คนไทยรอคอยเศรษฐาแก้ปัญหาเศรษฐกิจ

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พบปะกับ นายแอมานุแอล มาครง ประธานาธิบดีสาธารณรัฐฝรั่งเศส ที่ทำเนียบประธานาธิบดีฯ ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส วันที่ 16 พฤษภาคม 2567
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พบปะกับ นายแอมานุแอล มาครง ประธานาธิบดีสาธารณรัฐฝรั่งเศส ที่ทำเนียบประธานาธิบดีฯ ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส วันที่ 16 พฤษภาคม 2567 (เอเอฟพี)

ในฐานะเจ้าของกิจการตู้ขายสินค้าของชำ และเครื่องดื่มต่าง ๆ รักติ ญวนกระโทก มีโอกาสเห็นพฤติกรรมการจับจ่ายของชาวบ้านได้อย่างไม่มีใครเหมือน

หากแต่แนวโน้มในการใช้สอยดูไม่ดีเท่าไร เนื่องจากคนกดซื้อขายของน้อยลงมาก ในจังหวัดขอนแก่นที่รักติอาศัยอยู่ และได้วางตู้ไว้ตามหมู่บ้านต่าง ๆ กว่าพันตู้

“ตู้ที่เราติดตั้งในชุมชน เราเห็นกำลังซื้อมันลดลง เคยมีพันตู้ในขอนแก่น เราก็ถอนตู้ออกไปเรื่อย ๆ ต่อเนื่องตั้งแต่โควิดแล้วก็ยังไม่ฟื้นเลย” รักติกล่าวกับเบนาร์นิวส์

รักติกล่าวว่า นี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เขายังไม่มีแผนการขยายกิจการทั้งในธุรกิจนี้และธุรกิจอื่น ๆ ที่เขามี ทั้งในภาคการขนส่งและอสังหาริมทรัพย์ นอกเหนือไปจากการที่ธนาคารไม่ค่อยปล่อยให้กู้ยืมเงินในช่วงนี้

รักติคาดหวังว่า รัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งจะสร้างโอกาสใหม่ ๆ ทางเศรษฐกิจ "เพราะเรามีรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งมาอย่างยาวนาน ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจ พอมีรัฐบาลใหม่ก็มีความคาดหวังสูง แต่ก็ไม่ได้เป็นตามคาดหวังร้อยเปอร์เซนต์”

“ตอนนี้กำลังซื้อไม่ค่อยดี อย่าว่าแต่คิดก่อนใช้เลย แต่เงินในกระเป๋าไม่ค่อยมีให้คิดเลย”

หลังเข้ารับตำแหน่งเก้าเดือนก่อน รัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสินได้เริ่มทำงานด้านเศรษฐกิจ ผสมผสานระหว่างการใช้นโยบายประชานิยม นโยบายทางการทูต และโครงการขนาดใหญ่ต่าง ๆ โดยมีการเดินทางอย่างบ่อยครั้งไปยังหลายประเทศทั่วโลก เพื่อโปรโมทประเทศไทยว่ามีความพร้อมในการเปิดรับการลงทุนจากต่างชาติ

แต่อย่างไรก็แล้วแต่ ความพยายามของนายเศรษฐาถูกกลบด้วยความเชื่องช้าของเศรษฐกิจไทย ที่ยังไม่สามารถกระเตื้องขึ้นได้เสียที แม้ว่าการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจและปัญหาปากท้อง จะเป็นตัวชูโรงของพรรคเพื่อไทยในช่วงการเลือกตั้งในปี 2566 ก็ตาม

TH-economy-2.jpg
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ยืนข้างนายคริสเตียน ฮอนเนอร์ หัวหน้าทีมเรดบูล (Red Bull) ที่สนามอิโมลาเซอร์กิต ประเทศอิตาลี วันที่ 19 พฤษภาคม 2567 (เอพี) (Luca Bruno/AP)

โดยนโยบายหลักคือ ดิจิทัลวอลเล็ต ที่เป็นการคาดหวังว่าจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบขนานใหญ่ ด้วยการให้คนไทยจับจ่ายใช้สอยผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัลคนละ 10,000 บาท ที่จนถึงปัจจุบันหลายฝ่ายยังไม่เชื่อมั่นว่าจะได้เริ่มต้นในไตรมาสสี่ตามที่นายกรัฐมนตรีรับปากหรือไม่

นอกจากนั้นแล้ว ยังมีการเดินสายพบปะกับผู้นำทางการเมืองและภาคเศรษฐกิจในหลายประเทศ โดยล่าสุดได้พบปะกับประธานาธิบดีสาธารณรัฐฝรั่งเศส นายแอมานุแอล มาครง และนายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐอิตาลี นางจอร์จา เมโลนี ในระหว่างการเดินทางเยือนสองประเทศอย่างเป็นทางการ โดยเป็นการเยือนนครปารีสครั้งที่สองของนายเศรษฐา หลังจากไปเยือนครั้งแรกเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

หมายกำหนดการของนายเศรษฐา มีการพบปะกับภาคธุรกิจ โดยเฉพาะภาคแฟชั่นและเครื่องประดับไฮเอนด์ เพื่อหวังยกระดับความร่วมมือกับภาคการออกแบบและสินค้าแฟชั่นของไทย และยังมีการเจรจาขยายความร่วมมือทั้งในด้านการท่องเที่ยว พลังงาน และรถยนต์ไฟฟ้า

TH-economy-3.jpg
เรือขนส่งสินค้า ณ ท่าเรือกรุงเทพ เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2564 (ศักดิ์ชัย ลลิต/เอพี) (Sakchai Lalit/AP)

นอกจากนั้นแล้วยังมีการนำเสนอโครงการเมกะโปรเจกต์แลนด์บริดจ์ ซึ่งเป็นการเชื่อมต่อทางบกในแถบคอคอดกระของไทย เพื่อเชื่อมมหาสมุทรอินเดียเข้ากับมหาสมุทรแปซิฟิกโดยไม่ต้องผ่านช่องแคบมะละกา ทั้งนี้นายเศรษฐากล่าวว่า ทางกลุ่มธุรกิจของอิตาลีได้ให้ความสนใจกับโครงการนี้

นายเศรษฐายังได้เข้าพบกับ Formula One Group ผู้ถือสิทธิ์ในการจัดการแข่งขันรถ FIA Formula One World Championship หรือ F1 โดยแสดงวิสัยทัศน์ว่าประเทศไทยอาจได้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน F1 ในอนาคต

“ประเทศไทยมีศักยภาพที่จะเป็นเจ้าภาพ F1 ได้ และการจัด F1 จะนำการจ้างงาน รายได้ และความรู้ ซึ่งจะเป็นการยกระดับเศรษฐกิจของประเทศไทย สร้างประโยชน์มหาศาลต่อคนไทยในหลายมิติ อยากให้ทุกคน โดยเฉพาะแฟน ๆ Motor Sport ช่วยกันเป็นกระบอกเสียง และช่วยผลักดันให้ไทยได้เป็นเจ้าภาพ F1 เพื่อเศรษฐกิจไทย เพื่อคนไทยทุกคนครับ” นายเศรษฐากล่าวทาง X ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา

ตัวเลขทางเศรษฐกิจน่าหดหู่

ในระหว่างที่นายกรัฐมนตรีเดินทางเยือนทวีปยุโรปนั้น ข่าวคราวด้านเศรษฐกิจในประเทศไทยกลับน่ากังวล ซึ่งเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 1 ปี 2567 ขยายตัวที่ 1.5% โดยข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงในช่วงเวลาที่เหลือของปี ยังเป็นเรื่องหนี้ครัวเรือน และหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่อยู่ในระดับสูง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตร และการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน

เป้าหมายของนายเศรษฐา คือ นำพาเศรษฐกิจไทยให้โตในระดับ 5% ต่อปี โดยในปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยโตอยู่ที่ 1.9% ในขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทยคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะโตอยู่ที่ราว 3% ในปี 2568

สศช. ปรับลดการคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจไทยในปีนี้อยู่ในกรอบ 2% - 3% จากเดิมที่ 2.2% - 3.2%

TH-economy-4.JPG
Extream heat in Thailand ผู้คนจับจ่ายสินค้าที่ตลาดสดในกรุงเทพมหานคร วันที่ 2 พฤษภาคม 2567 (อาทิตย์ พีระวงศ์เมธา/รอยเตอร์) (Athit Perawongmetha/REUTERS)

รักติ เจ้าของกิจการในจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า ตนเองยังไม่ค่อยแน่ใจในทิศทางของประเทศไทยโดยรวมว่าจะเป็นอย่างไร

“ในระยะสั้นต้องสร้างความเชื่อมั่นให้ทุกคนดูว่าเรากำลังไปถูกทาง ทุกคนจะได้กล้าลงทุน กล้าใช้สอย มันยังไม่ชัดว่าความเชื่อมั่นอยู่ตรงไหน”

“นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ก็เป็นความคาดหวังว่าจะใช้ปลายปี ก็ไม่รู้ว่าปลายทางจะได้ใช้จริงมั้ย ก็ทำให้ความเชื่อมั่นไขว้เขว

"เรื่องแลนด์บริดจ์ ก็เป็นการวาดฝันทางเศรษฐกิจ แต่ก็ยังไกลตัวว่าผู้ประกอบการใครจะได้ประโยชน์มาก ถ้ามองอย่างผิวเผินผมอยู่ภาคอีสาน พื้นที่ที่ได้ประโยชน์น่าจะเป็นใต้ตอนบน หรือกลางตอนล่างมากกว่า”

ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ ซึ่งจัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทยทุกเดือน วัดจาก 6 องค์ประกอบ ได้แก่ การผลิต คำสั่งซื้อ การลงทุน ต้นทุนการผลิต ผลประกอบการ และการจ้างงาน ในเดือนเมษายนมีอัตราลดลงจากเดือนก่อนหน้า

ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือ SME D Bank เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ SMEs ต่อเศรษฐกิจและธุรกิจ ไตรมาส 1/2567 พบว่า ภาพรวมดัชนีเชื่อมั่นฯ อยู่ที่ระดับ 52.36 ปรับตัวลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่อยู่ในระดับ 67.81 โดยปัจจัยเป็นลบได้แก่ นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่ยังไม่ชัดเจน ภาวะเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และกำลังซื้อโดยรวมลดลง

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมรายเดือนหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 18 ในเดือนมีนาคม โดยปัจจัยที่สำคัญคือ การลดลงของยอดการผลิตรถยนต์ภายในประเทศ นอกจากนั้นแล้วยอดขายรถยนต์ในประเทศยังลดลงถึงเกือบ 25% ในช่วงไตรมาสแรก และกระทรวงพาณิชย์ ยังรายงานภาวะการส่งออกของไทยติดลบ 10.9% ในเดือนมีนาคมเป็นครั้งแรกในรอบ 8 เดือน

TH-economy-5.JPG
Thai workers work at a sedan line production at Honda Automobile in Rojana Industrial Park, Ayutthaya province คนงานไทยทำงานในโรงงานผลิตรถยนต์ของเครือบริษัทฮอนด้า ออโตโมบิล ในอุตสาหกรรมโรจนะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2555 (รอยเตอร์) (Sukree Sukplang/REUTERS)

ตัวช่วยภาคเศรษฐกิจไทยยังเป็นการท่องเที่ยว โดยมีจำนวนนักท่องเที่ยวกว่า 13.7 ล้านคน ระหว่างวันที่ 1 มกราคมถึง 19 พฤษภาคม ตามข้อมูลของกองเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและกีฬา

“หลาย ๆ คนยังไม่พร้อมลงทุนขยายกิจการ ยังจด ๆ จ้อง ๆ ทั้งเรื่องความไม่ชัดเจนนโยบายในประเทศ และเรื่องภูมิรัฐศาสตร์” รศ.ดร. ปิติ ศรีแสงนาม จากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าว

“รัฐบาลต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบชอร์ตไฟฟ้า ไม่ใช่แบบหยอดน้ำข้าวต้มด้วยดิจิทัลวอลเล็ต แต่จนถึงตอนนี้มันก็ยังไม่เกิดขึ้น ก็เลยทำให้ความเชื่อมั่น หรือแผนการทุกอย่างก็ซึมและซมไป”

นักวิชาการอีกรายเห็นว่า นโยบายของนายเศรษฐามองข้ามปัญหาเชิงโครงสร้างด้านเศรษฐกิจ

“นโยบายและโครงการต่าง ๆ ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทย คือปัญหาผลิตภาพต่ำและการขาดการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมีคุณภาพ” ศ.ดร. ภวิดา ปานะนนท์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กล่าว

“หากไม่มีการพัฒนาปรับปรุงปัจจัยที่ช่วยกระตุ้นการลงทุนจากต่างประเทศ เช่น บุคลากรที่มีทักษะ ความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ หรือการแข่งขันทางธุรกิจที่เป็นธรรม นโยบายประชานิยมเหล่านี้อาจจะไม่เพียงพอที่จะพยุงเศรษฐกิจ และอาจจะทำให้สายเกินไปที่จะแก้ไขเศรษฐกิจไทย ซึ่งต้องการการปรับโครงสร้างอย่างมาก”