ไม่ว่าจะเป็นมวยไทยถึงหนังไทยก็เป็น ซอฟต์พาวเวอร์
2024.01.31
กรุงเทพฯ
ในฐานะครูมวยและนักมวยเก่า ชาญชัย ยมดิษฐ์ รู้ดีว่ามวยไทย กีฬาประจำชาติไทยเป็นที่นิยมของชาวต่างชาติมากขนาดไหนและมีส่วนส่งเสริมการท่องเที่ยวไทยมากเพียงใด
ลูกศิษย์ของอาจารย์ชาญชัยนับไม่ถ้วนทำหน้าที่เป็นทูตด้านมวยไทยและวัฒนธรรมไทย ด้วยการเดินทางไปสอนมวยไทยยังต่างประเทศ นอกเหนือจากชาวต่างชาติมากมายที่เดินทางมาเมืองไทยเพื่อเรียนรู้วิชามวยโดยเฉพาะ
“มวยไทยเป็นเรื่องของคุณค่า ต้องดูมิติของวัฒนธรรม ภูมิปัญญา การอบรม การถ่ายทอด การต่อยอดสื่อสาร มวยไทยเหนือกว่าการต่อสู้ เป็นเรื่องของคุณค่าวัฒนธรรมที่มีอิทธิพล” ครูมวยวัย 65 กล่าว
ในยุคซอฟต์พาวเวอร์ในปัจจุบัน ความนิยมของมวยไทย อาหารไทย ศิลปวัฒนธรรมไทยเป็นเรื่องที่สามารถโปรโมทได้ผ่านงบประมาณหลายพันล้านบาท โดยเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายของรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน เพื่อสร้างงานในเศรษฐกิจสร้างสรรค์และดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้าประเทศเพื่อสร้างรายได้ โดยได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติเพื่อทำงานที่เกี่ยวข้องด้านซอฟต์พาวเวอร์ทั้งหมด
“เราผลักดันเรื่องนี้เพื่อนำไปสู่การสร้างเศรษฐกิจ เพราะที่ผ่านมาเราบอกว่า ประเทศไทยต้องปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ โครงสร้างการหารายได้ได้แล้ว" นพ. สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี กรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ กล่าวในการให้สัมภาษณ์ทางรายการโทรทัศน์ในเดือนพฤศจิกายน
"นี่คือวิธีการที่เราจะเปลี่ยนวิธีการสร้างรายได้ของประเทศไทย จากที่เคยเป็นอุตสาหกรรมการลงทุนจากต่างประเทศ แต่ผลตอบแทนสู่คนไทยน้อย เราพึ่งพาการส่งออกมากเกินไป พึ่งพาการลงทุนจากต่างประเทศมากจนเกินไป ดังนั้นจึงต้องการทำให้คนไทยมีทักษะสูง มีความคิดสร้างสรรค์และนำความคิดสร้างสรรค์กับทักษะนั้นออกไปสู่ตลาดโลก และนำเงินตรากลับเข้ามาในประเทศได้”
ซาฮาร์ ซาฟารี (ซ้าย) นักมวยจากอิหร่าน และเดือนนภา ส.แก่นชาญชัย (กลาง) จากประเทศไทย แข่งขันกันที่สนามมวยลุมพินี ในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2566 (เอเอฟพี)
การทำงานซอฟต์พาวเวอร์ของไทยเป็นการทำงานคล้ายคลึงกับการทำงานด้านซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งส่งเสริมสินค้าทางวัฒนธรรม ทั้งเคป็อป ปิ้งย่าง ภาพยนตร์นีโอนัวร์ เทควันโด และอีกมากมาย
“ทุกวันนี้มียิมสอนมวยไทย 40,000 แห่งทั่วโลก สำหรับมวยไทยขนาดธรรมชาติยังขนาดนี้เลย ถ้ามีการวางแผนจะดีแค่ไหน” นพ. สุรพงษ์ กล่าวโดยเสริมว่ารัฐบาลเกาหลีใต้มีการส่งเสริมผลักดันเทควันโดทั่วโลกตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา
นพ. สุรพงษ์ ยังได้กล่าวว่า ซอฟต์พาวเวอร์มีที่มาจากโจเซฟ ไน นักทฤษฎีด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ซึ่งเป็นผู้คิดค้นคำดังกล่าวขึ้นในปี 2533 ช่วงก่อนสิ้นสุดยุคสงครามเย็น
โจเซฟ ไน ออกหนังสือชื่อ “Soft Power: The Means to Success in World Politics” ในปี 2547 ซึ่งทำให้เกิดการถกเถียงอย่างกว้างขวางในประเด็นที่ว่าประเทศต่าง ๆ สามารถสร้างอิทธิพลและเผยแพร่ค่านิยมของตนผ่านการโน้มน้าวไม่ใช่การบีบบังคับได้อย่างไร
นพ. สุรพงษ์ ได้กล่าวอีกว่า รัฐบาลต้องการใช้คำว่าซอฟต์พาวเวอร์ แทนคำว่า เศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพราะคำดังกล่าวกินความหมายกว้างขวางกว่า
ความฝันด้านซอฟต์พาวเวอร์
ครูมวย อาจารย์ชาญชัย กล่าวว่า ตนเองเคยเดินทางไปดูงานด้านเทควันโดที่ประเทศเกาหลีใต้ โดยพบว่ารัฐบาลมีการสนับสนุนอย่างมาก ในขณะที่ที่ประเทศไทยข้าราชการมักเป็นอุปสรรคในการบริหารจัดการรูปแบบดังกล่าว
โดยคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติได้ถูกจัดตั้งขึ้นมา เพื่อรวมศูนย์การทำงานและขจัดกฏระเบียบที่เป็นอุปสรรค โดยมีแพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ดำรงตำแหน่งรองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติและประธานคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ โดยได้มีการตั้งงบประมาณไว้ที่ 5.1 พันล้านบาทครอบคลุม 11 ด้าน ได้แก่ อาหาร กีฬา เฟสติวัล ท่องเที่ยว ดนตรี หนังสือ ภาพยนตร์ เกม ศิลปะ การออกแบบ และแฟชั่น
แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย โต้ตอบหลังกล่าวปราศรัยที่สำนักงานใหญ่พรรคเพื่อไทย กรุงเทพฯ วันที่ 27 ตุลาคม 2566 (เอพี)
โครงการที่ได้มีการนำเสนอในช่วงที่ผ่านมาได้แก่ การจัดงบประมาณให้ผู้ผลิตภาพยนตร์เข้าร่วมเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ แก้ไขกระบวนการพิจารณาเซ็นเซอร์ภาพยนตร์ การเสนอการยกเว้นวีซ่าให้ชาวต่างชาติที่ต้องการเรียนมวยไทยในเมืองไทย การนำเสนอหนังสือไทยในเทศกาลหนังสือนานาชาติและการจัดเตรียมงบประมาณสำหรับการจัดเทศกาลสงกรานต์ยาวนานหนึ่งเดือนตลอดเดือนเมษายน
เป้าหมายของงานด้านซอฟต์พาวเวอร์ของไทยคือต้องการสร้างงาน 20 ล้านตำแหน่งและสร้างรายได้อย่างน้อย 4 ล้านล้านบาทต่อปี ภายในปี 2570
เชฟชุมพล แจ้งไพร ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ด้านอาหาร เปิดเผยกับสื่อในเดือนธันวาคมถึงแผนงานที่จะฝึกฝนเชฟหนึ่งคนต่อหนึ่งหมู่บ้าน โดยตั้งเป้าว่าปีแรกต้องการฝึกฝนเชฟ 10,000 คนและราว 75,000 คนในช่วงเวลาสี่ปี
โดยในอนาคตจะมีการจัดตั้ง Thailand Creative Content Agency หน่วยงานรวมศูนย์งานด้านซอฟต์พาวเวอร์ในรูปแบบเดียวกับ Korea Creative Content Agency นั่นเอง
การโน้มน้าวใจคน
ก้อง ฤทธิ์ดี นักวิจารณ์ภาพยนตร์ สนับสนุนการทำงานด้านซอฟต์พาวเวอร์ของไทย
“เป็นสัญญาณที่ดี ของพวกนี้ต้องทำยาว ๆ ใจเย็น ๆ ต้องพร้อมที่จะคอมมิทกับมันไปยาว ๆ ให้ออกดอกออกผล จะเรียกคำนี้ว่า ซอฟต์พาวเวอร์ก็ได้ หรือเรียกว่า เศรษฐกิจสร้างสรรค์หรือการส่งออกทางวัฒนธรรมก็ได้ เนื้อแท้คือการสร้างสรรค์ คือการสนับสนุนผู้ทำงานทางด้านวัฒนธรรม”
อย่างไรก็แล้วแต่ นักวิเคราะห์รายอื่นมีมุมมองในเชิงวิพากษ์ต่อนโยบายนี้ รศ. ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ จากมหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า “ถ้าเราดูการสร้างเคป็อปของเกาหลี งบห้าพันล้านของเราเล็กน้อย อยากได้ผลพวงในระดับโลกแต่ลงทุนในระดับประเทศ มันยาก รัฐบาลเกาหลีลงทุนหนักหน่วงต่อเนื่อง มีการวางสเต็ปหลายปี ก่อนจะเป็นเคป็อประดับโลก ในประเทศไทยยังไม่เห็นการวางไข่เพื่อจะออกเป็นผลิตผลในระดับโลกได้”
รศ. ธำรงศักดิ์กล่าวต่อว่า “ตอนนี้เห็นแค่ตลาดในประเทศเท่านั้น ซึ่งก็สร้างความนิยมใหักับรัฐบาลเพื่อไทยมากกว่า”
ผู้คนเล่นสาดน้ำกันอย่างสนุกสนานในวันแรกของเทศกาลสงกรานต์ ที่ถนนข้าวสาร กรุงเทพฯ วันที่ 13 เมษายน 2566 ไทยได้จัดสรรงบประมาณเพื่อส่งเสริมเทศกาลประจำปี ภายใต้การรณรงค์ซอฟต์พาวเวอร์ (เอเอฟพี)
ผศ. มาร์ค โคแกน แห่งมหาวิทยาลัยคันไซไกได ในประเทศญี่ปุ่น ให้ความเห็นว่า คณะกรรมการที่มีแพทองธารเป็นประธานน่าจะเป็นการ “ขัดเกลาหรือแสดงซึ่งความรู้ความสามารถ ก่อนที่แพทองธารอาจจะรับตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีหรือตำแหน่งที่สูงกว่านั้นก็ได้”
ผศ. โคแกน กล่าวว่า ซอฟต์พาวเวอร์จะได้ผลที่สุดเมื่อไม่ต้องมีการป่าวประกาศแต่อย่างใด
ซอฟต์พาวเวอร์เป็นอะไรที่มักไม่ต้องโจ่งแจ้งและไม่ได้เกิดจากรัฐบาล แต่เกิดจากค่านิยมและวัฒนธรรมของประชากร ซอฟต์พาวเวอร์เป็นความสามารถในการดึงดูดมาจากความชอบธรรมของค่านิยมที่มี ดังนั้นจึงไม่มีใครมาป่าวประกาศว่า “ดูสิ ตัวฉันน่าดึงดูดแค่ไหน”
“มวยไทยเป็นสิ่งที่น่าดึงดูดและควรได้รับการโปรโมท แต่การบอกว่าต้องโปรโมทมวยไทย เป็นซอฟต์พาวเวอร์ค่อนข้างน่ากระอักกระอ่วน สิ่งที่ต้องทำก็คือโปรโมทมวยไทย แค่นั้นเอง”