ชีวิตคนพิการในชายแดนใต้อันพิกล

ยศธร ไตรยศ
2024.11.06
ปัตตานี
ชีวิตคนพิการในชายแดนใต้อันพิกล ภายหลังจากที่เข้ารับการฝึกทักษะการใช้ชีวิตมาระยะหนึ่ง มูฮัมหมัด ยานยา มีอาการดีขึ้นจากตอนแรกที่เขารู้สึกเป็นภาระต่อครอบครัว ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ จ.ปัตตานี วันที่ 12 ตุลาคม 2567
ยศธร ไตรยศ/เบนาร์นิวส์

เสียงปืนที่ดังขึ้นในช่วงค่ำของวันหนึ่งในปี 2556 เปลี่ยนชีวิตของสุขกรี อีแต ไปตลอดกาล เหตุการณ์นั้นตำรวจสรุปว่าอาจเป็นการยิงผิดคน โดยมีสาเหตุจากการสร้างสถานการณ์ความไม่สงบ ซึ่งเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ตั้งแต่ปี 2547 

สุขกรีสูญเสียความรู้สึกของขาทั้งสองข้าง และไม่สามารถใช้มันได้อีกนับจากนั้น เหตุการณ์นั้นทำให้เขาไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ กลายเป็นผู้ป่วยติดเตียงที่ต้องได้รับการดูแลจากคนในครอบครัว 

เขากลายเป็นหนึ่งในกลุ่มคนพิการราว 52,000 คน ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามข้อมูลของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

“ตอนนั้น ผมรู้สึกเหมือนผมไม่ใช่คนแล้ว มันไม่เหลือความภูมิใจอะไรเลย ไม่สามารถอาบน้ำหรือลุกขี้นนั่งได้เอง ชีวิตประจำวันส่วนใหญ่คือการนอนมองเพดาน แต่ละวันมันผ่านไปอย่างเชื่องช้า ไม่เหลือความฝัน ความหวังอะไรอีก จนในที่สุดความคิดอยากฆ่าตัวตายก็เข้ามาในหัว” สุขกรี กล่าว

แต่เมื่อเขาทำได้เพียงนอนฟังเสียงร้องอย่างทรมานของแม่จากห้องข้าง ๆ ทำให้เขาล้มเลิกความคิดที่จะจากโลกนี้ไป เขาตัดสินใจลุกขึ้นสู้อีกครั้ง เริ่มจากพยายามช่วยเหลือตัวเอง กระทั่งเข้าไปเป็นอาสาสมัครของศูนย์พัฒนาศักยภาพคนพิการ จนปัจจุบัน เขากลายเป็นเจ้าหน้าที่คนสำคัญของสาขา อ.ไม้แก่น จ.ปัตตานี 

งานหลักของสุขกรี คือการฝึกทักษะพื้นฐานเพื่อให้คนพิการสามารถใช้ชีวิตในสังคมได้ จัดหาผู้ช่วยให้คนพิการโดยเฉพาะคนพิการซ้ำซ้อน และจัดรถรับส่งคนพิการเพื่อให้เข้าถึงกิจกรรมครอบครัว ชุมชน รวมถึงรับบริการของรัฐ

ศูนย์พัฒนาศักยภาพคนพิการ นอกจากให้การช่วยเหลือคนพิการในการใช้ชีวิตประจำวันแล้ว ยังฝึกทักษะอาชีพเพื่อให้เขาเหล่านี้สามารถกลับไปต่อยอดหารายได้ในอนาคตได้ โดยมีการฝึกทักษะช่างพื้นฐาน รวมทั้งยังเป็นศูนย์ประกอบรถสามล้อสำหรับคนพิการด้วย 

“ไม่มีใครเข้าใจคนพิการได้ดีเท่ากับคนพิการด้วยกัน การเข้ามาทำงานตรงนี้จึงช่วยให้เราเข้าใจความต้องการของคนพิการอย่างตรงประเด็น ผมเชื่อว่าประเด็นคนพิการต้องขับเคลื่อนด้วยคนพิการกันเองก่อน แล้วค่อยขยายความเข้าใจสู่สังคมซึ่งต้องใช้เวลา” สุขกรี เล่าถึงแรงบันดาลใจในการทำงาน 

1.JPG

บรรยากาศการรวมตัวบริเวณหน้าศูนย์พัฒนาศักยภาพคนพิการประจำ อ.ไม้แก่น จ.ปัตตานี ของอาสาสมัครคนพิการและผู้ช่วย ก่อนลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือคนพิการรอบพื้นที่ อ.ไม้แก่น เป็นภาพปกติที่เห็นเกือบทุกวัน วันที่ 12 ตุลาคม 2567 (ยศธร ไตรยศ/เบนาร์นิวส์)

2.JPG

การเดินทางลงพื้นที่เพื่อให้ความช่วยเหลือคนพิการของอาสาสมัครและผู้ช่วยจะใช้รถมอเตอร์ไซค์ที่ดัดแปลงสำหรับคนพิการในการเดินทางเป็นหลัก จ.ปัตตานี วันที่ 12 ตุลาคม 2567 (ยศธร ไตรยศ/เบนาร์นิวส์)

3.JPG

ภาพบรรยากาศระหว่างอยู่ที่บ้านของหนึ่งในเคสที่ทางทีมเจ้าหน้าที่ของศูนย์พัฒนาศักยภาพคนพิการประจำ อ.ไม้แก่น จ.ปัตตานี นำสิ่งของจำเป็นมามอบให้ผู้พิการ วันที่ 12 ตุลาคม 2567 (ยศธร ไตรยศ/เบนาร์นิวส์)

4.JPG

สุขกรีขณะพูดคุยเพื่อสร้างความคุ้นเคยกับชายหนุ่มที่พิการเนื่องจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ เพื่อนำเสนอความช่วยเหลือต่าง ๆ ที่ทางศูนย์พัฒนาศักยภาพคนพิการประจำ อ.ไม้แก่น จ.ปัตตานี สามารถช่วยได้ วันที่ 12 ตุลาคม 2567 (ยศธร ไตรยศ/เบนาร์นิวส์)

5.JPG

สุขกรีขณะสาธิตวิธีการขึ้นลงรถวีลแชร์ที่ถูกต้องให้กับ มูฮัมหมัด ยานยา ที่เข้ารับการฝึกทักษะการใช้ชีวิตที่ศูนย์พัฒนาศักยภาพคนพิการประจำ อ.ไม้แก่น จ.ปัตตานี วันที่ 12 ตุลาคม 2567 (ยศธร ไตรยศ/เบนาร์นิวส์)

8.JPG

งานประกอบรถวีลแชร์เพื่อคนพิการถือเป็นอีกหนึ่งงานที่สำคัญของศูนย์พัฒนาศักยภาพคนพิการประจำ อ.ไม้แก่น จ.ปัตตานี รถวีลแชร์ที่ผลิตได้จะถูกส่งไปยังคนพิการที่ไม่มีกำลังทรัพย์ในการซื้อรถวีลแชร์ที่มีขายตามท้องตลาด วันที่ 12 ตุลาคม 2567 (ยศธร ไตรยศ/เบนาร์นิวส์)

7.JPG

ภายหลังเสร็จสิ้นภารกิจหลักประจำวัน เจ้าหน้าที่และผู้เข้าฝึกทักษะการใช้ชีวิตทุกคนที่ศูนย์พัฒนาศักยภาพคนพิการประจำ อ.ไม้แก่น จ.ปัตตานี จะละหมาดร่วมกันก่อนที่จะแยกย้ายกันไป วันที่ 12 ตุลาคม 2567 (ยศธร ไตรยศ/เบนาร์นิวส์)

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง