พิธีแห่เจ้าเซ็น : มรดกวัฒนธรรมชีอะห์ในสยาม
2024.08.27
กรุงเทพฯ
ท่ามกลางความหลากหลายทางวัฒนธรรมในประเทศไทย มีพิธีกรรมหนึ่งที่สืบทอดมายาวนานกว่า 400 ปี แต่อาจไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลายนัก นั่นคือ "พิธีแห่เจ้าเซ็น" ของชาวมุสลิมนิกายชีอะห์
"พิธีเจ้าเซ็น หรือที่เรียกกันอย่างสากลของมุสลิมทั่วโลก ว่าวันอาชูรอ ตามอย่างมุสลิมนิกายชีอะห์นั้น มีมายาวนานกว่า 400 ปี หรือนับตั้งแต่ในสมัยอยุธยาตอนกลางเรื่อยมา" ธีรนันท์ ช่วงพิชิต ประธานศูนย์ข้อมูลประวัติศาสตร์ชุมชนธนบุรี อธิบายกับเบนาร์นิวส์
ประเพณีนี้เดินทางมาพร้อมกับพ่อค้าชาวเปอร์เซีย (อิหร่าน) ที่นำพาทั้งสินค้าและวัฒนธรรมการนับถือศาสนาอิสลามนิกายชีอะห์เข้ามาสู่สยาม ในยุคแรกเริ่ม พิธีนี้ถูกเรียกโดยชาวต่างชาติว่า "พิธีตามไฟของพวกแขกมัวส์" หรือ "พิธีของพวกแขกเจ้าน้ำตา" ก่อนที่จะปรากฏในบันทึกช่วงปลายกรุงศรีอยุธยาว่า "พิธีเจ้าเซ็น" หรือ "แขกเจ้าเซ็น"
"คนไทยคุ้นเคยกับสรรพสำเนียงที่คุ้นหูจากพิธีกรรมดังกล่าว เสียงจากการขานรับโศลกในพิธีกรรมของคนร่วมพิธีที่มักพร่ำพรรณนาถึงชื่อ ฮูเซน อย่างซ้ำ ๆ" กิติศักดิ์ บูรณสมภพ กรรมการอิสลามประจำมัสยิดผดุงธรรมอิสลาม ระบุ
ฮูเซน หลานชายของศาสดามูฮัมหมัด ผู้ถูกสังหารที่เมืองกัรบะลาอ์ในวันอาชูรอ ปีฮิจเราะห์ที่ 61 (พ.ศ. 1223) กลายเป็น "มรณะสักขี" สำหรับมุสลิมนิกายชีอะห์ทั่วโลก เสียงเรียกขานชื่อของท่านในพิธีกรรมนี้เอง ที่กลายมาเป็นที่มาของชื่อ "เจ้าเซ็น" ในภาษาไทย
พิธีแห่เจ้าเซ็นได้รับการอุปถัมภ์จากราชสำนักสยามมาอย่างยาวนาน จนกระทั่งหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 บทบาทของพิธีกรรมนี้จึงเริ่มเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา
กิติศักดิ์เล่าต่อว่า ปัจจุบันพิธีอาชูรอ มีการจัดขึ้นหลายแห่งในหลายพื้นที่ รวมถึงมัสยิดผดุงธรรมอิสลาม หรือชุมชนไทยชีอะห์อิชนาอะชะรี ในเขตบางกอกใหญ่
ข้อมูลจากศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรระบุว่า มัสยิดผดุงธรรมอิสลาม ตั้งอยู่ที่ตำบลวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพฯ ถูกสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2479 และได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลในนาม “มัสยิดผดุงธรรมอิสลาม” ในปีพ.ศ. 2492
พิธีแห่เจ้าเซ็นจัดขึ้นในวันที่ 2 ของเดือนมะหะหร่ำทุกปี โดดเด่นด้วยการประดับตกแต่งอย่างวิจิตร ริ้วกระบวนอันหรูหรา และดนตรีประกอบพิธีที่ผสมผสานเครื่องดนตรีหลากหลาย ทั้งฉาบ กลองทัด ปี่ไฉน และกลองชนะ สะท้อนให้เห็นถึงการผสานวัฒนธรรมระหว่างชีอะห์และไทย ในแต่ละคืนของพิธีกรรม จะมีการเล่าขานเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง เป็นการรำลึกถึงเหตุการณ์สำคัญและสืบทอดความเชื่อของชาวชีอะห์
พิธีแห่เจ้าเซ็นจึงไม่เพียงเป็นพิธีกรรมทางศาสนาเท่านั้น แต่ยังเป็นประจักษ์พยานถึงการผสมผสานทางวัฒนธรรมและความหลากหลายทางความเชื่อในสังคมไทย ที่ยังคงสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน