เกาะลันตา : ชุมชนร่วมผลักดันเป็นเมืองท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

ปรับใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น โยงเครือข่าย ให้ความรู้ชุมชน เพื่อให้เกาะลันตาคงอยู่ถึงรุ่นต่อไป
วัจนพล ศรีชุมพวง
2022.11.03
อำเภอเกาะลันตา กระบี่
เกาะลันตา : ชุมชนร่วมผลักดันเป็นเมืองท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เรือสำเภาโบราณได้รับมอบจากภาคธุรกิจเอกชนในพื้นที่ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ให้แก่ประชาชนและนักท่องเที่ยว มุมถ่ายรูปยอดฮิตของนักท่องเที่ยว บนเกาะลันตา อำเภอลันตา จังหวัดกระบี่ วันที่ 11 กันยายน 2565
วัจนพล ศรีชุมพวง/เบนาร์นิวส์

เกาะลันตา จังหวัดกระบี่ โดดเด่นทางด้านทรัพยากรแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งชุมชนมีส่วนผลักดันในการดูแลรักษาทรัพยากรให้สามารถรองรับการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน ด้วยการปรับตัวมาใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น เชื่อมโยงเครือข่าย และให้ความรู้แก่ชุมชนเรื่องความยั่งยืนของแหล่งท่องเที่ยวให้คงอยู่ไปถึงคนรุ่นต่อ ๆ ไป

ชาวต่างชาติจำนวนมากนิยมมาท่องเที่ยวและพักแรมที่เกาะลันตาแบบระยะยาวเป็นเดือน ส่วนใหญ่มักประทับใจในความเงียบสงบ และได้สัมผัสการอยู่ร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับชุมชน

ชุมชนเกาะลันตา มีการปรับแนวทางการพัฒนาเมืองแบบภาพรวมในอนาคตของชุมชน เพื่อพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว เพราะกลุ่มเครือข่ายชาวบ้านลันตาเชื่อว่าจะนำไปสู่การพัฒนาในทุก ๆ เรื่องของชุมชนต่อไป รวมทั้งมีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของเกาะลันตา (Lanta Go Green) เพื่อใช้เป็นยุทธศาสตร์และต้นแบบให้กับจังหวัดกระบี่ในอนาคต

กิจกรรมเชิงอนุรักษ์ มีอาทิเช่น การท่องเที่ยวด้วยเรือแจวด้วยไม้พาย เพื่อลดการใช้เครื่องยนต์เรือและน้ำมัน การนำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ทดแทนในส่วนกิจกรรมต่าง ๆ เช่น ธนาคารปู การเลี้ยงปู และการเพาะสัตว์น้ำขนาดเล็ก เป็นต้น

เกาะลันตา อำเภอเกาะลันตา ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของจังหวัดกระบี่ มีเนื้อที่รวม 220,000 ไร่ อยู่บนฝั่งทะเลอันดามันของประเทศไทย ภูมิทัศน์ของพื้นที่ประกอบด้วย พื้นที่ชายฝั่ง ชายหาด เกาะ หญ้าทะเล ป่าชายเลน คลอง และแม่น้ำ ที่เชื่อมต่อจากภูเขาและทะเล จึงทำให้มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง และยังคงความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศที่สำคัญเป็นจำนวนมาก

เกาะลันตาโดดเด่นในเรื่องความสงบมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ชุมชนเกาะลันตาประกอบด้วย ชาวไทยมุสลิม ชาวไทยเชื้อสายจีน ชาวไทยพุทธ และชาวเล อูรักลาโว้ย กลุ่มชาติพันธ์ุกลุ่มแรกที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานบนเกาะลันตามากว่า 400 ปี

lanta2.jpg

มองชุมชนเมืองเก่าลันตา จากสะพานสิริลันตา ทัศนียภาพยามเย็นอันเงียบสงบที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก อำเภอลันตา จังหวัดกระบี่ วันที่ 30 สิงหาคม 2565 (วัจนพล ศรีชุมพวง/เบนาร์นิวส์)

lanta3.jpg

ชาวบ้านทุ่งหยีเพ็ง เกาะลันตา พายเรือแจวพานักท่องเที่ยวสัมผัสบรรยากาศยามเช้าตรู่ของป่าชายเลนโดยรอบ เป็นการนำร่องการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ในจังหวัดกระบี่ วันที่ 12 กันยายน 2565 (วัจนพล ศรีชุมพวง/เบนาร์นิวส์)

lanta4.jpg

คุณนราธร หงส์ทอง ประธานกลุ่มการท่องเที่ยวโดยชุมชนทุ่งหยีเพ็ง เกาะลันตา ตระเตรียมอาหารเช้าพื้นถิ่นให้นักท่องเที่ยวได้ลองสัมผัสรสชาติแบบมุสลิมแท้ ๆ อำเภอลันตา จังหวัดกระบี่ วันที่ 12 กันยายน 2565 (วัจนพล ศรีชุมพวง/เบนาร์นิวส์)

lanta5.jpg

แหสำหรับจับสัตว์น้ำ ถูกจัดวางไว้สำหรับเป็นแหล่งเรียนรู้วิถีชิวิตของชาวบ้าน และเป็นจุดให้นักท่องเที่ยวถ่ายรูป ของกลุ่มการท่องเที่ยวโดยชุมชนทุ่งหยีเพ็งอำเภอลันตา จังหวัดกระบี่ วันที่ 12 กันยายน 2565 (วัจนพล ศรีชุมพวง/เบนาร์นิวส์)

lanta6.jpg

ชาวอูรักลาโว้ยดั้งเดิม เป็นกลุ่มแรกที่เข้ามาตั้งรกรากบนเกาะลันตา ปัจจุบันยังคงดำรงชีวิตด้วยการทำอาชีพประมงเป็นหลัก วันที่ 11 กันยายน 2565 (วัจนพล ศรีชุมพวง/เบนาร์นิวส์)

lanta8.jpg

ปูทะเลที่ได้รับเพาะเลี้ยงไข่จากธนาคารปู ของชาวบ้านในชุมชนลันตา เมื่อถึงเวลาโตเต็มวัย ชาวบ้านจะนำไปปล่อยสู่บริเวณป่าชายเลนต่อไป อำเภอลันตา จังหวัดกระบี่ วันที่ 12 กันยายน 2565 (วัจนพล ศรีชุมพวง/เบนาร์นิวส์)

lanta7.jpg

ชาวประมงเรือขนาดเล็กในเกาะลันตา ที่มักจะออกหาปูและกุ้งด้วยเครื่องมือจับขนาดเล็ก ในบริเวณป่าชายเลน ซึ่งชุมชนช่วยกันรักษาไว้สำหรับการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน วันที่ 11 กันยายน 2565 (วัจนพล ศรีชุมพวง/เบนาร์นิวส์)

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง