ชาวพุระกำ… วิถีชีวิตที่อาจถูกกลืนใต้อ่างเก็บน้ำ

กรมชลประทานมีโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำหนองตาดั้ง บนผืนป่ากว่า 2 พันไร่ กระทบที่ทำกินชาวบ้าน
ชลิต สภาภักดิ์
2023.02.17
กรุงเทพฯ
1-ss-karen.jpg

เส หนุ่มปกาเกอะญอ บ้านพุระกำ ดำน้ำยิงปลาในแม่น้ำภาชี บ้านพุระกำ ราชบุรี การหาปลาแบบนี้ช่วยให้รักษาสมดุลย์ของจำนวนปลาได้ ซึ่งชาวบ้านจะไม่ใช้การช็อตปลาด้วยไฟฟ้าหรือระเบิด วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2565 (ชลิต สภาภักดิ์/เบนาร์นิวส์)

2-ss-karen.jpg

ชาวบ้านพุระกำ นำผักกูดมาปลูกในที่ทำกินริมแม่น้ำภาชี สร้างรายได้ให้กับตัวเองและชุมชน ลดการเบียดเบียนการใช้ทรัพยากรจากป่า วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2565 (ชลิต สภาภักดิ์/เบนาร์นิวส์)

3-ss-karen.jpg

ชาวบ้านที่มีรายได้จะสร้างบ้านด้วยการใช้วัสดุที่คงทนมากขึ้นเพื่อลดการใช้ทรัพยากรจากป่า ส่วนไม้ก็ใช้ไม้ที่ปลูกเองในที่ทำกินของตน เช่น ไม้สน ไม่ยูคา ไม้ไผ่ วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2565 (ชลิต สภาภักดิ์/เบนาร์นิวส์)

4-ss-karen.jpg

ชาวบ้านพุระกำ ติดตั้งกล้องดักถ่ายสัตว์ป่าในป่ารอบชุมชน ร่วมกับเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า เป็นการยืนยันว่าชาวบ้านอนุรักษ์สัตว์ป่า ไม่มีการล่าสัตว์อย่างที่ภาครัฐพยายามกล่าวอ้าง วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2565 (ชลิต สภาภักดิ์/เบนาร์นิวส์)

5-ss-karen.jpg

ชาวบ้านพุระกำเดินสำรวจความอุดมสมบูรณ์ของป่า ร่วมกับเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี ป่าแห่งนี้เป็นเพียงไม่กี่แห่งที่รอดพ้นจากการสัมปทานป่าไม้ เพราะเจ้าของสัมปทานข้ามไปตัดไม้จากฝั่งพม่าแทน ทำให้ยังคงความอุดมสมบูรณ์ควรค่าแก่การปกป้องไว้ วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2565 (ชลิต สภาภักดิ์/เบนาร์นิวส์)

6-ss-karen.jpg

ชาวบ้านบ้านพุระกำ ยังจัดทำแนวกันไฟรอบชุมชนเพื่อป้องกันไฟป่า เป็นการจัดการรักษาป่าอย่างมีส่วนร่วมกับเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2565 (ชลิต สภาภักดิ์/เบนาร์นิวส์)

7-ss-karen.jpg

ภาพมุมกว้างของทิวเขารอบ ๆ บ้านพุระกำ ที่แสดงให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี ส่วนหนึ่งของมรดกโลกกลุ่มป่าแก่งกระจาน วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2566 (ชลิต สภาภักดิ์/เบนาร์นิวส์)

8-ss-karen.jpg

พื้นที่เหมืองแร่เก่าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดสรรให้ชาวบ้านบ้านพุระกำอพยพลงมาอยู่อาศัย ซึ่งมีแต่ทรายที่ไม่สามารถเพาะปลูกได้ และมีความกังวลว่าอาจจะมีสารเคมีจำพวกโลหะหนักปนเปื้อนอยู่ทั้งในดินและแหล่งน้ำ วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2566 (ชลิต สภาภักดิ์/เบนาร์นิวส์)

9-ss-karen.jpg

มีชัย กัวพู้ ยืนอยู่ใต้ต้นทุเรียนที่เขาปลูกและดูแลอย่างดีมาตลอดสิบปี หากอ่างเก็บน้ำถูกสร้างขึ้น พื้นที่ทำกินของชาวบ้านจะจมลงใต้ผืนน้ำ รวมทั้งต้นทุเรียน และต้นไม้อื่น ๆ ที่ชาวบ้านปลูกไว้หลายพันต้น จะเหลือก็เพียงชีวิตของชาวบ้านที่ไม่รู้ชะตากรรม วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2566 (ชลิต สภาภักดิ์/เบนาร์นิวส์)

10-ss-karen.jpg

ชาวบ้านพุระกำเดินข้ามแม่น้ำภาชีในฤดูแล้ง หากเป็นช่วงฤดูฝนจะต้องใช้กระเช้าในการเดินทางข้ามน้ำ สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานยังเป็นอุปสรรคสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในป่าอนุรักษ์เหมือนกับที่อื่น ๆ ทั่วประเทศไทย วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2565 (ชลิต สภาภักดิ์/เบนาร์นิวส์)

ชาวบ้านพุระกำ ถูกโยกย้ายจากหมู่บ้านเก่าที่อยู่ในป่าใกล้ชายแดนไทย-พม่า มาอยู่ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี ในเขตอำเภอสวนผึ้ง ราชบุรี เพราะรัฐไม่ต้องการให้ทำไร่เลื่อนลอย ตอนนี้กำลังประสบปัญหาต้องโยกย้ายถิ่นอีกครั้ง เพราะกรมชลประทานประกาศว่าจะสร้างอ่างเก็บน้ำหนองตาดั้ง ซึ่งจะครอบคลุมพื้นที่ป่าและที่ทำกินของชาวบ้านพุระกำกว่า 2,000 ไร่ แต่ทั้งหมดยังประกอบอาชีพที่ไม่กระทบต่อผืนป่าและทำกิจกรรมที่ช่วยรักษาทรัพยากรไปด้วย

จากคำบอกเล่าของชาวบ้านต่อสื่อท้องที่ กรมชลประทานเริ่มส่งเจ้าหน้าที่ลงมาสำรวจแปลงที่ดินทำกินของชาวบ้าน และเก็บข้อมูลอื่น ๆ เมื่อต้นเดือนกันยายน 2563 ต่อมาเมื่อต้นเดือนเมษายน 2565 ชาวบ้านชุมชนพุระกำและบ้านหนองตาดั้ง ได้เดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อประธานคณะกรรมาธิการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อคัดค้านโครงการดังกล่าว

ตามเอกสารการประเมินผลกระทบของสิ่งแวดล้อมที่กรมชลประทานทำเรียบร้อยแล้ว แต่ยังชะลอการก่อสร้างโครงการไว้ ชาวบ้านประมาณ 77 ครัวเรือน ที่ย้ายมาจากบ้านใจแผ่นดิน ในวนอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เพชรบุรี เมื่อ 30 ปีก่อน กำลังจะถูกย้ายอีกครั้งไปอยู่ในพื้นที่อพยพแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นพื้นที่เสื่อมโทรมจากการทำเหมืองดีบุกในอดีต หลายฝ่ายมีความกังวลกับสารเคมีปนเปื้อนที่ตกค้างอยู่ในแหล่งน้ำ และผืนดินที่มีแต่ทรายไร้ธาตุอาหาร นอกจากนั้น ชาวบ้านยังต้องสูญเสียพืชพันธุ์เดิม และได้เงินชดเชยไม่คุ้มค่า

คนของกรมชลประทานบอกว่า ต้นทุเรียนของผมที่ปลูกมา 10 ปี มีค่าต้นละไม่เกิน 500 บาทหรอก” มีชัย กัวพู้ พูดถึงเมื่อครั้งที่คนของกรมชลประทานมาสำรวจประเมินพื้นที่

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี ในเขตอำเภอสวนผึ้ง ราชบุรี เป็นส่วนหนึ่งของป่ามรดกโลกกลุ่มป่าแก่งกระจาน สัตว์ป่าในพื้นที่รอบหมู่บ้านยังคงชุกชุม ทั้งเก้ง กวาง เลียงผา วัวแดง กระทิง และในป่าพุระกำนี้ ยังพบเห็นสมเสร็จสัตว์ป่าหายาก อีกด้วย

เมื่อชาวบ้านพุระกำได้ถูกโยกย้ายมาอยู่ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี พวกเขาได้ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตจากการทำไร่หมุนเวียนสู่การทำไร่ถาวรภายใต้กฎหมายอนุรักษ์ป่า โดยการจัดสรรที่ดินใหม่ถูกกำหนดโดยการจับสลาก ใครโชคดีก็จะได้แปลงที่ดินดี ใครโชคร้ายหน่อยก็จะได้พื้นที่สูงชายเขาและอาจจะเป็นพื้นดินผสมหินเป็นส่วนใหญ่

ที่นี่ พวกเขาไม่สามารถปลูกข้าวไร่แบบเดิมได้ แต่จะหันมาปลูกพืชผัก เช่น ผักหวานป่า ผักกูด รวมทั้งไม้ผลต่าง เช่น ทุเรียน เงาะ มะม่วง อะโวคาโด เพื่อบริโภคและส่งขายตลาด ไม่ยุ่งเกี่ยวบุกรุกแผ้วถางอีกต่อไป ทั้งยังคอยปกป้องรักษาผืนป่าอันอุดมสมบูรณ์ ที่เป็นแหล่งต้นน้ำที่มอบชีวิตให้พวกเขา

ชาวบ้านพุระกำ ยังทำงานด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทั้งป่าและลำน้ำ ร่วมกับเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าอย่างใกล้ชิด ทั้งการสำรวจแนวเขต การเก็บข้อมูล การจัดการไฟป่า เจ้าหน้าที่ป่าไม้บางคนก็เป็นลูกหลานชาวพุระกำ การดำเนินงานร่วมกันจึงไม่มีปัญหามากนัก อีกทั้งทั้งสองฝ่ายเห็นว่า “คนกับป่า” อยู่ร่วมกันได้อย่างลงตัว

แต่ตอนนี้ โครงการสร้างอ่างเก็บน้ำหนองตาดั้งจากภาครัฐ กำลังท้าทายชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้าน ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ทำกินอันอุดมสมบูรณ์และพื้นที่ป่าอนุรักษ์หลายพันไร่ ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และสัตว์ป่า

ชาวบ้านพุระกำจะต้องโยกย้ายถิ่นฐานไปอีกกี่ครั้ง กว่าจะได้ใช้ชีวิตที่ลงตัวอย่างทุกวันนี้

“เวลาจะขอสร้างถนน ขอไฟฟ้า หรือพัฒนาสาธารณูปโภคต่าง ๆ ช่างยากเย็นเหลือเกิน ติดทั้งกฎหมายอนุรักษ์ กฎหมายความมั่นคง แต่เวลาจะสร้างเขื่อนที่ทำลายป่าเป็นพัน ๆ ไร่ ทำไมถึงทำได้” เปเล่ กัวพู้ พูดทิ้งท้าย

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง