เดือนรอมฎอนของมุสลิมพลัดถิ่นในกรุงเทพฯ

มุสลิมหลากชาติพันธุ์ ตรงกันที่ศรัทธา ร่วมละศีลอดที่มัสยิดฮารูณ
วิศรุต วีระโสภณ
2024.04.08
กรุงเทพฯ
02.JPG

ชาวมุสลิมร่วมสวดมนต์ (ขอดุอา) ก่อนเข้าจะเริ่มละศีลอด ช่วงเดือนรอมฏอน ที่มัสยิดฮารูณ ย่านเจริญกรุง กรุงเทพฯ วันที่ 30 มีนาคม 2567 (วิศรุต วีระโสภณ-Thai News Pix/เบนาร์นิวส์)

12.JPG

เด็กชายมุสลิมร่วมละหมาดก่อนถึงช่วงเวลาละศีลอด ที่มัสยิดฮารูณ ย่านเจริญกรุง กรุงเทพฯ วันที่ 30 มีนาคม 2567 (วิศรุต วีระโสภณ-Thai News Pix/เบนาร์นิวส์)

07.JPG

ชาวมุสลิมหญิงชายช่วยกันจัดเตรียมอาหารมื้อสำคัญ ก่อนถึงช่วงเวลาละศีลอดในแต่ละวัน ที่มัสยิดฮารูณ ย่านเจริญกรุง กรุงเทพฯ วันที่ 30 มีนาคม 2567 (วิศรุต วีระโสภณ-Thai News Pix/เบนาร์นิวส์)

01.JPG

ชาวมุสลิมหลากหลายชาติพันธุ์ร่วมงานเลี้ยงละศีลอดในคืนแรกของเดือนรอมฏอน ที่มัสยิดฮารูณ ย่านเจริญกรุง กรุงเทพฯ ซึ่งตรงกับวันที่ 12 มีนาคม 2567 (วิศรุต วีระโสภณ-Thai News Pix/เบนาร์นิวส์)

04.JPG

ชาวมุสลิมไทยและต่างชาติ ทยอยเดินออกจากมัสยิด เพื่อไปรับประทานอาหาร หลังทำพิธีละหมาดเสร็จในช่วงหัวค่ำ ที่มัสยิดฮารูณ ย่านเจริญกรุง กรุงเทพฯ วันที่ 30 มีนาคม 2567 (วิศรุต วีระโสภณ-Thai News Pix/เบนาร์นิวส์)

06.JPG

เด็กชายจ้องมองชาวมุสลิมทำการละหมาดตะรอเวียฮ์ ซึ่งเป็นการละหมาดหลังการละศีลอดเสร็จสิ้นในแต่ละวัน ร่วมกันที่มัสยิดฮารูณ ย่านเจริญกรุง กรุงเทพฯ วันที่ 30 มีนาคม 2567 (วิศรุต วีระโสภณ-Thai News Pix/เบนาร์นิวส์)

10.JPG

เจ้าหน้าที่จัดเตรียมแกงกุรุหม่าไก่ หนึ่งในอาหารยอดนิยมในภูมิภาคเอเชียใต้ โดยเฉพาะในอินเดียและบังกลาเทศ ที่มัสยิดฮารูณ ย่านเจริญกรุง กรุงเทพฯ วันที่ 30 มีนาคม 2567 (วิศรุต วีระโสภณ-Thai News Pix/เบนาร์นิวส์)

14.JPG

เจ้าหน้าที่จัดเตรียมอาหารสำหรับมื้อละศีลอดในช่วงเดือนรอมฏอนที่ มัสยิดฮารูณ ย่านเจริญกรุง กรุงเทพฯ วันที่ 30 มีนาคม 2567 (วิศรุต วีระโสภณ-Thai News Pix/เบนาร์นิวส์)

ศาสนาอิสลามมีการเผยแพร่ผ่านพม่า จีน และมาเลเซีย เข้ามาในดินแดนด้ามขวานแห่งนี้ ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา บางบันทึกระบุว่า ชาวมุสลิมกลุ่มแรก ๆ ที่เรียกกันว่า “แขกจาม” กระจายตัวตั้งรกรากอยู่ในหลายพื้นที่ของไทย กระทั่งมีบทบาทสำคัญในสงครามยุทธหัตถี สมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

ปัจจุบัน กระทรวงมหาดไทย ระบุว่า ประเทศไทยมีชาวมุสลิมกว่า 3.6 ล้านคน หรือ 5.48 % ของจำนวนประชากรทั้งหมด นอกจากชาวมุสลิมเชื้อสายไทยแล้ว ยังมีชาวมุสลิมพลัดถิ่นจากหลายประเทศ เช่น ปากีสถาน อินเดีย ศรีลังกา มาเลเซีย อินโดนีเซีย เมียนมา เป็นต้น

ในกรุงเทพฯ ย่านเจริญกรุง-บางรัก นับเป็นย่านที่มีชาวมุสลิมอาศัยอยู่มากที่สุดย่านหนึ่ง และแม้เขาเหล่านั้นจะมีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ แต่มีศรัทธาที่เหมือนกัน มัสยิดจึงกลายเป็นศูนย์กลางของความศรัทธา 

“พ่อและแม่เข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2513 เริ่มต้นทำธุรกิจจนส่งต่อมาถึงรุ่นผม ปัจจุบันอยู่ในไทยจนชิน ไม่รู้สึกแตกต่าง ไม่รู้สึกแปลกแยก เดือนรอมฎอนทุกปี ผมก็ปฏิบัติศาสนกิจ ถือศีลอด ไม่ต่างจากชาวไทยมุสลิม หรือมุสลิมทั่วโลก” ฮาซิม ราชา อามีน เจ้าของร้านจิวเวลรี เชื้อสายทมิฬ-อินเดีย กล่าว

ในปี 2567 การวันเริ่มถือศีลอด หรือวันที่ 1 ของเดือนรอมฎอน ฮิจเราะห์ศักราช 1445 ตรงกับวันอังคารที่ 12 มีนาคม ตามการประกาศของ นายอรุณ บุญชม จุฬาราชมนตรี โดยในช่วงเดือนนี้ชาวมุสลิมจะละหมาด ละเว้นการกิน ดื่ม และสูบบุหรี่ ช่วงกลางวัน

มัสยิดฮารูณ แต่เดิมเป็นมัสยิดไม้ถูกเรียกว่า มัสยิดวัดม่วงแค ก่อสร้างตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 กระทั่ง ปี 2411 มีการบูรณะเปลี่ยนเป็นมัสยิดปูน และจดทะเบียนโดยใช้ชื่อ ฮารูณ ตามชื่อโต๊ะอิหม่ามชาวชวาเชื้อสายเยเมน ซึ่งเป็นผู้นำก่อสร้างมัสยิด

เนื่องจากตั้งอยู่ในย่านเจริญกรุง ซึ่งเต็มไปด้วยคนหลากชาติพันธุ์ ทำให้ในเดือนรอมฎอน มัสยิดฮารูณแห่งนี้มักเต็มไปด้วยชาวมุสลิมพลัดถิ่นที่เข้ามาร่วมประกอบศาสนกิจ รวมถึงการอิฟฏอร (ละศีลอด) หรือรับประทานอาหารมื้อค่ำ ในช่วงเดือนถือศีลอดนั่นเอง

“ชาวมุสลิมทมิฬ-อินเดีย ตั้งรกรากทำธุรกิจในไทยมา 3-4 รุ่นแล้ว แต่เดิมไม่มีมัสยิดของชาวทมิฬ-อินเดียโดยเฉพาะ ชาวทมิฬจึงมาใช้มัสยิดฮารูณ แม้ว่าปัจจุบันจะมีมัสยิดบางกอกของชาวทมิฬ-อินเดียแล้ว แต่มัสยิดฮารูณก็ยังเป็นศูนย์รวมของชาวมุสลิมอินเดียอยู่” มูบิน อัสซาฟ ชาวมุสลิมที่มาประกอบศาสนกิจที่มัสยิดฮารูณ กล่าว

ปัจจุบัน คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ระบุว่า มีมัสยิดที่จดทะเบียนจัดตั้งในกรุงเทพฯ 187 แห่ง, ภาคกลาง 344 แห่ง, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 33 แห่ง, ภาคเหนือ 51 แห่ง และภาคใต้ 3,444 แห่ง

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง