สมาคมโรงเรียนเอกชนใต้ร้องประวิตรคุมกัญชาเสรี

นนทรัฐ ไผ่เจริญ และคุณวุฒิ บุญฤกษ์
2022.09.01
กรุงเทพฯ และเชียงใหม่
Share on WhatsApp
Share on WhatsApp
สมาคมโรงเรียนเอกชนใต้ร้องประวิตรคุมกัญชาเสรี เด็กนักเรียนมุสลิมในห้องเรียน ที่โรงเรียนสอนศาสนา ซึ่งมีการสอนภาษายาวี ในอำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี ภาพเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2557
เอเอฟพี

ตัวแทนสมาคมสมาพันธ์โรงเรียนเอกชนภาคใต้ ยื่นหนังสือที่รัฐสภาในวันพฤหัสบดีนี้ เรียกร้องให้ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในฐานะรักษาการนายกรัฐมนตรี ออกมาตรการควบคุมการใช้กัญชาอย่างเสรี และขอให้รัฐสภาทบทวนการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับกัญชา รวมทั้งอีกกว่า 20 องค์กรมุสลิม ร่วมแถลงก่อนหน้าว่า กฎหมายปัจจุบันขัดต่อหลักศาสนาอิสลาม

นายอับดุลสุโก ดินอะ ในฐานะตัวแทนสมาคมสมาพันธ์โรงเรียนเอกชนภาคใต้ ได้เดินทางไปยื่นหนังสือถึง นพ. สุกิจ อัถโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร ขอให้ทบทวนการบังคับใช้กฎหมายกัญชาเสรี และเรียกร้อง พลเอก ประวิตร ให้มีมาตรการเร่งด่วนในการควบคุมเรื่องนี้

“นายกรัฐมนตรี ซึ่งปัจจุบันนี้ ท่านประวิตร วงษ์สุวรรณ มีอำนาจเต็มในฐานะรักษาการนายกรัฐมนตรี ใช้อำนาจในการออกพระราชกำหนดให้กัญชายังเป็นยาเสพติด จนกว่าจะมีกฎหมายกัญชาออกมาบังคับใช้” นายอับดุลสุโก กล่าว

“เสนอแนะให้ปิดสภาวะสูญญากาศทันที สอดคล้องกับองค์กรต่าง ๆ ที่ได้เสนอแนะก่อนหน้านี้ โดยออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข ให้ชะลอการบังคับใช้ ประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับปลดกัญชาจากการเป็นยาเสพติดออกไปก่อน จนกว่าจะมีมาตรการควบคุมที่เพียงพอ หรือประกาศให้กัญชาครอบคลุม ดอก ยา สารสกัด และยางกัญชาเป็นยาเสพติด ให้โทษในประเภท 2 ซึ่งใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ได้เหมือนกับมอร์ฟีน” นายอับดุลสุโก ระบุ

ด้าน นพ. สุกิจ มิได้ให้แสดงความเห็นต่อเรื่องนี้ เพียงแต่รับหนังสือ และจะนำเสนอต่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร

นายไพฑูรย์ เมฆลอย สัปปุรุษประจำมัสยิดซอลีฮุสสลาม กรุงเทพฯ กล่าวกับเบนาร์นิวส์ถึงการเรียกร้องดังกล่าวว่า “เข้าใจนะว่าเราไม่ได้อยู่ในประเทศที่มีอิสลามเป็นศาสนาประจำชาติ.. แต่ก็อยากให้เข้าใจพวกเราเหมือนกันว่า เราจำเป็นต้องคัดค้านสิ่งที่ศาสนาห้ามเอาไว้ก่อน เพราะต้องยอมรับว่าเด็ก ๆ ในโรงเรียนประจำ หรือปอเนาะเนี่ย มีวิธีผ่อนคลายของตัวเองหลายอย่าง และยาเสพติดก็เป็นหนึ่งในนั้น หากกัญชายิ่งหาง่ายกว่าเดิม เยาวชนของเราก็จะยิ่งออกห่างจากสังคมมากขึ้นไปอีก”

ทั้งนี้ สมาคมสมาพันธ์โรงเรียนเอกชนภาคใต้นั้น ประกอบด้วย โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามจำนวน 400 โรงเรียนทั่วภาคใต้ ครูจำนวน 80,000 คน นักเรียนจำนวน 500,000 คน

ส่วนกัญชาถือว่าไม่ใช่ยาเสพติดให้โทษอีกต่อไป สืบเนื่องจาก วันที่ 26 พฤษภาคม 2564 รัฐบาลได้แก้ไข พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ ถอดกัญชาออกจากบัญชียาเสพติดประเภท 5 และวันที่ 5 มกราคม 2565 คณะกรรมการยาเสพติดแห่งชาติ ก็มีมติให้ถอดกัญชาออกจากบัญชียาเสพติดโดยสิ้นเชิง และให้มีผลบังคับใช้หลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา 120 วัน ซึ่งตรงกับวันที่ 9 มิถุนายน 2565 (สารสกัดจากกัญชา-กัญชง ซึ่งมีสาร THC มากกว่า 0.2% ยังผิดกฎหมาย)

องค์กรมุสลิมแถลงกัญชาเสรี ขัดต่อหลักศาสนาอิสลาม

ต่อการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว เมื่อเดือนกรกฎาคม 2565 องค์กรด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัว กว่า 33 องค์กร นำโดย นางทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก สภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย ฯลฯ ได้เข้ายื่นหนังสือเรียกร้องเรื่องดังกล่าวที่อาคารรัฐสภา คัดค้านการใช้กัญชาอย่างเสรี เนื่องจากเกรงว่าจะมีผลกระทบกับเด็กและเยาวชน และในเดือนเดียวกัน 25 องค์กรมุสลิม ก็ได้มีแถลงการณ์ร่วมคัดค้านการเปิดเสรีกัญชาด้วยเช่น เพราะเห็นว่าเป็นการขัดต่อหลักศาสนาอิสลาม

อย่างไรก็ตาม นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะผู้ผลักดันการปลดกัญชาออกจากบัญชียาเสพติด ยืนยันมาโดยตลอดว่า “รัฐบาลไม่สนับสนุนให้มีการใช้กัญชาเพื่อสันทนาการ” และเหตุผลที่มีการปลดกัญชาออกจากบัญชียาเสพติดเพื่อเหตุผลทางการแพทย์

ในวันพุธที่ผ่านมา นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย และประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติกัญชา กัญชง (ฉบับที่...) พ.ศ. ... ได้แถลงต่อสื่อมวลชนที่อาคารรัฐสภา ระบุว่า กมธ. กัญชา-กัญชง ได้ร่างกฎหมายดังกล่าวเสร็จสิ้นแล้ว แต่ยังไม่ได้มีการระบุว่าจะนำร่างกฎหมายนี้เข้าสู่การพิจารณาเมื่อใด

“ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว เข้าสู่การพิจารณารวมทั้งสิ้น 18 ครั้ง พิจารณากันอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ จนที่สุดแล้วร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมีเพิ่มขึ้นมา รวมทั้งสิ้น 95 มาตรา ได้พิจารณาโดยรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องที่ได้เสนอความคิดเห็นต่าง ๆ เข้ามาอย่างสมบูรณ์… เป็นครั้งแรกในประเทศเอเชียที่มีกฎหมายลักษณะนี้เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม ขอยืนยันว่ากฎหมายที่เราได้พิจารณาแล้วเสร็จนี้ ทำให้พี่น้องประชาชน มั่นใจได้ว่าจะเป็นประโยชน์ในทุกมิติ “ นายศุภชัย กล่าว

ทั้งนี้ สาระสำคัญของ ร่าง พ.ร.บ. กัญชา-กัญชง คือ 1. ผู้ปลูกทุกคนต้องมีการจดแจ้ง และขอนุญาต การปลูกสำหรับใช้ในครัวเรือนสามารถปลูกได้ไม่เกิน 15 ต้น แต่หากปลูกเพื่อการพาณิชย์ปลูกได้ไม่เกิน 5 ไร่ โดยไม่เก็บค่าธรรมเนียม ซึ่งถ้าปลูกมากกว่านั้นจะมีการเก็บค่าธรรมเนียม 2. จะมีการกำหนดให้กัญชาที่มีสารมึนเมา (THC) มากกว่าปริมาณที่กฎหมายกำหนดเป็นยาเสพติด แต่ถ้าหากมี THC ต่ำกว่านั้นไม่นับเป็นยาเสพติด 3. ห้ามจำหน่ายให้กับเด็กเยาวชนต่ำกว่าอายุ 20 ปี สตรีมีครรภ์ และสตรีให้นมบุตร ฝ่าฝืนจะมีโทษจำคุกสูงสุด 3 ปี ปรับไม่เกิน 300,000 บาท เป็นต้น

ขั้นตอนการบังคับใช้ ร่าง พ.ร.บ. กัญชา-กัญชง คือ หลังจากนี้ ร่างกฎหมายจะถูกเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร วาระ 2 และ 3 หากผ่านความเห็นชอบจะเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภา ถ้าผ่านก็จะถูกส่งให้นายกรัฐมนตรีทูลเกล้าฯ ให้ในหลวงทรงลงพระปรมาภิไธย และเมื่อประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา ก็จะถือว่าบังคับใช้เป็นกฎหมาย

นักวิชาการ : ควรเรียกร้องโดยแยกศาสนาออกจากรัฐ

ขณะเดียวกัน นายฮานีฟ สาลาม นักวิจัยโครงการพหุวัฒนธรรมทางศาสนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เห็นว่าการเรียกร้องเรื่องที่ขัดกับหลักศาสนาเข้าใจได้ แต่ในอีกทางหนึ่งอาจเป็นจุดอ่อนด้วยเช่นกัน

“การอ้างหลักศาสนามาเป็นเหตุผล ก็เป็นจุดอ่อนที่ทำให้สังคมไทยเห็นเป็นเรื่องส่วนบุคคลไป พูดให้ถึงที่สุดเลย สิ่งที่จะทำให้ทุกฝ่ายรู้สึกแฟร์ รู้สึกมีคุณค่า และมีส่วนร่วมกับกระบวนการของรัฐ เราคงต้องมองไกลไปถึงการแยกศาสนาออกจากรัฐ แล้วข้อถกเถียงเหล่านี้มันจะแฟร์ขึ้น ไม่ได้วางอยู่บนพื้นฐานของการเรียกร้องของศาสนาที่มีคนจำนวนน้อย ภายใต้รัฐศาสนาที่มีศาสนาพุทธเป็นหนึ่งในศูนย์กลางอำนาจ” นายฮานีฟ กล่าว

นายอิสมาแอล ฮะรี ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลา เปิดเผยแก่เบนาร์นิวส์ก่อนหน้าเมื่อปี 2559 ว่า “เราชาวมุสลิมทุกคน ไม่เอา ไม่เห็นด้วย ไม่สนับสนุน ไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด ยานรกทุกชนิด เชื่อว่าปัญหายาเสพติด คือหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เกิดความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้”

ซึ่งพลเอก ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ก็ได้กล่าวถึงปัญหายาเสพติดในปีเดียวกัน

“ความรุนแรงโดยกลุ่มขบวนการก่อความไม่สงบในพื้นที่ ปัจจุบันมีแค่ 5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น อีก 95 เปอร์เซ็นต์ ที่ซ้ำเติมสถานการณ์ ที่เราเรียกว่า ภัยแทรกซ้อน ผลประโยชน์เรื่องของยาเสพติด สิ่งผิดกฎหมาย อิทธิพล น้ำมันเถื่อน การเมืองท้องถิ่น เรื่องส่วนตัว” พลเอก ปราโมทย์ กล่าวกับเบนาร์นิวส์

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง