เทศบาลนครยะลาทุ่ม 100 ล้านบาท ซื้อวัคซีนโควิด-19 ฉีดให้ประชาชนในพื้นที่

มารียัม อัฮหมัด
2021.01.14
ปัตตานี
เทศบาลนครยะลาทุ่ม 100 ล้านบาท ซื้อวัคซีนโควิด-19 ฉีดให้ประชาชนในพื้นที่ เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ ขณะนั่งพัก จากการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ในศูนย์ตรวจแบบไดร์ฟทรู ที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ในกรุงเทพฯ วันที่ 8 มกราคม 2564 หลังรัฐออกข้อจำกัดเพิ่มเติม เนื่องจากการระบาดระลอกใหม่
เอเอฟพี

ในวันพฤหัสนี้ นายกเทศมนตรีนครยะลา เปิดเผยว่ามีแผนที่จะอนุมัติเงิน 100 ล้านบาทเพื่อซื้อวัคซีนโควิด-19 ฉีดให้ประชาชนกว่า 7 หมื่นคนในพื้นที่เขตเทศบาลนครยะลา ด้านชาวบ้านในพื้นที่เห็นด้วยกับการจัดซื้อดังกล่าว ชี้เป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้เศรษฐกิจ ขณะที่สถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงต้องเฝ้าระวังอย่างหนักโดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส หลังพบชายวัย 20 ปีที่เดินทางกลับมาจากโรงงานในจังหวัดสมุทรสาครมีผลตรวจโควิด-19 เป็นบวก พร้อมเพิ่มจุดคัดกรองเข้า-ออกจังหวัด 7 จุด

นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา กล่าวว่า สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 รอบสอง จังหวัดยะลายังไม่พบผู้ติดเชื้อในพื้นที่ ซึ่งคาดว่าเป็นผลสืบเนื่องมาจากการคัดกรองเชิงรุก และระดมค้นหาในทุกครัวเรือน แต่จากข่าวที่ระบุว่า หลายจังหวัดกำลังดำเนินการซื้อวัคซีนโควิด-19 เพื่อฉีดให้กับประชาชนในพื้นที่ เทศบาลนครยะลาก็พร้อมที่จะดำเนินการเช่นกัน 

“หากองค์การเภสัชกรรม หรือกระทรวงสาธารณสุข คิดว่าทางท้องถิ่นมีความพร้อมในการจัดหาวัคซีน ทางเทศบาลนครยะลา ก็ไม่ขัดข้องที่จะจัดหาวัคซีน มาเติมเต็มในส่วนของประชาชนในเขตของเทศบาลนครยะลา” นายพงษ์ศักดิ์ กล่าว

“เขตเทศบาลนครยะลา มีประชากรประมาณ 7 หมื่นคน อาจจะต้องใช้งบประมาณ 100 ล้านบาท ในการจัดหาวัคซีนให้กับพี่น้องประชาชน ซึ่งในส่วนของเงินสะสมของเทศบาลนครยะลาขณะนี้ มีเพียงพอในการจัดหาวัคซีน แต่ในขณะเดียวกันทางเทศบาลก็จะทำการเร่งตรวจหาคนที่มีเชื้อ ซึ่งปัจจุบันสิ่งที่น่ากลัวคือคนที่มีเชื้อแล้วไม่แสดงอาการ จึงจะต้องมีการวางแผนในการตรวจหาเชื้อด้วยวิธีใหม่ ที่มีความรวดเร็ว และเชื่อถือได้” นายกเทศมนตรีนครยะลา กล่าวเพิ่มเติม

การเปิดเผยของ นายพงษ์ศักดิ์ สืบเนื่องจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวแก่สื่อมวลชนวานนี้ว่า รัฐบาลมิได้ห้ามหน่วยงานท้องถิ่นจัดหาและนำเข้าวัคซีนโควิด-19 โดยใช้งบประมาณของท้องถิ่นเอง ซึ่งปัจจุบัน ภาคใต้มี 4 จังหวัดที่มีแผนจัดซื้อวัคซีนโดยใช้งบประมาณท้องถิ่นจัดหาด้วยตัวเอง

โดยในจังหวัดกระบี่ เทศบาลคลองท่อมใต้ได้เปิดเผยว่า เตรียมใช้งบประมาณสะสมราว 4 ล้านบาท เพื่อจัดซื้อวัคซีนโควิด-19 เพื่อมาฉีดให้ประชาชนในเขตเทศบาล จำนวน 2 เข็มต่อคน โดยมีค่าใช้จ่ายคนละ 1,000 บาท ขณะที่เทศบาลนครสุราษฎร์ธานี ก็เตรียมพร้อมงบประมาณกว่า 130 ล้านบาทเพื่อจัดซื้อวัคซีนโควิด-19 เช่นกัน

ขณะที่ เทศบาลนครภูเก็ต ได้เตรียมงบประมาณกว่า 45 ล้านบาท เพื่อจัดซื้อวัคซีนให้กับประชาชน ในตำบลตลาดเหนือ และตำบลตลาดใหญ่ เช่นเดียวกับ เทศบาลเมืองป่าตอง ที่มีแผนใช้จ่ายงบประมาณกว่า 30 ล้านบาท จัดซื้อวัคซีนให้กับประชาชน ขณะที่เทศบาลนครยะลา เป็นอีกท้องถิ่นนึงที่มีแผนจัดสรรวัคซีนดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ตามมาตรการที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยคือ หากท้องถิ่นต้องการจัดซื้อวัคซีนโควิด-19 จำเป็นต้องมีกระบวนการรอความเห็นชอบจาก คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และเสนอเรื่องให้รัฐบาลอนุมัติ

ต่อแผนการจัดซื้อวัคซีนของเทศบาลนครยะลา น.ส.รอฮานา กามา ชาวบ้านเขตเทศบาลนครยะลา กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า รู้สึกดีใจมาก หากมีการจัดซื้อวัคซีนโควิด-19 จริง เพราะเชื่อว่าจะทำให้ทุกคนในเขตเทศบาลไม่ต้องกลัวโควิด-19 อีกต่อไป

“เรายังไม่รู้เลยว่า วัคซีนจะสามารถป้องกันผู้คนได้ทั้งหมดหรือเปล่า จึงอาจต้องทำร่วมกันทั้งการฉีดวัคซีน พร้อมกับการป้องกันตัวเองด้วยเพื่อความไม่ประมาท อยากขอบคุณนายกเทศบาล ที่เห็นความสำคัญ เพราะเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ไม่ต่างเรื่องจากปากท้องของชาวบ้าน” น.ส.รอฮานา ระบุ

ขณะเดียวกัน นายมีสกัน สาและ ชาวบ้านจากจังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า เรื่องจัดหาวัคซีนเป็นเรื่องที่ดี อยากให้ทุกจังหวัดเห็นความสำคัญเรื่องนี้เช่นเดียวกับเทศบาลนครยะลา

“อยากให้ทุกจังหวัด ทุกหน่วยงานมีวัคซีนให้ชาวบ้าน ให้คนไทยทุกคน เราจะได้มาต่อสู้แค่เรื่องเศรษฐกิจก็พอ ไม่ต้องมานั่งกลัวว่าจะติดโควิด ก็อยากให้รัฐบาลเห็นความสำคัญตรงนี้” นายมีสกัน กล่าว

ต่อการจัดซื้อวัคซีนโดยองค์กรท้องถิ่น พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวแก่สื่อมวลชนว่า รัฐบาลท้องถิ่นสามารถทำได้ตามอำนาจหน้าที่ในการจัดซื้อดูแลประชาชน

“การดำเนินการจัดซื้อวัคซีนต้องผ่านการรับรอง อย. และจะต้องพิจารณาแผนการดำเนินการฉีดวัคซีนให้ประชาชนของรัฐบาลด้วยว่าต้องไม่ซ้ำซ้อนกัน หากรัฐบาลสามารถดำเนินการเองได้หมดหรือจัดให้สำหรับประชาชนทั้งประเทศ ท้องถิ่นก็ไม่ต้องดำเนินการ” พล.อ.อนุพงษ์ ระบุ

ก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจว่า คนไทยจะได้ฉีดวัคซีนโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย รวมถึงไทยจะพัฒนาวัคซีนของตัวเอง เพื่อที่จะกลายเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ โดยวัคซีน 2 ล้านโดส จากบริษัท ซิโนแวค ประเทศจีน มูลค่า 1,228 ล้านบาท จะถูกนำเข้าประเทศไทยในเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน 2564 ใช้ฉีดให้บุคลากรทางการแพทย์ และผู้สูงอายุ 2 แสนโดส เดือนมีนาคมและเมษายน จะได้รับอีก 8 แสนโดส และ 1 ล้านโดส ตามลำดับ ขณะที่อีก 26 ล้านโดส ซึ่งรัฐบาลได้จองกับบริษัท แอสตราเซเนกา มูลค่า 6,049 ล้านบาท จะมีการส่งมอบในเดือนพฤษภาคม และส่วนที่จัดหาเพิ่มเติมอีก 35 ล้านโดส โดยยังไม่ระบุมูลค่าสัญญาซื้อขาย จะทยอยอนุมัติและส่งมอบต่อไป ทำให้รวมทั้งหมดไทยนำเข้าวัคซีนทั้งสิ้น 63 ล้านโดส

อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุขเปิดเผยว่า ปัจจุบัน ทั่วโลกวัคซีนที่ผ่านการขึ้นทะเบียนในประเทศต้นทางแล้ว 5 ชนิด คือ 1. วัคซีน บ.ไฟเซอร์ฯ สหรัฐอเมริกา/เยอรมนี มีประสิทธิภาพ 95 เปอร์เซ็นต์  2. วัคซีน บ.โมเดอร์นา สหรัฐอเมริกา ประสิทธิภาพ 94.5 เปอร์เซ็นต์ 3. วัคซีน บ.แอสตราเซเนกา อังกฤษ/สวีเดน ประสิทธิภาพ 62- 90 เปอร์เซ็นต์ 4. วัคซีนสปุตนิกวี รัสเซีย ประสิทธิภาพ 92 เปอร์เซ็นต์ และ 5. วัคซีน สถาบันผลิตภัณฑ์ชีววิทยาปักกิ่ง จีน ประสิทธิภาพ 79 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ วัคซีน บ.ซิโนแวค ของจีน ประสิทธิภาพ 78 เปอร์เซ็นต์ อยู่ระหว่างการขึ้นทะเบียน ในประเทศจีน และไทย โดยล่าสุด กระทรวงสาธารณสุขเปิดเผยว่า จะพยายามให้วัคซีนที่จะนำเข้ามาในประเทศไทย ผ่านการขึ้นทะเบียนภายในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2564

นราธิวาสเพิ่ม 7 จุดตรวจโควิด ก่อนเข้าจังหวัด

ในวันเดียวกัน นายเจษฎา จิตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาสได้ออกคำสั่งให้เพิ่มจุดตรวจ-จุดสกัด 7 แห่ง หลังจากที่พบว่า ชายชาวยะลา อายุ 20 ปี คนหนึ่ง ซึ่งทำงานในโรงงานปลากระป๋อง และพักอาศัยอยู่ในหอพัก ที่ ต.ท่าทราย อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ได้เข้ารายงานตัวที่ ศูนย์คัดกรอง สสอ.รือเสาะ โดยมีการตรวจโควิด-19 และ พบว่ามีผลตรวจเป็นบวก ในวันที่ 13 มกราคม 2564

“ออกคำสั่งจังหวัดนราธิวาส ให้จัดตั้งด่านตรวจจุดสกัด เพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า โดยตั้งด่านตรวจความมั่นคงและจุดสกัดทั้ง 7 แห่ง ประกอบด้วย จุดตรวจสะพานกอตอ หมู่ที่ 7 ตำบลปะลุกาสาเมาะ อำเภอบาเจาะ จุดตรวจหน้าค่ายจุฬาภรณ์ หมู่ที่ 4 ตำบลโคกเคียน อำเภอเมืองนราธิวาส จุดตรวจหน้าวัดเชิงเขา หมู่ที่ 4 ตำบลปะลุกาสาเมาะ อำเภอบาเจาะ จุดตรวจชุดคุ้มครองตำบลสุวารี หมู่ที่ 4 ตำบลสุวารี อำเภอรือเสาะ จุดตรวจชุดคุ้มครองตำบลเรียง หมู่ที่ 3 ตำบลเรียง อำเภอรือเสาะ จุดตรวจบ้านคลองหงส์ หมู่ที่ 3 ตำบลตะมะยูง อำเภอศรีสาคร จุดตรวจ 4909 หมู่ที่ 1 ตำบลกาหลง อำเภอศรีสาคร” นายเจษฎา กล่าว

“ที่เดินทางมาจากจังหวัดที่เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดเข้ามาในจังหวัดนราธิวาส ทางบก ทางอากาศ และทางรถไฟ ให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและควบคุมโรค โดยต้องไปรายงานตัวกับบุคลากรสาธารณสุขประจำอำเภอ รับการกักตัว ตามแนวทางที่จังหวัดนราธิวาสกำหนด โดยจะพิจารณารูปแบบหรือชนิดการกักตัวหรือการเฝ้าสังเกตอาการ” นายเจษฎา ระบุ

ในวันเดียวกัน นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ได้แถลงสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยประจำวันนี้ว่า ไทยพบผู้ติดเชื้อยืนยันใหม่ 271 ราย โดยเป็นการติดเชื้อในประเทศ 259 ราย ติดเชื้อจากต่างประเทศ 12 ราย ส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อสะสม 11,262 ราย ปัจจุบัน หายป่วยแล้ว 7,660 ราย ยังรักษาในโรงพยาบาล 3,533 ราย และโดยมีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 2 ราย ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 69 ราย

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง