จากอาสากู้ภัย สู่เจ้าป่าช้า : คนเบื้องหลังงานมหากุศลเก็บศพไร้ญาติ
2024.11.28
ราชบุรี
ธงรบ ศิตะโยธิน หรือไมค์ วัย 35 ปี เจ้าหน้าที่ประจำมูลนิธิประชานุกูล จังหวัดราชบุรี คือผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของงานล้างป่าช้าครั้งล่าสุด แม้เขาจะคลุกคลีอยู่ในวงการกู้ภัยมานานถึง 21 ปี แต่แทบไม่เคยยุ่งเกี่ยวกับงานสายบุญมาก่อน จนกระทั่งได้รับมอบหมายให้เป็น 'เจ้าป่าช้า' ในงานมหากุศลเก็บศพไร้ญาติครั้งนี้
โดยปกติงานกู้ภัยแบ่งออกเป็น 3 สายหลัก คือ กู้ชีพที่ดูแลเรื่องอุบัติเหตุ กู้ภัยที่เน้นบรรเทาสาธารณภัย และสายบุญที่ดูแลเรื่องล้างป่าช้า ไมค์เองถนัดงานสายกู้ภัยที่ต้องใช้ทักษะการบู๊ โดยผ่านการอบรมทั้งหลักสูตรกู้ภัยน้ำหลาก กู้ภัยที่สูง และดับเพลิงภายในอาคาร ทำให้การรับบทบาทใหม่ในครั้งนี้ เป็นความท้าทายอย่างยิ่ง
“ผมเติบโตที่ราชบุรี มีความผูกพันกับมูลนิธิประชานุกูลมาโดยตลอด เริ่มจากการเป็นอาสาสมัครที่ใช้ทุนและรถส่วนตัวช่วยเหลืองานมูลนิธิ จนกระทั่งช่วงโควิด-19 ระบาด มูลนิธิขาดแคลนบุคลากร จึงตัดสินใจสมัครเป็นพนักงานประจำ เพื่อทุ่มเทให้กับงานช่วยเหลือสังคมอย่างเต็มที่” ไมค์ กล่าวกับเบนาร์นิวส์
เมื่อถึงคราวจัดงานล้างป่าช้าซึ่งมูลนิธิจัดขึ้นทุก 12 ปี ผู้ใหญ่ในองค์กรได้มอบหมายให้ไมค์เป็น 'เจ้าป่าช้า' ผู้บริหารจัดการทุกอย่างในงาน ด้วยเห็นว่าเขามีประสบการณ์ในการวางระบบและดูแลการทำงานจากเบื้องหลัง โดยเฉพาะการมอนิเตอร์และสั่งการที่ช่วยให้มองเห็นภาพรวมของงานได้ชัดเจน
ความท้าทายของไมค์คือ นี่เป็นครั้งแรกที่เขาต้องดูแลงานล้างป่าช้า ต่างจาก 12 ปีก่อน ที่เขาเป็นเพียงอาสาสมัครโบกรถหน้ามูลนิธิ ด้วยความกดดัน เขาจึงทุ่มเทเวลากว่า 3-4 เดือน ในการศึกษาข้อมูลจากโซเชียลมีเดีย ดูวิธีการจัดการของที่อื่น วิเคราะห์ข้อดีข้อเสีย และจดบันทึกเป็นแนวทาง เพื่อให้มั่นใจว่างานจะออกมาดีที่สุด
ไมค์ให้ความสำคัญกับความรู้สึกของผู้แสวงบุญที่เดินทางมาจากทั่วประเทศ จึงคิดระบบลงทะเบียนออนไลน์ขึ้น เพื่อบริหารจัดการให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมในพิธีกรรม ไม่ว่าจะเป็นการทำความสะอาดร่าง หรือการเปิดหลุม โดยให้ทีมงานมูลนิธิและกู้ภัยเป็นเพียงผู้สนับสนุน เขายังจัดให้มีการเปิดหลุมสลับกันเพื่อให้มีพื้นที่ทำงานกว้างขึ้น และจัดให้ผู้แสวงบุญมือใหม่ได้ทำงานร่วมกับผู้มีประสบการณ์
แม้แนวคิดของเขาจะแตกต่างจากที่มูลนิธิเคยทำมา และต้องผ่านการประชุมถกเถียงอย่างหนัก แต่ด้วยการเตรียมตัวอย่างหนัก และมีข้อมูลรองรับชัดเจน ทำให้ได้รับความไว้วางใจจากผู้ใหญ่ให้ดำเนินการตามแผน ความทุ่มเทในการทำการบ้านตลอดหลายเดือนได้พิสูจน์ให้เห็นว่าคุ้มค่า
ผลตอบรับหลังเสร็จงานเป็นที่น่าพอใจ จากการติดตามผลในโซเชียลมีเดีย ผู้แสวงบุญต่างชื่นชมว่างานราบรื่น ไม่ติดขัด และที่สำคัญที่สุดคือ ทุกคนได้มีโอกาสร่วมทำความสะอาดร่างตามที่ตั้งใจ ซึ่งถือเป็นเป้าหมายหลักที่ไมค์วางไว้ตั้งแต่ต้น
สำหรับการล้างป่าช้าครั้งต่อไปอีก 12 ปีข้างหน้า หากยังได้รับความไว้วางใจ ไมค์ยืนยันจะใช้แนวทางเดิม แต่หากไม่ได้ทำหน้าที่นี้แล้ว เขาก็มั่นใจว่าได้วางแนวทางที่ดีไว้ให้ผู้สืบทอดหน้าที่ต่อไป การทำงานครั้งนี้ไม่เพียงแต่ประสบความสำเร็จ แต่ยังได้สร้างมาตรฐานใหม่ในการจัดการงานล้างป่าช้าที่มีประสิทธิภาพและคำนึงถึงผู้มีส่วนร่วมทุกคน
เจ้าหน้าที่เข้าไปเรียงร่างศพไร้ญาติไว้ในเตาเผา ที่มูลนิธิประชานุกูล จังหวัดราชบุรี วันที่ 17 พฤศจิกายน 2567 (ณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์/เบนาร์นิวส์)
การฌาปนกิจใช้เวลาในการเผาทั้งคืน และเช้าวันถัดไป จะทำการเก็บอัฐิบรรจุลงหลุมสำหรับศพไร้ญาติต่อไป ที่มูลนิธิประชานุกูล จังหวัดราชบุรี วันที่ 17 พฤศจิกายน 2567 (ณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์/เบนาร์นิวส์)
การฌาปนกิจศพไร้ญาติจำต้องทำแยกกันระหว่างชายและหญิง ซึ่งเป็นขั้นตอนเกือบสุดท้ายของการล้างป่าช้า หลังจากฌาปนกิจเสร็จ จะนำอัฐิบรรจุลงหลุมสำหรับศพไร้ญาติต่อไป ที่มูลนิธิประชานุกูล จังหวัดราชบุรี วันที่ 17 พฤศจิกายน 2567 (ณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์/เบนาร์นิวส์)
การฌาปนกิจ เริ่มโดยเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิประชานุกูลเท่านั้น นำกระดูกของศพไร้ญาติทั้งหมดเข้าเตาเผา จังหวัดราชบุรี วันที่ 17 พฤศจิกายน 2567 (ณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์/เบนาร์นิวส์)
ผู้แสวงบุญร่วมทำพิธีเสี่ยงทาย ว่าเจ้าของร่างพร้อมที่จะเดินทางไปแล้วหรือยัง ที่มูลนิธิประชานุกูล จังหวัดราชบุรี วันที่ 17 พฤศจิกายน 2567 (ณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์/เบนาร์นิวส์)