ศาล รธน. รับคำร้องวินิจฉัย เศรษฐา พ้นนายกฯ

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2024.05.23
กรุงเทพฯ
ศาล รธน. รับคำร้องวินิจฉัย เศรษฐา พ้นนายกฯ นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน พูดคุยกับสื่อมวลชนภายนอกทำเนียบรัฐบาล ก่อนถ่ายภาพหมู่กับคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ วันที่ 7 พฤษภาคม 2567
ลิเลียน สุวรรณรัมภา/เอเอฟพี

ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับคำร้องของ สว. ที่ให้วินิจฉัยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน สิ้นคุณสมบัติการเป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่จากการเสนอชื่อ นายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี 

อย่างไรก็ตาม ศาลไม่ได้มีคำสั่งให้นายเศรษฐาหยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวระหว่างการวินิจฉัย ขณะที่คำร้องเรื่องคุณสมบัตินายพิชิต ศาลยกคำร้องเนื่องจากนายพิชิตได้ลาออกแล้ว

“ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก (6 ต่อ 3) มีคำสั่งรับคำร้องผู้ถูกร้องที่ 1(นายเศรษฐา) ไว้พิจารณา และให้ผู้ถูกร้องที่ 1 ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา… กรณีขอให้ผู้ถูกร้องที่ 1 หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้อง ในชั้นนี้ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก (5 ต่อ 4) ไม่สั่งให้ผู้ถูกร้องที่ 1 หยุดปฏิบัติหน้าที่” ตอนหนึ่งของคำสั่ง ศาล รธน. 

ศาล รธน. ระบุว่า เมื่อความเป็นรัฐมนตรีของนายพิชิต ผู้ถูกร้องที่ 2 สิ้นสุดลง เนื่องจากลาออกแล้ว จึงไม่มีเหตุที่จะต้องวินิจฉัยคดีต่อไป มีคำสั่งไม่รับคำร้องเฉพาะส่วนของผู้ถูกร้องที่ 2 อย่างไรก็ตามศาลยังไม่ได้กำหนดวันอ่านคำพิพากษา และให้นายเศรษฐาชี้แจงต่อศาลภายในเวลา 15 วัน

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวกับสื่อมวลชนหลังทราบคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญว่า จะยังคงดำเนินภารกิจต่อไปเหมือนปกติ เพราะไม่มีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่

“เมื่อเสร็จภารกิจวันนี้แล้ว จะโทรศัพท์หารือกับฝ่ายกฎหมาย ว่าจะเตรียมคำชี้แจงกับศาลรัฐธรรมนูญอย่างไร ถือเป็นเรื่องธรรมดาในการเข้าสู่การเมือง ต้องสามารถตรวจสอบได้ หากฝ่ายนิติบัญญัติ หรือฝ่ายตุลาการมีความข้องใจ ก็เป็นหน้าที่ของฝ่ายบริหารที่จะต้องไปชี้แจง มุ่นใจว่าเราปฏิบัติหน้าที่ถูกต้อง” นายกรัฐมนตรีกล่าว

“ขอให้มั่นใจในรัฐบาล ว่ายึดมั่นกับความเป็นอยู่ของประชาชนเป็นหลัก และตั้งใจในการปฏิบัติหน้าที่ ส่วนเรื่องการตรวจสอบก็เป็นเรื่องธรรมดา พร้อมชี้แจงทุกเมื่อ” นายกรัฐมนตรี ระบุ

คำสั่งของศาล รธน. ครั้งนี้ สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2567 นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม สมาชิกวุฒิสภา (สว.) เปิดเผยว่า สว. 40 คนได้เข้าชื่อร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยว่า นายเศรษฐา สิ้นคุณสมบัติการเป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่จากการเสนอชื่อนายพิชิตเป็นรัฐมนตรี ขณะเดียวกันก็ร้องให้วินิจฉัยคุณสมบัตินายพิชิต เช่นกัน

ทั้งนี้ สว. ได้ร้องเรื่องดังกล่าวผ่าน นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2567 ตามอำนาจของ มาตรา 82 ของรัฐธรรมนูญ ที่ สว. สามารถเข้าชื่อเพื่อส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความสิ้นสุดลงของตำแหน่งรัฐมนตรีได้ 

“นายพิชิตมีพฤติกรรมทุจริต ติดสินบนต่อกระบวนการยุติธรรม และถูกนำเรื่องเข้าสู่สภาทนายความให้ลบชื่อจากการเป็นทนายความ ดังนั้นจึงเป็นกรณีที่ชัดแจ้งว่าไม่มีความซื่อสัตย์เป็นที่ประจักษ์ และไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง” ตอนหนึ่งของคำร้อง 

นายดิเรกฤทธิ์ เปิดเผยว่า สว. เชื่อว่า นายพิชิตมีพฤติกรรมที่เข้าข่ายขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 170 (4) และ (5) ประเด็นที่ว่าด้วยขาดความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์และมีพฤติกรรมฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง 

พิชิต กับคดีถุงขนม

กรณีการร้องศาลรัฐธรรมนูญของ สว. สืบเนื่องจาก นายพิชิตเคยถูกดำเนินคดีข้อหาละเมิดอำนาจศาล เพราะพยายามติดสินบนเจ้าหน้าที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เป็นเงิน 2 ล้านบาท เมื่อปี 2551 ระหว่างทำหน้าที่ทนายความให้กับนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีและภรรยา ในคดีเกี่ยวกับการซื้อขายที่ดินย่านรัชดาภิเษก 

คดีดังกล่าวถูกสื่อมวลชนเรียกว่า “คดีถุงขนม” เนื่องจากเงินสินบนที่ว่าถูกบรรจุในถุงกระดาษและอ้างว่าเป็นของฝากสำหรับเจ้าหน้าที่ โดยคดีนี้ศาลตัดสินให้จำคุกนายพิชิตเป็นเวลา 6 เดือนไม่รอลงอาญา ฐานละเมิดอำนาจศาล โดยการให้สินบนเจ้าพนักงาน 

เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2567 นายพิชิต ไชยมงคล แกนนำ เครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) และพวกได้ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้ตรวจสอบคุณสมบัติของ นายพิชิต ชื่นบาน ในกรณีที่เคยถูกดำเนินคดีกรณีทุจริตเช่นกัน

ด้าน ผศ. ปิยพงษ์ พิมพลักษณ์ สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เชื่อว่า ผลการวินิจฉัยของศาล รธน. คดีนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อการเมืองภาพใหญ่

"เชื่อว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาเรื่องนี้อย่างรอบคอบ เพราะการถอดถอนผู้นำประเทศเป็นเรื่องใหญ่ ถ้าไม่มีเหตุผลเพียงพออาจสร้างความวุ่นวายต่อประเทศได้ แต่คำวินิจฉัยของคดีนี้ ผมคิดว่า จะไม่ถึงขั้นทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการเมืองใหญ่ แต่ก็สะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างที่ประเทศต้องปฏิรูประบบการสรรหาให้โปร่งใส และมีคุณธรรมมากขึ้น" ผศ. ปิยพงษ์ กล่าว

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง