แม่สอด-เมียวดี สองฝั่งชายแดนในหมอกควันสงคราม

คนแม่สอดยังคงพยายามใช้ชีวิตอย่างปกติ ไม่ได้หวาดกลัว
นนทรัฐ ไผ่เจริญ และภิมุข รักขนาม
2024.04.24
อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก
แม่สอด-เมียวดี สองฝั่งชายแดนในหมอกควันสงคราม เกษตรกรไทยทำสวนบนเนินเขาริมแม่น้ำเมย แม่สอด จังหวัดตาก ซึ่งฝั่งตรงข้ามเป็นค่ายพักพิงชั่วคราว วันที่ 24 เมษายน 2567
นนทรัฐ ไผ่เจริญ/เบนาร์นิวส์

หลังกองทัพเมียนมาทำรัฐประหารยึดอำนาจจาก วิน มินต์ ประธานาธิบดี และอองซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ทำให้ประชาชนเมียนมาที่ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารลุกขึ้นประท้วงกองทัพ ขณะที่คณะรัฐประหารซึ่งนำโดย พล.อ. อาวุโส มิน ออง ลาย ก็ตอบโต้ด้วยความรุนแรง สถานการณ์ที่คุกรุ่นปลุกให้กองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ จับอาวุธขึ้นสู่กับกองทัพเมียนมา

นับตั้งแต่ที่พันธมิตรสามภราดรภาพ (Three Brotherhood Alliance) ซึ่งประกอบด้วย กองกำลังโกก้าง (Myanmar National Democratic Alliance Army - MNDAA) กองกำลังปลดปล่อยชาติตะอาง (Ta'ang National Liberation Army - TNLA) และ กองทัพอาระกัน (Arakan Army - AA) ได้รวมตัวกันเมื่อ 27 ตุลาคม 2566 บุกโจมตีกองทัพเมียนมา ในพื้นที่ตอนเหนือของรัฐฉาน โดยใช้ชื่อปฏิบัติการ 1027 โดยมีเป้าหมายโค่นล้มระบอบเผด็จการทหาร และสถาปนาสหพันธรัฐประชาธิปไตยแห่งสหภาพพม่า

กองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ ได้ร่วมกันบุกโจมตีกองทัพเมียนมา และกองกำลังพันธมิตร เพื่อยึดครองเมืองต่าง ๆ กระทั่งต้นเดือนเมษายน 2567 กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen Nation Liberation Army - KNLA) กลุ่มสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Union - KNU) และกองกำลังพิทักษ์ประชาชน (People's Defence Force - PDF) ได้ประกาศว่า สามารถควบคุมพื้นที่เมียวดีไว้ได้

“IDP (Internally Displaced People หรือผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ) เพิ่มสูงขึ้นมาก ประเมินแล้วน่าจะมากกว่า 750,000 คน การสู้รบยังมีเกือบตลอดเวลา โดยเฉพาะเขตตรงข้ามแม่สอด พบพระ อุ้มผาง คนก็เลยต้องขยับมาใกล้ชายแดนมากขึ้น” พรสุข เกิดสว่าง กรรมการมูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน กล่าว

แม้กองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์จะสามารถยึดพื้นที่ได้ แต่กองทัพเมียนมาก็ยังคงพยายามอย่างหนักเพื่อที่จะยึดเมืองที่เสียไปกลับคืนมา การสู้รบภายในประเทศจึงยังดำเนินต่อไป ประชาชนบางส่วนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่สู้รบจึงต้องอพยพมาอยู่ในค่ายพักพิงชั่วคราวใกล้ชายแดนไทย ซึ่งห่างไกลจากการสู้รบมากกว่า 

สำหรับประเทศไทย อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ซึ่งตั้งอยู่ตรงข้ามเมียวดี เพียงแม่น้ำเมยกั้น กลายเป็นพื้นที่รองรับผู้หนีภัยและกลายเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของรัฐบาลไทย สำหรับการส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม 

อย่างไรก็ตาม คนแม่สอดก็ยังคงพยายามใช้ชีวิตอย่างปกติ แม้บางครั้งจะยังได้ยินเสียงปืน และเสียงระเบิดจากฝั่งเมียนมาก็ตาม

“เขารบกันฝั่งโน้น ฝั่งนี้ก็ยังปกติ คนก็ยังมาเที่ยวเหมือนเดิม วันธรรมดาอาจจะน้อยหน่อย เสาร์-อาทิตย์คนก็เยอะหน่อย เราก็คอยฟังข่าวกันไป แต่ไม่ได้กลัว” มะลิ (สงวนนามสกุล) พนักงานบริการในแม่สอด กล่าว

ด้าน สมชัย กิจเจริญรุ่งโรจน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก เปิดเผยกับสื่อมวลชนวานนี้ว่า ปัจจุบัน สถานการณ์การสู้รบในเมียนมาลดความรุนแรงลงจากเมื่อสุดสัปดาห์ ทำให้ชาวเมียนมาซึ่งหนีภัยสู้รบมาอยู่ในที่พักพิงชั่วคราวในจังหวัดตาก กว่า 3 พันคน เริ่มทยอยเดินทางกลับ และในวันพฤหัสบดีนี้จังหวัดตากไม่เหลือผู้หนีภัยการสู้รบชั่วคราวแล้ว

หลายชีวิตในแม่สอด-เมียวดี ยังคงต้องดำเนินไป แม้ความร้อนจะแตะ 40 องศาเซลเซียส ท้องฟ้าจะปกคลุมไปด้วยหมอกควัน และบรรยากาศที่ยังกรุ่นกลิ่นสงคราม 

th-ss-mn-B02.jpg
เด็ก ๆ ในค่ายพักพิงชั่วคราวเขตเมียวดี ขณะนั่งรอรับสิ่งของช่วยเหลือจากภาคประชาสังคมไทย วันที่ 17 เมษายน 2567 (ภิมุข รักขนาม/เรดิโอฟรีเอเชีย)

 

th-ss-mn-B00.jpg
ซิน มะอู อุ้มลูกน้อยของเธอที่ค่ายป่าลอตาโมะ ในรัฐกะเหรี่ยง ประเทศเมียนมา วันที่ 17 เมษายน 2567 (ภิมุข รักขนาม/เรดิโอฟรีเอเชีย)

 

th-ss-mn-B04.jpg
วัยรุ่นในค่ายพักพิงชั่วคราวเขตเมียวดี เล่นสาดน้ำสงกรานต์ วันที่ 17 เมษายน 2567 (ภิมุข รักขนาม/เรดิโอฟรีเอเชีย)

 

th-ss-mn-B08.jpg
ชาวเมียนมาในค่ายพักพิงชั่วคราวเขตเมียวดี ขณะลงอาบน้ำในแม่น้ำเมย วันที่ 24 เมษายน 2567 (นนทรัฐ ไผ่เจริญ/เบนาร์นิวส์)

 

th-ss-mn-B07.jpg
ประชาชนในแม่สอดเข้ามาขอถ่ายรูปกับทหารและรถตรวจการบริเวณใต้สะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 2 วันที่ 12 เมษายน 2567 (ภิมุข รักขนาม/เรดิโอฟรีเอเชีย)


th-ss-mn-B13.jpg
เจ้าหน้าที่ทหาร ยืนรักษาการที่ตลาดริมเมย ซึ่งถูกกั้นด้วยลวดหนาม เพราะเป็นพื้นที่ชายแดนเมียวดี-แม่สอด วันที่ 23 เมษายน 2567 (นนทรัฐ ไผ่เจริญ/เบนาร์นิวส์)

 

th-ss-mn-B05.jpg
กองกำลังชาติพันธุ์กะเหรี่ยงหนุ่มสาว ขณะพักอยู่ใกล้กับค่ายพักพิงชั่วคราว เขตเมียวดี เมียนมา วันที่ 17 เมษายน 2567 (ภิมุข รักขนาม/เรดิโอฟรีเอเชีย)

 

th-ss-mn-B14.jpg
รถบรรทุกฝ่ายไทย ขณะรับชาวเมียนมาจากเมียวดี เพื่อหลบภัยการสู้รบเข้ามาพักพิงชั่วคราวยังฝั่งไทย วันที่ 20 เมษายน 2567 (ภิมุข รักขนาม/เรดิโอฟรีเอเชีย)

 

th-ss-mn-B01.jpg
บรรยากาศในเมืองเมียวดีที่ปกคลุมไปด้วยหมอกควัน ท่ามกลางบรรยากาศของการสู้รบ วันที่ 14 เมษายน 2567 (ภิมุข รักขนาม/เรดิโอฟรีเอเชีย)
ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง