ศาลอุทธรณ์ลดโทษ สุเทพ และพวก คดีชัตดาวน์กรุงเทพฯ
2024.06.27
กรุงเทพฯ
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้โทษจำคุก นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี กับพวกซึ่งเป็นอดีตแกนนำ กปปส. อีก 18 คน เหลือ 8 เดือนถึง 1 ปี 8 เดือน จากคดีชุมนุมปิดกรุงเทพฯ เพื่อขับไล่ น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เมื่อปี 2556-2557 ด้านนักวิชาการชี้ว่า คำพิพากษาอาจเป็นการประนีประนอมของการเมืองแบบไทย ๆ
นายสุเทพ พร้อมกับจำเลยรายอื่น และทนายความ เดินทางมาศาลตามนัดในช่วงเช้า เพื่อเข้าฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ท่ามกลางการสังเกตการณ์ของผู้สนับสนุน และสื่อมวลชนหลายสิบราย
“ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือกันแล้ว พิพากษาแก้โทษ รวมโทษจำคุก นายสุเทพ จำเลยที่ 1 เป็นเวลา 1 ปี ไม่รอลงอาญา” ตอนหนึ่งของคำพิพากษา ระบุ
ศาลอุทธรณ์ตัดสินให้จำคุกจำเลยรายอื่น ๆ รวม 18 คน ตั้งแต่ 8 เดือน ถึง 1 ปี 8 เดือน ส่วนที่เหลือ 19 คนให้ยกฟ้อง โดยหลังฟังคำพิพากษา นายสุเทพไม่ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน
ก่อนหน้านี้ จำเลยทั้งหมด 37 คน ซึ่งเป็นแกนนำคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทย ให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ถูกอัยการสั่งฟ้อง ฐานกบฏ, ก่อการร้าย, อั้งยี่, ซ่องโจร, มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้ายให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองโดยมีอาวุธ และอื่น ๆ
คดีนี้ในปี 2564 ศาลอาญาได้พิพากษาให้ลงโทษนายสุเทพ, นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลฯ, นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, นายถาวร เสนเนียม อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และจำเลยรายอื่นรวม 26 คน ถูกพิพากษาจำคุกตั้งแต่ 4-9 ปี และยกฟ้อง 11 คน
หลังฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ นายสวัสดิ์ เจริญผล ทนายความของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เปิดเผยว่า ศาลได้อนุญาตให้ประกันตัวนายสุเทพ เพื่อต่อสู้คดีในชั้นฎีกา
“ศาลอุทธรณ์ลดโทษเนื่องจากมองว่าเป็นการกระทำกรรมเดียวเหตุต่อเนื่องกัน ต่างจากศาลชั้นต้นที่มองเป็นการกระทำหลายกรรมโทษเลยสูง โดยที่พิพากษาจำคุกไม่รอลงอาญาทั้งหมด 14 คน ส่วนรายอื่นก็มีพิพากษาเเก้ยกฟ้อง” นายสวัสดิ์ กล่าว
ก่อนฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ นายสุเทพได้กล่าวกับสื่อมวลชนว่า “ไม่กังวล ไม่ว่าคำพิพากษาจะออกมาเป็นอย่างไรก็พร้อมน้อมรับ หากคราวนี้ถูกสั่งจำคุกอีก ก็เตรียมเสื้อผ้าชุดกางเกงขาสั้นมาไว้พร้อมแล้ว (สำหรับการนอนในเรือนจำ)”
ต่อคำพิพากษาดังกล่าว ผศ.ดร. โอฬาร ถิ่นบางเตียว อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพาชี้ว่า ผลคำตัดสินอาจสามารถตีความได้ว่าเป็นการรอมชอมทางการเมืองระหว่างกลุ่มผู้เห็นต่างกัน
“ในด้านการเมือง มันคือสัญญาณการประนีประนอม รอมชอมกันแบบไทย ๆ เพราะก่อนนี้คุณทักษิณ ชินวัตร คู่ขัดแย้งหลักของ กปปส. ก็ได้รับอภัยโทษ และมีลักษณะคล้ายการได้รับอภิสิทธิ์ ให้เขาไม่ติดคุกเลยแม้แต่วันเดียว อีกฝ่ายหนึ่งก็มีสิทธิได้รับสิทธิพิเศษ” ผศ.ดร. โอฬาร กล่าวกับเบนาร์นิวส์
“กลุ่มราษฎร 63 คือฝั่งตรงข้ามกับชนชั้นนำ และไม่สามารถประนีประนอมรอมชอมได้ เพราะข้อเสนอของเด็กกลุ่มนี้มันไปกระทบกับสถานะและผลประโยชน์ของชนชั้นนำเกินไป ต่างกับ สุเทพกับทักษิณ ที่ผลประโยชน์ยังร่วมกันได้” ผศ.ดร. โอฬาร กล่าวเพิ่มเติม
ประวัติการต่อสู้ของ กปปส.
การชุมนุมของประชาชนในนาม กปปส. เริ่มขึ้นในเดือนตุลาคม 2556 เพื่อคัดค้านที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย ได้เสนอร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิด เนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน (พรบ.นิรโทษกรรมฯ) ซึ่งมีจุดมุ่งหมายให้เกิดการยกโทษให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องในวิกฤตทางการเมืองทุกคน ซึ่งอาจหมายรวมถึง นายทักษิณ ชินวัตร และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีด้วย
ซึ่งประชาชนบางส่วน ไม่เห็นด้วยกับการร่าง พรบ.นิรโทษกรรมฯ ฉบับนี้ จึงเริ่มชุมนุมครั้งแรกที่ สถานีรถไฟสามเสน และใช้การเป่านกหวีดเป็นสัญลักษณ์ โดยมีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ และสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำในการปราศรัย ต่อมา แม้สภาผู้แทนราษฎรจะถอนร่าง พรบ.นิรโทษกรรมฯ ออกจากการพิจารณาแล้ว แต่การชุมนุมยังคงดำเนินต่อไป โดยเปลี่ยนประเด็นมาเรียกร้องให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นลงจากตำแหน่ง และเรียกร้องการปฏิรูปประเทศไทย เพื่อขับไล่ “ระบอบทักษิณ”
จนกระทั่งเดือนธันวาคม 2556 น.ส.ยิ่งลักษณ์ประกาศยุบสภา เพื่อให้จัดการเลือกตั้งใหม่ แต่ กปปส. ยังคงประท้วงขับไล่รัฐบาลรักษาการของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และขัดขวางการเลือกตั้ง ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ทำให้มีบางหน่วยเลือกตั้งไม่สามารถจัดการเลือกตั้ง และประชาชนบางส่วนไม่สามารถเข้าไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้
ระหว่างการชุมนุมของ กปปส. ผู้ร่วมชุมนุมได้เข้ายึดสถานที่สาธารณะ และสถานที่ราชการหลายแห่ง จนทำให้เกิดการปะทะกับเจ้าหน้าที่ มีการปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมกับกลุ่มผู้คัดค้านการชุมนุม มีการใช้อาวุธสงคราม และระเบิด จนทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 25 คน และบาดเจ็บกว่าหนึ่งพันคน ตลอดระยะเวลาการชุมนุมราว 7 เดือน
ต่อมา ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในเดือนมีนาคม 2557 ว่าการเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 เป็นโมฆะ และวินิจฉัยในเดือนพฤษภาคม 2557 ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีรวม 10 คน พ้นจากตำแหน่ง ทำให้ฝ่ายรัฐบาลไม่มีผู้นำ ทหารจึงประกาศกฎอัยการศึก และประกาศยึดอำนาจในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 โดยการนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในนามคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และ พล.อ.ประยุทธ์ได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ของประเทศไทยจนถึงปัจจุบันศาลอุทธรณ์ลดโทษ สุเทพ และพวก คดีชัตดาวน์กรุงเทพฯ
จรณ์ ปรีชาวงศ์ ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน