โอกาสและความฝัน กับชีวิตที่เลือกไม่ได้
2023.07.27
กรุงเทพฯ
กรุงเทพมหานคร เมืองฟ้าอมรที่ดึงดูดผู้คนหลากหลายจากต่างจังหวัดเข้ามาหางานทำ แม้ดูเหมือนว่าเมืองหลวงแห่งนี้จะเต็มไปด้วยโอกาสเพื่อเติมเต็มความฝัน แต่ความจริงแล้วมันกลับมีพื้นที่ไม่มากพอสำหรับทุกคน
ในเมืองหลวงที่มีจำนวนประชากรจดทะเบียนเพียง 5.5 ล้านคน แต่มีผู้คนอาศัยทำมาหากินอยู่จริงกว่า 10.8 ล้านคน ตามตัวเลขของกรมการปกครอง ที่นี่มีคนอย่างน้อย 2,500 คน ที่เป็นคนไร้บ้าน ซึ่งกระทรวงการคลังระบุว่า ทั้งประเทศ มีผู้ลงทะเบียนคนจนประมาณ 14 ล้านราย
ประชาชนหลาย ๆ คน ต่างหวังให้ประเทศไทยเดินหน้าพัฒนาเศรษฐกิจ แต่เลยเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม มานานกว่าสองเดือนแล้ว ก็ยังไม่มีการจัดตั้งรัฐบาล แม้ว่าพรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย และพรรคร่วมอื่น ๆ จะได้คะแนนเสียงท่วมท้น
“ผมคิดว่า [ประเทศ] มันเปลี่ยนแปลงยาก เพราะบางคนเขายังไม่เชื่อมั่นในคนที่มาใหม่… แต่ผมเชื่อมั่น ผมอยากให้เปลี่ยน เพราะว่าดีขึ้นแค่ 1 เปอร์เซ็นต์ ดีกว่าไม่มีอะไรดีขึ้นเลย” แมน นักเรียนชั้น ม.5 วัย 18 ปี กล่าวกับเบนาร์นิวส์
เรื่องราวชีวิตของผู้คนหลากหลาย เช่น คนไร้บ้าน พนักงานบริการ คนพิการ ที่เลือกจะเข้ามาหางานทำในกรุงเทพฯ เพื่อไขว่คว้าหาความมั่นคงในการใช้ชีวิต รวมทั้ง คนด้อยโอกาสหรือฐานะไม่ดีในกรุงเทพฯ เรื่องราวของเขาเหล่านี้ คือภาพสะท้อนอีกด้านหนึ่งของความเจริญที่ฉาบลวง
สมชัย ชายไร้บ้าน ย่านคลองหลอด กรุงเทพฯ วันที่ 20 มิถุนายน 2566 (ชนากานต์ เหล่าสารคาม/เบนาร์นิวส์)
สิบตรีสมชัย วัย 66 ปี ชายสูงวัยที่เรียกคำนำชื่อตัวเองว่า สิบตรี เขาบอกเล่าเส้นทางชีวิตว่าเขาเป็นหนุ่มจากลุ่มน้ำแม่กลอง เคยทำน้ำตาลมะพร้าวขาย ก่อนจะมาเป็นทหารบก แต่เลือกที่จะลาออกเพราะเงินเดือนน้อย ต่อมามีอาชีพเป็นช่างเชื่อม แต่ก็ถูกคนกลั่นแกล้ง จนสุดท้ายมาใช้ชีวิตอยู่ที่ตรอกแห่งหนึ่งย่านพระนคร
ปัจจุบันเขาหาเงินเลี้ยงชีพด้วยการเก็บขวดขาย เมื่อได้เงินมาก็จะเอาไปลงทุนซื้อวิทยุ ลำโพง หรือเครื่องใช้ไฟฟ้ามือสอง มาซ่อมแซ่มและขายต่อในราคาไม่กี่สิบบาท
ที่นอนของเขาอยู่ริมคลองมีต้นไม้กับท้องฟ้าเป็นหลังคา เขาเล่าว่าถ้าวันไหนฝนตกก็จะวิ่งไปอยู่หน้าบ้านคนอื่น หากเจอบางคนหวงที่ ก็จะเอาน้ำมาราดไล่ให้ไปที่อื่น
สมชัยเล่าว่า เขามีพี่น้องทั้งหมด 11 คน ตัวเองเป็นน้องคนสุดท้อง แต่เลือกที่จะไม่ขอความช่วยเหลือจากใคร ไม่อยากไปรบกวนคนอื่น ไม่อยากให้ใครมาด่ามาว่าลับหลัง การใช้ชีวิตแบบที่เป็นอยู่มีอิสระกว่าการกลับบ้าน
“ไม่ต้องสงสารลุงหรอก กรรมใครกรรมมัน”
ชายไร้บ้านนอนข้างทาง บนถนนราชดำเนินกลาง กรุงเทพฯ วันที่ 20 มิถุนายน 2566 (ชนากานต์ เหล่าสารคาม/เบนาร์นิวส์)
ชิน ชายไร้บ้านนั่งบนบาทวิถี ถนนราชดำเนินกลาง กรุงเทพฯ วันที่ 21 มิถุนายน 2566 (ชนากานต์ เหล่าสารคาม/เบนาร์นิวส์)
ชิน ชายวัย 50 จากจังหวัดสุพรรณบุรี ตัดสินใจเดินทางเข้ามาหางานในกรุงเทพ เมื่อ 10 กว่าปีก่อน เขาเคยทำงานขับรถเทรลเลอร์ รถเครน รถก่อสร้าง ได้เงินวันละ 1,000-2,000 บาท แต่สุดท้ายบริษัทต้องปิดตัวลงเนื่องจากพิษโควิด -19
หลังตกงาน ชิน อาศัยนอนที่ลานสนามหญ้าของอนุสาวรีย์ทหารอาสาสงครามโลกครั้งที่ 1 แต่ไม่นานมานี้ ชินมารับอาหารที่ย่านสนามหลวง และเก็บเงินให้ได้ค่ารถสำหรับเดินทางไปหางานขับรถ ในย่านบางนา
แต่ขณะรอเรียกสัมภาษณ์ น่าเศร้าที่โทรศัพท์ที่นำติดตัวมาจากสุพรรณบุรีถูกขโมยไป ทำให้นอกจากต้องเก็บเงินค่ารถแล้ว เขาต้องเก็บเงินอีกก้อนเพื่อซื้อโทรศัพท์มือถือเครื่องใหม่
เมื่อถามย้อนไปว่า ชินได้ไปเลือกตั้งในครั้งที่ผ่านมาไหม เขาบอกว่า เขาไม่ได้ไป “เพราะไม่มีค่ารถไฟ”
บุตร ชายผู้แขนพิการตั้งแต่กำเนิด วันที่ 23 มิถุนายน 2566 (ชนากานต์ เหล่าสารคาม/เบนาร์นิวส์)
บุตร ชายวัย 78 จากจังหวัดปราจีนบุรี มีแขนพิการตั้งแต่กำเนิด เข้ามาอยู่กรุงเทพฯ ตั้งแต่เด็ก เขาเล่าว่ามาอยู่แถวราชดำเนินตั้งแต่ก่อนช่วงโควิด-19 เมื่อก่อนขายังมีแรง เดินได้ปกติ เคยขาย “กระดาษ” หมายถึงสลากกินแบ่งรัฐบาลแถวป้ายรถเมล์ พอได้ทุนคืนก็ซื้อมาขายใหม่
บุตรเล่าว่าเขามีอาการปวดขา สามารถยืนได้แต่ทรงตัวไม่ได้ เคยมีคนนำยาคลายเส้นมาให้กินแต่ก็ไม่ช่วยอะไร
“ยังไม่เคยไปหาหมอ แต่อยากไปหาหมอ แค่ขอให้ขาหาย เดินไปเดินมาได้ก็พอแล้ว” บุตรยังบอกว่า ยังไม่มีหน่วยงานไหนมาช่วยเหลือ หรือพาตัวเขาไปรักษา
บุตรเล่าให้ฟังว่า เมื่อปีก่อนเขายังมีบัตรประชาชน ทำให้สามารถเบิกเบี้ยคนพิการต่อเดือนได้ แต่หลังจากโดนขโมยกระเป๋า ทำให้บัตรประชาชนหายไป จึงไม่ได้รับเบี้ยคนพิการตั้งแต่นั้นมา
พนักงานทำกาแฟมือเป็นระวิง ที่ร้านยิ้มสู้ ที่อำเภอบางกอกน้อย วันที่ 17 มิถุนายน 2566 (ชนากานต์ เหล่าสารคาม/เบนาร์นิวส์)
บี บาริสต้าสาวชาวเหนือ วัย 25 ปี มีพื้นเพเป็นคนลำปาง ก่อนจะเข้ามาทำงานที่ร้านยิ้มสู้ คาเฟ่จำหน่ายเครื่องดื่มและขนมที่พนักงานส่วนมากเป็นผู้พิการทางการได้ยิน และผู้พิการทางสติปัญญา เธอทำงานมา 3 ปีแล้ว สั่งสมประสบการณ์พอที่จะเป็นซีเนียร์ให้น้องใหม่ได้
บีเล่าว่า เธอเป็นคนหูตึงโดยกำเนิด ปัจจุบันเธอยังใส่เครื่องช่วยฟังอยู่ทำให้ยังได้ยินเสียง และพอจะอ่านปากที่ขยับช้า ๆ ได้ เครื่องช่วยฟังนั้นไม่ได้เป็นสวัสดิการของรัฐแต่อย่างใด ผู้พิการต้องจ่ายเงินซื้อเอง รวมทั้งแบตเตอรี่
ในช่วงแรกเธอได้งานที่บริษัทรถยนต์แห่งหนึ่ง แต่หลังจากหมดสัญญาก็ได้มองหางานใหม่ ในการหางานนั้นมักจะมองหาข้อความ “รับคนพิการ” ในประกาศรับสมัคร แต่ส่วนใหญ่พบว่า พื้นที่การทำงานสำหรับคนหูหนวก หูตึง ยังมีน้อย เธอคาดหวังให้มีการเปลี่ยนแปลง เปิดโอกาสให้ผู้พิการสามารถเข้าถึงงานได้มากขึ้น
ความฝันของบี คือการเป็นบาริสต้า เธออยากมีรถทรัค สำหรับขายกาแฟเป็นของตัวเอง หรือทำร้านกาแฟร้านเล็ก ๆ ภายในร้านมีเมนูประกอบภาษามือ เธออยากให้ลูกค้าได้ทดลองสั่งเมนูกาแฟในภาษาของผู้พิการทางการได้ยินบ้าง
“ไม่ต้องกลัวที่จะคุยกับคนหูหนวก เข้ามาคุยได้เลยแม้จะช้าหน่อย” บีกล่าว
พนักงานต้อนรับที่บาร์แห่งหนึ่ง ย่านพัฒน์พงษ์ ในกรุงเทพฯ วันที่ 17 มิถุนายน 2566 (ชนากานต์ เหล่าสารคาม/เบนาร์นิวส์)
ชายชาวเวียดนามวัย 30 ปี เป็นชายแท้ที่ชอบเพศตรงข้าม เขาทำงานเป็นพนักงานต้อนรับที่บาร์ย่านพัฒน์พงษ์ แหล่งท่องเที่ยวของผู้มีความหลากหลายทางเพศ เขาเล่าว่าทำงานที่ร้านนี้มาตั้งแต่อายุ 20 ปี จนตอนนี้เป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว แม้ช่วงโควิด-19 จะทำให้รายได้ลดลงไปบ้าง แต่ก็ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ส่วนเหตุผลที่ออกมาจากประเทศเวียดนามนั้นเพราะค่าแรงต่ำ และงานหนัก
ปัญหาในการเป็นแรงงานต่างด้าวที่ทำงานกลางคืนในไทย เนื่องจากอาชีพนี้เริ่มในยามวิกาล และต่อให้ลูกจ้างจะมีบัตรต่างด้าว แต่ยังไม่มีบัตรประกอบอาชีพขายบริการ เพราะอาชีพยังไม่ถูกกฎหมาย นั่นทำให้การใช้กฎหมายกับพวกเขาทำได้ง่าย
เจ้าของบาร์แห่งหนึ่งเล่าว่า เธอต้องให้ลูกจ้างพกเงินจำนวนน้อย ๆ ระหว่างออกมาทำงานแต่ละวัน เพราะบ่อยครั้งพนักงานที่เป็นต่างด้าวจะถูกเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาบังคับให้ต้องจ่ายเงิน
จากการสำรวจของเว็บไซต์ Havocscope ระบุว่าในปี 2558 ประเทศไทยมีคนทำงานในอาชีพ sex worker สูงถึง 2.5 แสนคน ซึ่งมากเป็นอันดับแปดของโลก ขณะที่ปัจจุบันคนที่ทำอาชีพนี้ยังคงถูกคุกคาม เนื่องจากรัฐยังไม่ทำให้ถูกกฎหมาย
สุข นั่งขายของเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อหารายได้ ในกรุงเทพฯ วันที่ 15 กรกฎาคม 2566 (อานันท์ ชนมหาตระกูล /เบนาร์นิวส์)
สุข สารนาม ชายวัย 77 ปี จากจังหวัดสุรินทร์ สุขเดินทางไปมาระหว่างสุรินทร์และกรุงเทพฯ เพื่อนำของมาขายบริเวณถนนปทุมวัน สถานที่ใจกลางกรุงที่มีผู้คนสัญจรตลอดวัน เขาขายตุ๊กตาในราคา 40 บาท บางวันก็ขายไม่ได้สักตัว
“อยู่ตัวคนเดียว ลูก ๆ เขามีครอบครัวแล้วออกไปทำงานเลี้ยงลูกเลี้ยงหลาน” สุขเล่าต่อว่า เวลาเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ เขาจะเช่าบ้านรายวัน วันละ 80 บาท และเดินทางด้วยรถเมล์ ส่วนในการเลือกตั้งที่ผ่านมานั้น สุขก็ได้เดินทางกลับสุรินทร์เพื่อไปเลือกตั้งด้วยเช่นกัน
รัฐบาลให้เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย ออกให้ผู้มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ที่ 600 บาทต่อเดือน และจะเพิ่ม 100 บาท ในทุก ๆ 10 ปี หรือหากเราคิดเป็นรายวัน ผู้สูงอายุในประเทศไทยที่ไม่มีรายรับจากที่ไหนเลย สามารถใช้เงินจากเบี้ยยังชีพได้ที่ 20 บาทต่อวัน
แมน นักเรียนชั้น ม.5 นั่งขายเมี่ยงคำ หารายได้ช่วยครอบครัว ในกรุงเทพฯ วันที่ 15 กรกฎาคม 2566 (อานันท์ ชนมหาตระกูล /เบนาร์นิวส์)
แมน วัย 18 ปี นักเรียนชั้น ม.5 เป็นคนกรุงเทพฯ เขามักจะมานั่งขายชุดเมี่ยงคำบริเวณปทุมวัน ใกล้ทางขึ้นรถไฟฟ้าบีทีเอส ซึ่งใกล้ ๆ กันนั้น แม่ของเขาจะคอยสีไวโอลินแทนพ่อที่เสียไป เพื่อขอรับบริจาคเงินเลี้ยงดูครอบครัว แมนเล่าหลังจากเรียนจบ แม่อยากให้เขาเข้ารับราชการเพื่อความมั่นคงในหน้าที่การงาน แต่ใจจริงเขาอยากจะทำธุรกิจ
เมื่อถามถึงการเลือกตั้งที่ผ่านมา แมนบอกว่าเขาเพิ่งจะอายุ 18 ปี เมื่อไม่นานมานี้ ทำให้ยังไม่สามารถเลือกตั้งได้ แต่เขาอยากเลือกตั้ง และมีมุมมองต่อการเมืองว่าเปลี่ยนแปลงยาก
“ผมคิดว่า [ประเทศ] มันเปลี่ยนแปลงยาก เพราะบางคนเขายังไม่เชื่อมั่นในคนที่มาใหม่… แต่ผมเชื่อมั่น ผมอยากให้เปลี่ยน เพราะว่าดีขึ้นแค่ 1 เปอร์เซ็นต์ ดีกว่าไม่มีอะไรดีขึ้นเลย”
นางโชว์ ที่บาร์เกย์แห่งหนึ่งในย่านพัฒน์พงษ์ ในกรุงเทพฯ วันที่ 17 มิถุนายน 2566 (ชนากานต์ เหล่าสารคาม/เบนาร์นิวส์)
แม่ปราง แม่เล้าของบาร์เกย์แห่งหนึ่งในย่านพัฒน์พงษ์ เล่าว่าเข้ามาทำงานวงการนี้ตั้งแต่ ปี 2539 เริ่มจากเด็กเสิร์ฟ และนางโชว์
เธอเล่าว่า สิ่งที่คนทำงานบริการคาดหวังต่อรัฐบาลสมัยหน้า คือ การยกเลิกพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 ที่เปิดช่องให้เจ้าหน้าที่เรียกรับส่วย ถ้าไม่มีกฎหมายนี้พนักงานบริการจะได้รับสวัสดิการ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีมากขึ้น อีกทั้งต้องการให้คนที่ประกอบอาชีพพนักงานบริการนั้นต้องมีสถานะ “ไม่ผิดกฎหมาย” มีสวัสดิการ และได้รับความคุ้มครองเช่นเดียวกับอาชีพทั่วไป
“อยากให้ดูเรื่องความรุนแรงและความเหลื่อมล้ำที่พนักงานบริการต้องเจอ และการออกจากอาชีพนี้จะต้องไม่มีประวัติ ยกเลิก พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี สื่อต้องบอกให้ชัดว่า อาชีพบริการนั้นต้องไม่ผิดกฎหมาย”