‘กริช’ ศัสตราวุธเอกลักษณ์ปักษ์ใต้ เหลือเป็นเพียงของสะสมคุณค่าสูง
2023.07.18
ภาคใต้
ลุงเชย ทองงาม ประกอบอาชีพช่างตีเหล็กมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 โดยตัวของลุงเชยเองนับเป็นช่างตีเหล็กรุ่นที่ 3 มีความเชี่ยวชาญในการประดิษฐ์เครื่องโนรา หัวกริช มีดเหน็บ มีดปลายเชียง เขาถูกยกย่องในฐานะช่างทำกริชชั้นครูของเมืองตรัง ผู้มีฝีมือปราณีตงดงาม
กริช คือ มีดสั้นสองคมที่มีใบมีดคล้ายลูกคลื่น มีด้ามจับทำด้วยไม้สลักลวดลาย ในอดีต กริชนอกจากถูกใช้เป็นอาวุธแล้ว สำหรับชาวมาเลเซีย อินโดนิเซีย และคนไทยในพื้นที่ภาคใต้ มันยังทำหน้าที่เป็นวัตถุบ่งบอกสถานะทางสังคม และเหตุร้ายดีในชีวิตของเจ้าของ แต่ความแพร่หลายได้หายไป เหลือเพียงว่าเป็นของมีมูลค่าของนักสะสมที่มีฐานะ
“ปัจจุบัน ยังมีผู้นิยมสะสมอาวุธโบราณ ในฐานะของเก่าคุณค่าสูง ความนิยมไม่ใช่เฉพาะกริช แต่ยังรวมไปถึง ดาบ พร้า หอก ปังตอ ขวาน ไอเชียง ธนู และอื่น ๆ แม้แต่ละยุคสมัย วัสดุที่นำมาตีอาวุธจะเปลี่ยนไป แต่กลิ่นอายของวัฒนธรรมมลายูยังคงปรากฏให้เห็นบนลวดลายของอาวุธ และเรื่องเล่าของผู้ครอบครอง” ลุงเชย ช่างตีเหล็ก วัย 93 ปี ให้สัมภาษณ์กับเบนาร์นิวส์ ก่อนที่จะเสียชีวิตลงไปเมื่อเร็ว ๆ นี้
ตีพะลี อะตะบู ช่างศิลป์ ผู้เชี่ยวชาญการทำกริชจาก อำเภอรามัน จังหวัดยะลา เล่าถึงประวัติของกริชว่า ตามความเชื่อศาสนาพราหมณ์-ฮินดู มนุษย์ไม่สามารถปกครองมนุษย์ด้วยกันเองได้ จึงใช้กริชเป็นสัญลักษณ์ของเทพพราหมณ์ เพื่อให้ผู้ที่อยู่ใต้ปกครองเคารพนับถือบูชา รูปสลักบนกริชจึงเป็นรูปเทพต่าง ๆ แต่หลังศตวรรษที่ 19 เมื่อคนในพื้นที่เปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลามที่มีพระเจ้าองค์เดียว และไม่มีเทพเจ้าอื่นใด ทำให้ศิลปะบนกริชต้องเปลี่ยนตาม
“ยุคเจ้าเมืองปาตานีขึ้นครองราชย์ ลักษณะของหัวกริชดั้งเดิมที่บอกเล่าถึงเรื่องราวของเทพ ต้องปรับเปลี่ยนไปใช้เป็นรูปสัตว์ เพื่อมิให้ขัดกับหลักทางศาสนาอิสลาม เช่น หัวลูกไก่ หัวพังกะ หัวนกกระสา ฝักทำลักษณะเหมือนเขาควายโค้งเข้าหากัน ผสมผสานลวดลายมลายูปาละวะโบราณ” ตีพะลี กล่าวกับเบนาร์นิวส์
“พอถึงยุค จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้มีการออกกฏหมายห้ามพกพากริช หรือมีดพกตามที่สาธารณะ ทำให้กริชและอาวุธประจำกายถูกเก็บลงหีบและตกทอดผ่านรุ่นสู่รุ่น ต่อมามีพ่อค้ามาเลเซียมากว้านซื้อ กริชจำนวนมากของไทยจึงถูกขายออกไป” ตีพะลี กล่าวเพิ่มเติม
แม้กลุ่มผู้นิยมศัสตราวุธไทยจะลดลง แต่ความนิยมของกริชและอาวุธโบราณยังคงเดินทางและกระจายไปทั่วภาคใต้ ที่จังหวัดพัทลุง สุวิทย์ ศรีสมโภชน์ หรือโนราสุวิทย์ เป็นหนึ่งในผู้สะสมอาวุธโบราณ ด้วยความชอบส่วนตัว และใช้สำหรับทำพิธีโนรา เช่น การตัดสายสิญจน์หรือบริกรรมคาถา เป็นต้น บางครั้งบางครอบครัวก็นำกริชมาให้สุวิทย์ช่วยดูแลรักษาแทน เพราะไม่รู้วิธีเก็บของมีค่าเหล่านี้อย่างถูกต้อง