัตว์ป่าซึ่งถือเป็นภัยคุกคาม”

karst lizard.jpg
องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล เผยภาพ กิ้งก่ามังกรสายพันธุ์ลาว ขนาดกลาง (Laos karst dragon lizard) ขณะพรางตัวอยู่บนยอดหินปูนขรุขระ กิ้งก่าสายพันธุ์นี้สามารถค้นพบได้เฉพาะบนยอดหินปูนที่มีระดับความสูง 50-70 เมตรเท่านั้น (ภาพไม่ระบุวันที่) (สันติ ไซยะสิด)

กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การค้นพบสัตว์และพืชสายพันธุ์ใหม่อาจเป็นกุญแจสำคัญของการค้นพบตัวยาที่สามารถช่วยชีวิตมนุษย์ รวมไปถึงการค้นพบด้านการเปลี่ยนแปลงลักษณะทางพันธุกรรม ซึ่งสามารถช่วยปรับสมดุลให้กับภาวะโลกรวนได้มากขึ้น

สายพันธุ์พืชที่ถูกค้นพบนั้นรวมไปถึงต้นเฟิร์นที่เติบโตใต้น้ำและกล้วยไม้เลื้อยไร้ใบ (delicate leafless orchid) ที่พบได้ในบริเวณหมู่บ้านแห่งหนึ่งในแถบเวียดนามเหนือเท่านั้น

orchid.jpg
องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล เผยภาพ กล้วยไม้ไร้ใบ (Chiloschista quangdangii) ที่เพิ่งค้นพบและใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง โดยพบใกล้หมู่บ้านเพียงแห่งเดียวในภาคเหนือของเวียดนาม (ภาพไม่ได้ระบุวันที่) (Truong Ba Vuong)

นักวิทยาศาสตร์สำรวจเจอหนูผีจิ๋ว (diminutive shrew mole) ซึ่งมีขนาดตัวยาวเพียง 14 ซม. (5.5 นิ้ว) หางยาว 6 ซม. ที่ระดับความสูงเกือบ 3,000 เมตร (9,840 ฟุต) เหนือระดับน้ำทะเลบนยอดเขาฟานซีปันทางตะวันตกเฉียงเหนือของเวียดนาม โดยองค์การ WWF ให้ข้อมูลว่า หนูผีจิ๋วนี้เป็นสมาชิกของสัตว์ตระกูลตุ่น แต่มีลักษณะคล้ายหนูผีเห็นได้จากจมูกยาว หางเรียว และเท้าหน้าขนาดเล็ก ด้วยความที่มันมีน้ำหนักเพียงแค่ 8 กรัม (0.3 ออนซ์) จึงทำให้หนูผีจิ๋วติดอันดับหนึ่งในสิบของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่หากินบนบกที่ตัวเล็กที่สุดในโลก

บรรดานักวิจัยอ้างว่า หนูผีจิ๋วประจำยอดเขาฟานซีปัง มีลักษณะภายนอกที่คล้ายคลึงกับหนูผีจิ๋วที่พบได้ในแถบเทือกเขาหิมาลัยทางตอนใต้ แต่มีความแตกต่างทางพันธุกรรมที่ชัดเจนและมีโครงสร้างของกระดูกที่แตกต่างกัน

นอกจากนี้รายงานขององค์การ WWF ยังระบุอีกว่า การที่พวกมันอาศัยอยู่อย่างโดดเดี่ยวบริเวณ “กลุ่มยอดเขาที่สูงเสียดฟ้า” น่าจะเป็นเหตุผลที่ทำให้มีลักษณะทางกายภาพที่แตกต่างจากหนูผีสายพันธุ์อื่น ๆ

สัตว์หลากสายพันธุ์อีกมากมาย’ อาจถูกค้นพบ

ท่ามกลางกลุ่มเทือกเขาในแถบตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศลาว ค้นพบ กบต้นไม้สีเขียวสว่าง (grass-green tree frog) สายพันธุ์ใหม่ ระบุตัวตนจากการวิเคราะห์คลื่นเสียงในการเรียกหาคู่

นักวิจัยที่เป็นผู้ตั้งชื่อ หยกภูเขาครึ่งบกครึ่งน้ำสายพันธุ์ใหม่นี้ ชี้ว่า “เสียงโฆษณาหาคู่” ของกบตัวผู้จะเริ่มด้วยเสียงคลิก ต่อด้วยตัวโน้ตอีกหนึ่งชุด ซึ่งโน้ตแต่ละตัวจะมีความยาว 0.28 วินาที และการค้นพบนี้มีหลักฐานสนับสนุนจากการวิจัยทางสัณฐานวิทยาและโมเลกุล

“ดูเหมือนว่าจะมีสายพันธุ์ที่ระบุชื่อไม่ได้อีกมากมายในภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะกลุ่มเทือกเขาของประเทศลาวตอนเหนือ ซึ่งเป็นแหล่งชุมนุมอันหลากหลายของสายพันธุ์สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ ซึ่งมีอัตราของสิ่งมีชีวิตเฉพาะถิ่นสูง แต่กลับเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ถูกสำรวจน้อยที่สุดในเอเชีย” กลุ่มนักวิจัยกล่าว

tree frog.jpg
องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล เผยแพร่ภาพ กบต้นไม้สีเขียวขนาดกลาง (Zhangixalus melanoleucus) ที่อาศัยอยู่ในป่าใน Phou Samsoun เทือกเขาหินปูนทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศลาว บนระดับความสูง 2,000 เมตร เหนือน้ำทะเล (ภาพไม่ระบุวันที่) (Parinya Pawangkhanant)

หนูผีป่าแวมไพร์ไม่ทราบชื่อ ซึ่งนับเป็นสัตว์ขนฟูในตระกูลเม่น มีถิ่นที่อยู่ในประเทศเวียดนามมาจนถึงปัจจุบัน จากหลักฐานการค้นพบส่วนหนึ่ง จากพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติแห่งชาติ สมิธโซเนียน (National Museum of Natural History) ในกรุงวอชิงตันดีซี ที่อยู่ไกลราว 13,358 กิโลเมตร (8,300 ไมล์)

อาร์โล ฮิงค์ลี โบนด์ (Arlo Hinckley Boned) ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ในแถบเอเชียตะวันออกเขตร้อนของพิพิธภัณฑ์สมิธโซเนียนกล่าวว่า ตัวอย่างของสายพันธุ์ ma cà rồng ซึ่งในภาษาเวียดนามแปลว่า ‘แวมไพร์’ ถูกเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์สมิธโซเนียน ในสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ช่วงปี ค.ศ. 1960 เพื่อ “มุ่งเน้นความสำคัญการค้นหาสายพันธุ์ใหม่ ๆ จากคลังตัวอย่าง”

พวกมันจะถูกศึกษาเปรียบเทียบในเชิงพันธุกรรมกับกลุ่มตัวอย่างต่าง ๆ ที่มีอายุยาวนานกว่าด้วยซ้ำ ซึ่งกลุ่มตัวอย่างเหล่านั้นถูกเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์ใน 6 ประเทศ ตั้งแต่ช่วงปี ค.ศ. 1930

macarong.JPG
ภาพถ่าย เม่นแคระแวมไพร์ไร้หนาม (Hylomys ma cà rồng) สายพันธุ์ใหม่ที่ถูกสำรวจพบในประเทศเวียดนาม ซึ่งเรียกชื่ออย่างเป็นทางการโดยอ้างอิงจากกลุ่มตัวอย่างที่พบในพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติ ของสมิธโซเนียน ในสหรัฐอเมริกา ภาพไม่ระบุวันที่โดย องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (อเล็กซี วี อบราม็อฟ)

โบนด์อธิบายว่า การที่โลกค้นพบสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมสายพันธุ์ใหม่ ๆ ที่ใช้เวลาเป็นหลายล้านปีในการวิวัฒนาการนั้น เปรียบเสมือนการค้นพบภาพวาดภาพใหม่ของจิตรกรปิกัสโซ หรือไม่ก็แหล่งโบราณคดีล้ำค่าแหล่งใหม่

นักวิทยาศาสตร์ชาวรัสเซียและเวียดนามตั้งข้อสงสัยพร้อมกันโดยบังเอิญว่า กลุ่มตัวอย่างของ macarong ที่พวกเขาพบเจอทางตอนใต้ของประเทศเวียดนามในปี 2552 นั้นคือสายพันธุ์ใหม่

“เราค้นพบสายพันธุ์ใหม่ในประเทศเวียดนามเกิน 10 ปีมาแล้ว แต่เราใช้เวลานานเกินไปในการอธิบายและทำงานช้าเกินไป” อเล็กซี อบรามอฟ (Alexei Abramov) จากสถาบันที่ศึกษาด้านสวนสัตว์แห่งสำนักวิทยาศาสตร์แห่งรัสเซีย (the Zoological Institute of Russian Academy of Sciences) ยอมรับ

องค์การ WWF ระบุว่า ได้ค้นพบและรับรองพันธุ์พืช 173 ชนิด สัตว์เลื้อยคลาน 26 ชนิด สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ 17 ชนิด ปลา 15 ชนิด และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 3 ชนิด ซึ่งส่งผลให้จำนวนสายพันธุ์ทั้งหมดที่ค้นพบในลุ่มแม่น้ำโขงตั้งแต่ปลายคริสตทศวรรษ 1990 เพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 3,600 สายพันธุ์

bat.jpg
ค้างคาวหน้ายักษ์ (leaf-nosed bat) ขนาดจิ๋ว (Hipposideros kingstonae) ซึ่งพบทางตอนใต้ของไทย มาเลเซีย และเกาะบอร์เนียว แพร่ภาพโดย องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (ไม่ระบุวันถ่าย) (พิพัฒน์ สร้อยสุข)

“ถึงแม้ว่าสายพันธุ์เหล่านี้จะได้รับการอธิบายผ่านหลักการทางวิทยาศาสตร์เมื่อปีที่แล้ว แต่พวกมันดำรงชีวิตอยู่ในถิ่นที่อยู่ที่มีลักษณะพิเศษในภูมิภาคของเรามากว่าหลายพันปี” คริส ฮัลลัม (Chris Hallam) ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์ป่าประจำองค์กร WWF เอเชียแปซิฟิก กล่าว

“สิ่งมีชีวิตแต่ละสายพันธุ์เป็นหลักฐานแสนสำคัญในการยืนยันถึงระบบนิเวศที่ทำงานได้ดีและแข็งแรง ทั้งยังเป็นมรดกทางธรรมชาติที่แสดงให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ เป็นเพชรเม็ดงามแห่งลุ่มแม่น้ำโขง และเหล่านักวิจัยเองก็มีคุณค่าเทียบเท่ากัน” เขากล่าว

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง