กกต. เผยชื่อ 2.36 หมื่นคนผ่านเลือกตั้ง สว. ระดับอำเภอ

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2024.06.10
กรุงเทพฯ
กกต. เผยชื่อ 2.36 หมื่นคนผ่านเลือกตั้ง สว. ระดับอำเภอ ผู้สมัครลงเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้ง สว. ระดับอำเภอ ที่ ห้องประชุม ชั้น 9 อาคารสำนักงานเขตราชเทวี วันที่ 9 มิถุนายน 2567
ภานุมาศ สงวนวงษ์-ไทยนิวส์พิกซ์/เบนาร์นิวส์

คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดเผยรายชื่อ ผู้ที่สามารถผ่านการคัดเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ระดับอำเภอ 2.36 หมื่นคน เตรียมเข้ารับการเลือกระดับจังหวัดอาทิตย์หน้า ระบุ ภาพรวมการเลือกตั้งเรียบร้อยดี แม้นักการเมือง-ผู้สมัครท้วงติงเรื่องปัญหา และความโปร่งใส

นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. เปิดเผยว่า การเลือกตั้ง สว. ระดับอำเภอ 928 จุดเลือกตั้งในวันอาทิตย์ที่ผ่านมา มีผู้สมัครประมาณ 4.60 หมื่นคน โดยภาพรวมผ่านไปได้โดยดี

“ภาพรวมถือว่าเป็นไปด้วยความเรียบร้อย แต่มีปัญหาอยู่บ้าง เช่น ปัญหาผู้สมัครมารายงานไม่ทันตามกำหนดเวลา 09.00 น. จำนวนหนึ่ง จ.นนทบุรี มีผู้นำหูฟัง ซึ่งถือเป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เข้ามายังจุดเลือก แม้ไม่ใช่สมาร์ตโฟนก็หมดสิทธิ์” นายแสวงกล่าว

กกต. เปิดเผยว่า ผู้สมัคร สว. ที่มารายงานตัวจริงในวันเลือกตั้งระดับอำเภอมี 43,818 คน หลังการเลือกตั้งเหลือผู้มีสิทธิเข้ากระบวนการเลือก สว. ระดับจังหวัด 23,645 คน โดยจะมีการเลือกระดับจังหวัดอีกครั้งในวันอาทิตย์ที่ 16 มิถุนายน 2567 มีคำร้องเรื่องปัญหาและการทุจริตการเลือกจำนวนหนึ่ง

มีบุคคลที่เป็นที่รู้จักทางสังคมที่ผ่านการคัดเลือกรอบแรกหลายคน เช่น นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี, พล.ต.อ. ศรีวราห์ รังสิหรามณกุล อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.), นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต., น.ส. รสนา โตสิตระกูล อดีต สว. เป็นต้น

“ขณะนี้มีคำร้องทั้งหมดประมาณ 22 คำร้อง รวมกับที่ปรากฏในสื่อด้วย การที่ กกต. จะสามารถตรวจสอบได้ หนึ่งคือศักยภาพในการตรวจสอบ สองคือมีข้อเท็จจริงที่จะต้องให้ตรวจสอบหรือไม่ การทำงานของ กกต. เป็นลักษณะสืบสวนสอบสวน ต้องมีความรอบคอบ” นายแสวง ระบุ

สำหรับผู้ที่ผ่านการเลือกตั้งระดับอำเภอจะเข้าสู่การเลือกตั้งระดับจังหวัดในวันอาทิตย์หน้า และระดับประเทศ วันที่ 26 มิถุนายน 2567 โดยจะประกาศผลการเลือกตั้งในวันที่ 2 กรกฎาคม 2567 

น.ส. พัชรี พาบัว ผู้สมัคร สว. อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า การเลือกตั้ง สว. ระดับอำเภอเป็นไปอย่างคึกคัก พบปัญหาบ้างเล็กน้อย

“ทั้งอำเภอมีคนสมัคร 277 คน มีคนถูกตัดสิทธิ์ 12-13 คน มีคนมาไม่ทัน 2 คน บรรยากาศเป็นกันเองพูดคุยกัน เห็นผู้สมัครบางคนจดเบอร์ผู้สมัครที่ตนเองจะเลือกเข้ามา และมีการขอคะแนนกันอย่างเปิดเผย แต่ปัญหาที่พบเยอะมากในช่วงเลือกไขว้กลุ่มอาชีพคือ การทำบัตรเสีย เพราะเขียนเลขผู้สมัครผิด เนื่องจากคนเลือกส่วนใหญ่มีอายุเกิน 60 ปี เชื่อว่า อาจมีการจัดตั้งมาลงคะแนน แต่การโกงเลือกตั้งคงทำได้ยาก” น.ส. พัชรี กล่าว

การเลือกตั้ง สว. ครั้งนี้ เกิดขึ้นเพื่อทดแทน สว. ชุดล่าสุด 250 คน ที่แต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งหมดวาระไปแล้วตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2567 โดยเป็นการเปิดรับสมัคร ผู้ลงสมัครรับเลือกเป็น สว. ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งวุฒิสภา พ.ศ. 2561 (พ.ร.ป. สว. ฯ) ซึ่งนับเป็นการใช้รูปแบบนี้ครั้งแรก

นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ในฐานะผู้สังเกตการณ์เลือกตั้งเปิดเผยกับสื่อมวลชนว่า พบสถานการณ์ที่อาจเชื่อได้ว่ามีการจัดตั้งมาลงคะแนนให้กัน

“ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ สตูล เพชรบุรี จังหวัดพวกนี้ผู้สมัครเยอะอย่างผิดสังเกต มีอาสาของเราไปอยู่จังหวัดเหล่านี้เจอคนที่มาด้วยกันเป็นกลุ่ม ๆ มีคนที่แต่งตัวเหมือนกันเข้ามาเลือก ซึ่งมันไม่ผิดกฎหมาย ตราบใดที่เขาไม่จ่ายเงินด้วยกัน แต่ว่า มันก็เผยให้เห็นว่า มันเปิดเผยให้เห็นจุดอ่อนของรูปแบบการเลือกตั้ง สว. ครั้งนี้ว่า ใครมีเพื่อนเยอะ เครื่องแบบเหมือนกันก็ได้เปรียบ” นายยิ่งชีพ กล่าว

นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร กล่าวกับสื่อมวลชนหลังลงพื้นที่สังเกตการณ์การเลือกตั้ง สว. เขตจตุจักร กรุงเทพฯ

“การจะไปสังเกตการณ์ว่าการนับคะแนนเป็นเช่นไร การจะไปดูผลการนับคะแนน ยังทำได้ค่อนข้างยากมาก แม้จะมี CCTV ก็ไม่ได้ครอบคลุมทุกมุม ไม่มีการเผยแพร่เสียง แนวปฏิบัติว่าจะให้ผู้สมัครในกลุ่มเดียวกันได้มีการพูดคุยแนะนำตัวกันหรือไม่ เท่าที่ทราบก็พบว่า แต่ละหน่วยมีการปฏิบัติไม่เหมือนกัน ความคงเส้นคงวาในแต่ละหน่วยเป็นสิ่งที่สำคัญและสามารถนำไปปรับใช้ได้ในการเลือกระดับจังหวัด” นายพริษฐ์ กล่าว

“ข้อร้องเรียนที่เราเห็นประชาชนบางส่วนแสดงออกผ่านสื่อสาธารณะ ตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมในใบสมัครรูปเหมือนจะถ่ายที่ร้านเดียวกัน เป็นเพียงข้อสังเกต ผมไม่อยากด่วนสรุปว่าจะมีการฮั้วกัน แต่ท้ายที่สุดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่าง กกต. ก็ควรจะสืบค้นข้อเท็จจริงในกรณีเหล่านี้” นายพริษฐ์ ระบุ

สำหรับการเลือกตั้ง สว. ผู้สมัคร สว. ต้องมีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป จ่ายเงินค่าสมัคร 2,500 บาท ต้องมีประสบการณ์ในสายอาชีพที่จะลงสมัครอย่างน้อย 10 ปี และต้องเกิด หรือมีทะเบียนบ้าน หรือเคยอาศัยทำงาน เรียนในอำเภอที่จะลงสมัครอย่างน้อย 2 ปีขึ้นไป 

มีกลุ่มอาชีพให้เลือกลงรับสมัคร 20 กลุ่มอาชีพ เช่น กลุ่มการบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง, กลุ่มกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม, กลุ่มอาชีพทำนา ปลูกพืชล้มลุก และกลุ่มอื่น ๆ โดยจะให้ผู้สมัครแต่ละคนลงคะแนนเลือกกันเองในกลุ่มอาชีพตั้งแต่ระดับอำเภอ, จังหวัด และประเทศ รวม 3 ระดับ

ในการเลือกระดับประเทศจะให้ผู้มีคะแนนมากที่สุด 40 คนแรกของแต่ละกลุ่มอาชีพ เลือกผู้สมัครจากต่างกลุ่มอาชีพ หลังจากนั้นผู้ที่ได้รับคะแนนมากที่สุด 10 อันดับแรกของแต่ละกลุ่มอาชีพ 20 กลุ่ม จากการเลือกโดยผู้สมัครต่างกลุ่มอาชีพ จะได้เป็น สว. รวม 200 คน และผู้ที่ได้รับคะแนนเป็นอันดับ 11-15 ของแต่ละกลุ่มอาชีพจะนับเป็นรายชื่อ สว. สำรอง 100 คน แต่ สว. ชุดใหม่นี้จะไม่มีสิทธิในการเลือกนายกรัฐมนตรี แบบเดียวกับ สว. ชุดที่แต่งตั้งโดย คสช. 

รุจน์ ชื่นบาน ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน 

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง