เปิดเปลือยโลกเบื้องหลังและชีวิตที่ต้องฟันฝ่าของสาวบริการ

เกริก ประชากุล และ รุจน์ ชื่นบาน
2024.10.31
กรุงเทพฯ
เปิดเปลือยโลกเบื้องหลังและชีวิตที่ต้องฟันฝ่าของสาวบริการ แวว (นามสมมุติ) อายุ 59 ปี ผู้ขายบริการมาเกือบ 30 ปี นั่งรอลูกค้ามาซื้อบริการ ใจกลางกรุงเทพ วันที่ 30 กันยายน 2567
เกริก ประชากุล/เบนาร์นิวส์

“ไม่มีใครภูมิใจมาทำงานอาชีพนี้หรอก แต่ทำไงได้ ความรู้เรามีแค่นี้ แต่เราก็ปลูกบ้านให้พ่อแม่ได้ ส่งน้อง ส่งหลานเรียนได้ ได้ช่วยเหลือญาติพี่น้องเรา เขาไม่รู้หรอกว่าเราได้เงินมาจากการทำงานแบบไหน เขาดีใจ เราก็ดีใจกับเขาด้วย มันทำให้เรามีความสุขมาก” แวว เล่าให้เบนาร์นิวส์ฟัง 

แวว เป็นชาวเชียงราย อายุ 59 ปี เธอเล่าว่า เธอเป็นพนักงานบริการมาแล้วเกือบ 30 ปี จากการชักชวนของเพื่อน ด้วยความที่บ้านมีฐานะยากจน การศึกษาไม่สูง เลยจำเป็นต้องเลือกอาชีพนี้ เธอได้เงินประมาณ 300-400 บาท ต่อการบริการลูกค้าหนึ่งคน ในหนึ่งวันเธอมีลูกค้า 4-5 คน เริ่มงานตั้งแต่เวลาเที่ยงวัน แล้วเลิกงานช่วงดึกก่อนที่รถประจำทางจะหมด

สหพันธ์ผู้ขายบริการทางเพศนานาชาติ (International Union of Sex Workers) ประเมินว่า ไทยมีพนักงานบริการทางเพศ (Sex Worker) กว่า 250,000 แสนคน อยู่ในอันดับ 8 ของโลก แต่อาชีพนี้กลับผิดกฎหมาย พนักงานบริการทางเพศไม่ได้รับการคุ้มครองแบบแรงงานทั่วไป และไม่มีสวัสดิการ

“เฉลี่ยพนักงานบริการหนึ่งคน ดูแลคนข้างหลัง 5 คน เท่ากับพนักงานบริการ 300,000 คน ทั่วประเทศ ดูแลคนข้างหลังเป็นล้านคน มีส่วนในการขยายจีดีพี แต่อาชีพนี้กลับไม่ถูกกฎหมาย สิ่งที่เราเรียกร้องจึงเป็นการทำให้อาชีพนี้ถูกกฎหมาย และมีกฎหมายคุ้มครองในฐานะแรงงานเหมือนอาชีพทั่วไป” ทันตา เลาวิลาวัณยกุล ผู้ประสานงาน มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ (Empower Foundation) กล่าว

อาชีพพนักงานบริการทางเพศ เป็นอาชีพเก่าแก่ที่มีในประเทศไทยมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ในปี 2411 รัฐบาลออกกฎหมายเพื่อเก็บภาษีบำรุงถนน โดยให้ผู้ค้าบริการทางเพศจ่ายภาษี สำหรับการนำไปสร้างถนนเพื่อขยายเมือง ซึ่งหมายความว่า รัฐบาลรับรู้ว่ามีอาชีพค้าบริการทางเพศอยู่จริงและถูกกฎหมาย 

TH-sex-worker-1.jpg
กลุ่มพนักงานบริการ นัดทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์เพื่อติดตามร่าง ร่าง พรบ.คุ้มครองผู้ให้บริการทางเพศ หน้าทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพฯ วันที่ 2 ตุลาคม 2567 (เกริก ประชากุล/เบนาร์นิวส์)

แต่เมื่อสหประชาชาติ (United Nations - UN) ให้ความสำคัญในการปกป้องผู้หญิงและเด็ก รัฐบาลจึงได้ตรา พรบ. ปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2503 ทำให้อาชีพขายบริการทางเพศมีความผิดทางอาญา แม้เวลาผ่านมากว่า 60 ปี รัฐเปลี่ยนมาใช้ พรบ. ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 แทนกฎหมายเดิม แต่อาชีพนี้ก็ยังผิดอยู่ 

“ทุกวันนี้ กฎหมายทำให้พนักงานบริการอยู่ในสถานะไม่ต่างจากอาชญากร แม้จะทำงานอยู่ในสถานบริการที่ถูกกฎหมาย แต่พนักงานบริการกลับเป็นคนทำผิด และไม่มีสถานะลูกจ้าง มันเป็นเรื่องน่าตลก ถ้าเราถูกจับดำเนินคดี เราก็มีสถานะเป็นอาชญากร ไปสมัครงานที่อื่นไม่ได้ เท่ากับว่าเราเลิกอาชีพนี้ไม่ได้ ถูกขังโดยไม่มีอนาคต” ทันตา กล่าว

งานบริการทางเพศคืออาชีพ

วันที่ 2 ตุลาคมที่ผ่านมา กลุ่มพนักงานบริการบาร์, อะโกโก, อาบอบนวด และคาราโอเกะ นัดทำกิจกรรม “ฉันมาทวงกฎหมายของฉันคืน” SEX WORK IS WORK เพื่อเรียกร้องต่อ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีให้ดำเนินการจัดทำ ร่าง พรบ.คุ้มครองผู้ให้บริการทางเพศ ให้เสร็จสมบูรณ์ หลังจากที่ ร่างกฎหมายที่ประชาชนร่วมกันลงชื่อถูกเสนอเข้าสู่การพิจารณาของรัฐตั้งแต่ปี 2566

“มีครั้งนึง ลูกค้าประจำคนหนึ่งมาใช้บริการกับเรา ขอเลี้ยงเบียร์ เราบริการกันไปจนเสร็จกิจก็แยกย้าย ปรากฏว่าโทรศัพท์เราหาย คิดว่าถูกขโมยตอนที่เราไปเข้าห้องน้ำ พอเราไปแจ้งความ ตำรวจบอกว่าจะปรับเรา 1,000 บาท แลกกับการไม่ต้องติดคุก เราถามว่า ปรับเราทำไม ตำรวจบอกว่า เพราะเราขายบริการ แต่เราไม่ใช่ผู้ร้ายนะ เพราะสองคนสมยอมกัน” มะนาว พนักงานบริการทางเพศ-แม่เลี้ยงเดี่ยว เล่าประสบการณ์ให้เบนาร์นิวส์ฟัง

มะนาว คลองหลอด ประกอบอาชีพพนักงานบริการมาตั้งแต่อายุ 28 ปี ปัจจุบันเธออยู่ในอุตสาหกรรมนี้กว่า 20 ปี เธอเปิดเผยว่า แม้มันจะเป็นอาชีพที่มอบหลายอย่างให้กับเธอ แต่ก็นำพาเธอไปอยู่ในสถานการณ์ที่อันตรายหลายครั้งเช่นกัน 

“เพื่อนเราหลายคนโดนตำรวจล่อซื้อ แล้วก็ต้องไปเสียค่าปรับที่โรงพัก บางครั้งก็มีพวกนอกเครื่องแบบมาขอเงินกันดื้อ ๆ 500 บาท ถ้าไม่มีก็ต้องผ่อนเอา บางคนก็ขอหลับนอนแลกด้วยการที่เราจะได้ไม่ต้องจ่ายตังค์ เราก็เถียงอะไรเขาไม่ได้ เพราะต้องหางาน เลี้ยงดูคนข้างหลัง เราก็ต้องยอม ๆ จบ ๆ กันไป เพราะไม่อยากมีปัญหา” มะนาว กล่าว

TH-sex-worker-3.JPG
มะนาว คลองหลอด อายุ 55 ปี ให้สัมภาษณ์พร้อมเรียกร้องให้มีการยกเลิก พรบ. ป้องกันและปราบปราม การค้าประเวณี ปี 2539 เพราะเป็นเครื่องมือในการรีดไถจากหญิงค้าบริการ วันที่ 1 ตุลาคม 2567 (เกริก ประชากุล/เบนาร์นิวส์)

มูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ (Service Workers in Group Foundation - SWING) เสนอว่า หากกระบวนการร่าง พรบ. คุ้มครองผู้ให้บริการทางเพศ ต้องใช้เวลา รัฐบาลควรที่จะมีกฎกระทรวงเพื่อคุ้มครองลูกจ้างในสถานบริการออกมาใช้ชั่วคราว ระหว่างรอการยกเลิกกฎหมายเดิม และทำกฎหมายใหม่ 

“พรบ. ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี เป็นกฎหมายที่ละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์มาก ๆ เพราะคนที่ทำงานตรงนี้เลือกด้วยความสมัครใจ ใช้เนื้อตัวร่างกายของตัวเอง แต่กฎหมายนี้เปิดโอกาสให้ผู้บังคับใช้กฎหมายที่ไม่สุจริตเอาเปรียบ และมาหาประโยชน์จากเขา โดยที่เขาไม่สามารถต่อสู้” สุรางค์ จันทร์แย้ม ผู้ก่อตั้ง และผู้อำนวยการ SWING กล่าว

ก่อนหน้านี้ ในงาน Pride Month เดือนมิถุนายน 2567 เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีในเวลานั้น ยืนยันต่อผู้ร่วมงานว่า จะผลักดันให้อาชีพบริการทางเพศเป็นที่ยอมรับ และมีสิทธิเข้าถึงสวัสดิการต่าง ๆ พนักงานบริการทั่วประเทศจึงเต็มไปด้วยความหวัง

“ทุกวันนี้ เราออกไปยืนทำงาน เราก็อายนะ แต่ขอให้อย่ามาดูถูกเราเลย เราก็ทำงานของเรา เหนื่อยเหมือนกัน ต้องเจอลูกค้าสารพัดอย่าง ถ้าอาชีพนี้มันถูกกฎหมายก็ดี มีสวัสดิการ มีประกันสังคม เหมือนคนทั่วไป เหมือนคนทำงานบริษัท คนก็คงจะยอมรับว่า เราทำงานสุจริต คนก็น่าจะเข้าใจอาชีพเรามากขึ้น” แวว กล่าว

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง