ครม. เศรษฐา 1 ถวายสัตย์ฯ แล้ว จะเป็นรัฐบาลของทุกคน

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2023.09.05
กรุงเทพฯ
ครม. เศรษฐา 1 ถวายสัตย์ฯ แล้ว จะเป็นรัฐบาลของทุกคน นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ ต่อหน้าพระพักตร์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 และสมเด็จพระราชินี ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต กรุงเทพฯ วันที่ 5 กันยายน 2566
สำนักพระราชวัง/เอพี

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่ากการกระทรวงการคลัง ได้นำคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้ารับการถวายสัตย์ปฏิญาณตนแล้วในวันอังคารนี้ โดยยืนยันว่า จะเป็นรัฐบาลของประชาชนทุกคน ด้านนักวิชาการชี้ รัฐมนตรีบางคนอาจถูกโจมตีเรื่องคุณสมบัติ และประวัติส่วนตัว

นายเศรษฐา และครม. รวมทั้งสิ้น 34 คนได้เดินทางไป เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ ต่อหน้าพระพักตร์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 และสมเด็จพระราชินี ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต

นายเศรษฐา นำถวายสัตย์ “ข้าพเจ้า (นาย เศรษฐา ทวีสิน) ขอถวายสัตย์ปฏิญาณว่า ข้าพระพุทธเจ้า จะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื้อสัตย์ สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศ และประชาชน ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ”

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำรัส เพื่อเป็นกำลังใจต่อการปฏิบัติหน้าที่ 

“ข้าพเจ้ามีความยินดีที่ได้พบกับคณะรัฐมนตรี ซึ่งได้มาถวายสัตย์ในวันนี้ ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีที่รู้จักกันเพราะหลายคนก็เคยรู้จักกันแล้ว หลายคนก็ไม่เคยรู้จัก จะได้รู้จักกัน และแสดงความยินดี ที่มีศรัทธาเข้ามาบริหารประเทศ ขอถือโอกาสให้พร ให้มีกำลังใจ กำลังกาย และปัญญา ที่จะปฏิบัติหน้าที่ เพื่อความสุข และเพื่อประโยชน์ เป็นส่วนรวม ต่อประเทศชาติ และประชาชน"

"ข้าพเจ้าฯ มีความมั่นใจว่า ท่านมีความตั้งใจดีทุกคน มีศรัทธาทุกคน ขอให้พรให้ท่านมีกำลังใจต่อไป ในการปฏิบัติหน้าที่”

230905-th-cabinet-sworn-in-2.jpeg

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พูดคุยกับผู้สื่อข่าวระหว่างแถลงข่าวที่ทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพฯ หลังพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณเข้ารับตำแหน่งต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 และสมเด็จพระราชินี วันที่ 5 กันยายน 2566 (ศักดิ์ชัย ลลิต/เอพี)

ก่อนที่นายเศรษฐาและครม. จะกลับมาถ่ายรูปหมู่ และแถลงต่อประชาชนที่ทำเนียบรัฐบาล

“ผมขอยืนยันนะครับ รัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลของประชาชน เป็นตัวแทนของพี่น้องประชาชนทุกคน รัฐบาลนี้เรามีความตั้งใจครับ ปัญหา มีมากมาย เราจะทำงานอย่างลืมความเหน็ดเหนื่อย ทุกวันทุกนาที เราจะเอาความต้องการของพี่น้องประชาชนทุกคนเป็นที่ตั้ง” นายเศรษฐา กล่าว

เมื่อถูกสื่อมวลชนสอบถามถึงการดำเนินนโยบายเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาทที่จะแจกให้ประชาชนทุกคนที่มีอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไปเมื่อใด นายเศรษฐา ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ชี้ว่าจะดำเนินการให้เร็วที่สุด

“จะพยายามทำให้เร็วที่สุด คิดว่าไม่เกินไตรมาส 1 ปีหน้า ยังไงก็ทำ เป็นการจ่ายงวดเดียว หนเดียว ผมมั่นใจว่า รัฐมนตรีทุกท่านจะทำงานอย่างหนัก จะพยายามเข็นนโยบายออกมาที่เป็นประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนทุกคน บางอย่างทำได้เร็ว บางอย่างทำได้ช้า แต่จะไม่เอามาเป็นข้ออ้างในการที่จะไม่ทำทั้งหมด อะไรทำได้เร็วเราจะรีบทำก่อน” นายเศรษฐา กล่าว

ขณะที่ นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยืนยันว่า ยังไม่มีการตัดสินใจว่า ไทยจะยอมรับการใช้เครื่องยนต์เรือดำน้ำที่ผลิตในประเทศจีนหรือไม่ ขณะที่หลังการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา จะเริ่มดำเนินการปรับลดการเกณฑ์ทหารแบบบังคับ

“ผมยังไม่ได้มีข้อมูลพอ ก็คิดว่าวันที่เราเข้าไปทำงาน วันนั้นกองทัพเขาก็คงจะรายงานอธิบายให้ฟัง ก็จะขอข้อมูลเพิ่มเติม ถัดจากนั้นก็ถึงจะพิจารณา เป็นความตั้งใจอยู่แล้วว่า งบประมาณที่ได้มาต้องใช้ให้คุ้มค่าที่สุด การทุจริต หรือการเคลือบแคลงสงสัยใด ๆ จากสังคมที่จุดไหน คิดว่าเป็นหน้าที่ของผมและรัฐบาลเป็นพิเศษ”​ นายสุทิน กล่าว

กรณีดังกล่าวสืบเนื่องจาก ปี 2560 กองทัพเรือ (ทร.) ตกลงซื้อเรือดำน้ำ แบบ S-26T จากประเทศจีน แต่การต่อเรือดำน้ำเจอปัญหาเรื่องเครื่องยนต์ เพราะฝ่ายจีนไม่สามารถหาเครื่องยนต์เรือดำน้ำแบบ MTU396 ที่ผลิตในเยอรมนีมาใช้กับเรือดำน้ำได้ เพราะ สหภาพยุโรปสั่งห้ามประเทศสมาชิกค้าอาวุธกับจีน ทำให้จีนขอให้ไทยยินยอมเปลี่ยนมาใช้เครื่องยนต์ CHD620 ที่ผลิตในจีน ซึ่งจนถึงปัจจุบัน ไทยยังไม่ได้ตอบรับเรื่องดังกล่าว ทำให้การซื้อเรือดำน้ำมีปัญหาหยุดชะงักถึงปัจจุบัน

ด้าน นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า จะดำเนินมาตรการแก้ไขราคาเชื้อเพลิง และพลังงานเท่าที่สามารถดำเนินการได้ทันที

“มีนโยบายที่จะปรับลดได้ไปดูเบื้องต้น โครงสร้างพลังงานทั้งหลาย บางส่วนมันนอกเหนือการควบคุม เช่น ราคาแก๊ส ก็คงปรับลดตรงนี้ไม่ได้ แต่โครงสร้างราคาทั้งหมดมีหลายส่วน ซึ่งดูเบื้องต้นก็จะปรับลดได้แน่นอน หลังจากแถลงนโยบายเสร็จ เริ่มประชุมนัดแรกก็คงต้องมีมาตรการออกมา” นายพีระพันธุ์ กล่าว

230905-th-cabinet-sworn-in-3.jpeg

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี ถ่ายภาพหมู่ที่ทำเนียบรัฐบาล หลังพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 และสมเด็จพระราชินี ในกรุงเทพฯ วันที่ 5 กันยายน 2566 (อธิษฐ์ พีระวงศ์เมธา/รอยเตอร์)

ทั้งนี้ นายเศรษฐา ระบุว่า ในวันพุธ ครม. จะประชุมร่วมกันเพื่อเขียนนโยบายที่จะแถลงต่อรัฐสภา ในวันจันทร์ที่ 11 กันยายน 2566

แม้การเลือกตั้งจะมีขึ้นตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม 2566 แต่กว่าที่จะมี ครม. ได้ใช้เวลากว่า 3 เดือน หลังจากก่อนหน้านี้ เพื่อไทย ประกาศจับมือกับพรรคก้าวไกล และพรรคอื่นรวม 8 พรรค เสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลเป็นนายกรัฐมนตรี แต่นายพิธาไม่สามารถผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาร่วม ซึ่งมี สว. แต่งตั้งร่วมลงคะแนนได้ ทำให้ในที่สุด เพื่อไทยหันไปจับมือกับพรรคร่วมรัฐบาลเดิมเช่น ภูมิใจไทย พลังประชารัฐ รวมไทยสร้างชาติ และพรรคอื่น ๆ เป็นพรรคร่วมรัฐบาล 11 พรรค และก้าวไกลต้องเป็นฝ่ายค้าน

การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 จากจำนวนสมาชิกรัฐสภา 747 คน มีเสียงเห็นชอบให้ เศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตพรรคเพื่อไทย เป็นนายกรัฐมนตรี 482 เสียง (จาก สส. 330 และ สว. 152 เสียง)

อย่างไรก็ตาม ครม. เศรษฐา 1 ก็ถูกวิจารณ์เรื่องความสามารถ ความเหมาะสม และประวัติส่วนตัว ไม่ว่าจะเป็น นายสุทิน ซึ่งเป็นพลเรือนแต่ได้เป็น รมว. กระทรวงกลาโหม หรือ ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งเคยถูกพิพากษาจำคุกในคดียาเสพติดที่ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งนักวิชาการมองว่า ประเด็นเหล่านี้จะทำให้ ครม. ถูกโจมตีได้

“การเอาตำรวจมาคุมกระทรวงศึกษา (พล.ต.อ. เพิ่มพูน ชิดชอบ) หรือคนที่ดูแลกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (น.ส. ศุภมาส อิศรภักดี) ไม่มีประสบการณ์ด้านวิชาการมาดูแล น่าจะเกิดปัญหาการทำงานกับข้าราชการพลเรือน ขณะที่เรื่องคุณสมบัติ หรือภูมิหลัง ก็สำคัญ เช่น คุณชาดา ไทยเศรษฐ์ ได้ตำแหน่ง รมช. มหาดไทย ก็ถือว่า มีภูมิหลังที่น่าตั้งคำถาม คล้ายกับมาเฟีย เชื่อว่า มีโอกาสสูงมากที่จะถูกเสนอญัตติอภิปรายทั่วไปไม่ไว้วางใจเป็นคนแรก ๆ” ผศ.ดร. ธัญณ์ณภัทร์ เจริญพานิช สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎพิบูลสงคราม กล่าวกับเบนาร์นิวส์

คุณวุฒิ บุญฤกษ์ ในเชียงใหม่ ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง