ตระกูลควาญช้างเก่าแก่ ห่วงอนาคตด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไป
2024.06.03
ตรัง
ร่วม 60 ปีที่แล้วที่ ตาเหม เหมรัตน์ ในวัย 30 ปี เดินเท้าเข้าไปในประเทศเมียนมา สามวันให้หลัง เขากลับประเทศไทยมาพร้อมกับช้างหนึ่งเชือก เหตุการณ์ครั้งนั้นกลายเป็นจุดเริ่มต้นของ ตระกูลเลี้ยงช้างตระกูลแรกของจังหวัดตรัง
ปัจจุบัน ช้างจากตระกูล “เหมรัตน์” ได้กระจายตัวทำงานขับเคลื่อนธุรกิจท่องเที่ยวของตรังและจังหวัดใกล้เคียง แม้จะยังพอเลี้ยงปากท้องครอบครัวได้ แต่ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ก็ทำให้อาชีพนี้ต้องเผชิญกับความท้าทาย
“อาชีพเลี้ยงช้างเคยทำรายได้เดือนละหลายหมื่น ทำให้เราเลี้ยงครอบครัวได้อย่างดี แต่ช่วงโควิด-19 ก็ทำให้ครอบครัวเราไม่มีงานทำ ไม่มีงานลากไม้ ไม่มีงานนำเที่ยว เพราะรัฐบาลล็อกดาวน์ ช้างที่เราเลี้ยงก็ผอมลง เพราะครอบครัวหาเงินมาซื้ออาหารให้ช้างไม่พอ ช้างกินอาหารวันละ 200-400 กิโลกรัม” พิมพร เหมรัตน์ หลานสาวของตาเหม กล่าว
ปัจจุบัน ในตรังมีช้างเลี้ยง 50-60 เชือก กระจายอยู่ในหลายอำเภอ ซึ่งทุกตัวล้วนเป็นลูกหลานของช้างจากตระกูลเหมรัตน์ แม้การเลี้ยงช้างจะยังพอสร้างรายได้ แต่คนในตระกูลเลี้ยงช้างเองก็เริ่มหันหลังให้กับอาชีพนี้ ด้วยหลายปัจจัย
“คนในตระกูลเลี้ยงช้างส่วนใหญ่เลิกทำอาชีพควาญช้าง หันไปจ้างคนมาเป็นควาญแทน อาจเป็นเพราะควาญช้างรายได้ไม่ดีมากเหมือนก่อน ควาญช้างส่วนมากอายุ 20-30 ปี เป็นคนจากหลายจังหวัดในภาคใต้ มีเงินเดือนราว ๆ 5 พันบาท บวกกับส่วนแบ่งจากการไปออกงาน (คนละครึ่ง กับเจ้าของช้างตระกูลของตาเหม ต่อการจ้าง 1 ครั้ง) ทั้งยังต้องรับผิดชอบช้างทุกวัน” พุทธิชาติ เหมรัตน์ หมอเฒ่าช้างประจำตระกูลเหมรัตน์ รุ่นที่สาม ระบุ
ความอันตรายเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้อาชีพควาญช้างได้รับความนิยมน้อยลง เพราะหากช้างตกมัน อันตรายก็อาจมาถึงควาญช้างได้
“ตั้งแต่ปี 2516 เราทำพิธีลงอาคมเคาะหัวช้าง เพราะเชื่อว่าจะทำให้ช้างไม่ดุร้ายและเชื่อฟังควาญ แต่ยังไง ช้างก็เป็นสัตว์ มันเป็นสัตว์ที่ฆ่าคนได้ช่วงเวลาที่ตกมัน แม้แต่ควาญช้างที่เชี่ยวชาญอยู่กับช้างมาหลาย 10 ปี ก็ยังเคยถูกช้างตกมันทำร้ายจนเสียชีวิตมาแล้ว” ตาเหม กล่าว
อรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยว่า นับตั้งแต่มีการเก็บสถิติจากปี 2558 ในไทยมีช้างป่าทำร้ายคนจนเสียชีวิตมาแล้วอย่างน้อย 210 คน
ปัจจุบัน ช้างเพศเมียยังถูกใช้ในธุรกิจท่องเที่ยว กระจายอยู่ในกระบี่ พังงา ภูเก็ต ซึ่งมีนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวนมาก รับหน้าที่เป็นพาหนะ และแสดงความสามารถ ขณะที่ช้างเพศผู้ ซึ่งตัวใหญ่กว่ามักถูกใช้สำหรับงานลากไม้ในป่าสูงชัน ซึ่งไม่สามารถใช้รถยนต์ขนได้
ทุกวันนี้ ตาเหม ในวัย 95 ปี ก็ยังคงแข็งแรง และมีความจำที่ยอดเยี่ยม ตระกูลเหมรัตน์ ยังคงเป็นตระกูลเลี้ยงช้างอยู่ พุทธิชาติ กลายมาเป็นผู้รับช่วงประกอบพิธีทำขวัญช้าง และเลี้ยงบุฟเฟต์ประจำปี พวกเขายังมีช้างเหลืออยู่ 15 ตัว ที่พร้อมจะเผชิญความท้าทายของยุคสมัยไปด้วยกัน