ศาลออกหมายจับ 6 ข้าราชการจำเลยคดีตากใบ 47
2024.09.12
นราธิวาส
ศาลจังหวัดนราธิวาส ออกหมายจับอดีตข้าราชการหกคน และออกหมายเรียก พล.อ. พิศาล วัฒนวงษ์คีรี อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 ซึ่งปัจจุบันเป็น สส. บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย หลังจำเลยทั้งเจ็ดคนไม่ยอมเดินทางมาศาลตามนัด ในคดีที่เกี่ยวกับเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่หน้าสถานีตำรวจภูธรตากใบ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 จนทำให้มีผู้เสียชีวิต 85 ราย และบาดเจ็บจำนวนมาก
“วันนี้ ไม่มีจำเลยคนใดมาศาลเลยในเจ็ดคนที่ศาลออกหมายเรียกไป แล้วหมายศาลมีไปถึงจำเลยทุกคน บางคนก็ได้รับหมายของศาลด้วยตัวเอง เมื่อไม่มาศาลไม่แจ้งเหตุขัดข้อง หรือร้องขอเลื่อนคดี ดังนั้นศาลออกหมายจับจำเลยหกคนเว้นแต่จำเลยที่หนึ่ง ซึ่งมีสถานภาพเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) อยู่ระหว่างสมัยประชุม คือออกหมายเรียก” นายรัษฎา มนูรัษฎา ทนายความฝ่ายโจทก์ เปิดเผย
จำเลยทั้ง 7 คน ในคดีนี้ประกอบด้วย พล.อ. พิศาล วัฒนวงษ์คีรี อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 อายุ 74 ปี ปัจจุบันเป็น สส. บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย, พล.อ. เฉลิมชัย วิรุฬห์เพชร อดีตผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 5
อายุ 76 ปี, พล.ต.อ. วงกต มณีรินทร์ อดีตผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า อายุ 73 ปี, พล.ต.ท. มาโนช ไกรวงศ์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจภูธร ภาค 9 อายุ 77 ปี
พล.ต.ต. ศักดิ์สมหมาย พุทธกูล อดีตผู้กำกับสถานีตำรวจภูธร อ.ตากใบ จ.นราธิวาส อายุ 70 ปี, นายศิวะ แสงมณี อดีตรองผู้อำนวยการกองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ และอดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทย อายุ 78 ปี และนายวิชม ทองสงค์ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส อายุ 78 ปี
“พี่น้องประชาชนรอคอยความยุติธรรมจากกระบวนการยุติธรรมชั้นต้น จากพนักงานสอบสวน จากพนักงานอัยการ ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐที่จะต้องดำเนินการ แต่เมื่อชาวบ้านรอจนใกล้จะขาดอายุความแล้ว ชาวบ้านใช้สิทธิฟ้องคดีเอง ดังนั้นมันเป็นโอกาสของจำเลยในการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตัวจำเลย ถ้าคุณถูกจับโอกาสไม่ได้ประกันตัวมีสูงนะเพราะศาลเห็นว่าคุณมีพฤติการณ์ไม่ให้ความร่วมมือ” นายรัษฎา กล่าว
หลังจากนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจมีหน้าที่ติดตามจับกุมตัวจำเลยเพื่อมาขึ้นศาลตามนัด โดยศาลได้นัดจำเลยและโจทก์มาศาลอีกครั้งในวันที่ 15 ตุลาคม 2567 และสำหรับ พล.อ. พิศาล ศาลได้มีหนังสือด่วนที่สุดส่งไปยังประธานสภาผู้แทนราษฎร และสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขออนุญาตจับกุม และขอให้ พล.อ. พิศาล 1 แถลงต่อสภาฯ เพื่อสละความคุ้มกันของ สส. และมาศาลตามนัด
คดีนี้ ฝ่ายโจทก์ 48 คน เป็นญาติของผู้ที่เสียชีวิต และบาดเจ็บจากการถูกอาวุธปืนยิงที่หน้า สภ.ตากใบ และระหว่างการควบคุมตัวไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร โจทก์ยื่นฟ้องคดีต่อศาลในวันที่ 25 เมษายน 2567 หลังจากนั้น ศาลจังหวัดนราธิวาสได้ไต่สวนมูลฟ้องจำเลย ตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายนที่ผ่านมา กระทั่งมีคำสั่งรับฟ้องจำเลยเจ็ดรายในเดือนสิงหาคม 2567 และนัดสอบคำให้การ และตรวจพยานหลักฐานในวันพฤหัสบดีนี้
โจทก์ฟ้องเอาผิดเจ้าหน้าที่ในข้อหาฆ่าผู้อื่นโดยทรมานหรือโดยทารุณโหดร้าย, ข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใดโดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย และเสรีภาพ, หน่วงเหนี่ยว หรือกักขังผู้อื่นให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกาย และเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
คดีนี้กำลังจะหมดอายุความในวันที่ 25 ตุลาคม โดยหากในวันที่ 15 ตุลาคม จำเลยเดินทางมาศาลตามนัดหมาย คดีจะเข้าสู่กระบวนการพิจารณา และไม่หมดอายุความลงจนกว่าการพิจารณาถึงที่สิ้นสุด แต่หากจำเลยไม่เดินทางมาตามนัด คดีอาญาคดีนี้จะหมดอายุความ และไม่สามารถดำเนินการต่อได้
“รู้สึกว่าเสียใจ ไม่ได้เจอจำเลย อยากให้เขามาขึ้นศาล อยากให้เขามาขอโทษ พ่อแม่คนที่เสียไป เราก็คิดถึงลูก ตอนนั้น เขาก็กำลังเรียนอยู่ แต่ก็เสียชีวิตไป ทำให้เราหมดหวัง” นางเจ๊ะฮามียะ หะยีมะ หนึ่งในโจทก์ ซึ่งเป็นมารดาของผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ตากใบ ปี 2547 กล่าวกับสื่อมวลชน
เช่นเดียวกับ น.ส. พาตีเมาะ นาแซ หนึ่งในญาติของเหยื่อเหตุการณ์ตากใบ ระบุว่า “คดีจะหมดอายุความแล้ว อยากรู้ว่า เรายังพอจะมีความหวังไหม ที่เราทำได้ก็คงจับมือกัน และสู้จนวินาทีสุดท้าย ที่ผ่านมาสังคมมองว่า ญาติๆเราเป็นคนผิด เราอยากลบล้างข้อกล่าวหาเหล่านี้ด้วยการได้รับความยุติธรรม”
20 ปี กรณีตากใบ
ในวันที่ 25 ตุลาคม 2547 ประชาชนจำนวนหนึ่งรวมตัวที่หน้าโรงพักตากใบ เพื่อเรียกร้องให้ตำรวจปล่อยตัว เจ้าหน้าที่ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) 6 นาย ของบ้านโคกกูแว หมู่ 5 ต.พร่อน อ.ตากใบ ซึ่งถูกควบคุมตัวจากคดียักยอกทรัพย์สินราชการ และแจ้งความเท็จ หลังปืนลูกซองยาวของราชการในความรับผิดชอบของ ชรบ. กลุ่มดังกล่าวสูญหาย
ต่อมาเจ้าหน้าที่ได้เข้าสลายการชุมนุมดังกล่าวด้วยกำลัง ทำให้มีผู้เสียชีวิต 7 ราย มีการควบคุมผู้ชุมนุมจำนวนหนึ่งไปที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ซึ่งห่างจาก อ.ตากใบ กว่า 150 กิโลเมตร โดยการควบคุมตัวผู้ชุมนุม เจ้าหน้าที่ได้ให้ทั้งหมดถอดเสื้อ มัดมือไพล่หลัง แล้วเรียงซ้อนทับกันในรถบรรทุกจีเอ็มซี ทำให้มีผู้เสียชีวิตอีก 78 ราย มีผู้สูญหาย บาดเจ็บ จำนวนมาก และในนั้นจำนวนหนึ่งกลายเป็นผู้พิการ
เดือนพฤษภาคม 2552 ศาลจังหวัดสงขลาได้อ่านคำสั่งไต่สวนการเสียชีวิตของผู้ชุมนุมในเหตุการณ์ดังกล่าว ระบุว่า ผู้ชุมนุมเสียชีวิตจากการขาดอากาศหายใจ ระหว่างการควบคุมตัวของเจ้าพนักงานที่ซึ่งปฏิบัติราชการตามหน้าที่ ต่อมาในเดือนมิถุนายน 2555 ญาติของผู้เสียชีวิตได้อุทธรณ์ต่อศาลให้เพิกถอนคำสั่งไต่สวนการเสียชีวิตดังกล่าว แต่ศาลมีคำสั่งยกคำร้อง ทำให้ถึงปัจจุบันเจ้าหน้าที่ซึ่งเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นั้น ไม่มีใครต้องรับโทษจากการมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของผู้ชุมนุม
อย่างไรก็ตาม ในปี 2556 รัฐบาลได้อนุมัติจ่ายเงินเยียวยาให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่ตากใบ ซึ่งเป็นญาติของผู้เสียชีวิต 85 ราย และผู้ได้รับบาดเจ็บ 49 ราย รวมเป็นเงิน 641.45 ล้านบาท
หลังจากไม่มีความคืบหน้าทางคดีมาหลายปี ช่วงปลายปี 2566 มีการรื้อฟื้นคดีเกี่ยวกับการสลายการชุมนุมที่หน้า สภ.ตากใบ ถูกกลับมาพูดถึงอีกครั้ง ต่อมาญาติของผู้เสียหายจากกรณีตากใบ เปิดเผยว่า ในวันที่ 7 มีนาคม 2567 มีบุคคลที่อ้างว่าเป็นตำรวจนอกเครื่องแบบได้มาพูดคุยกับญาติ เพื่อเชิญตัวไปสถานีตำรวจเพื่อเจรจาเรื่องการเยียวยา ซึ่งสร้างความหวาดกลัวให้กับญาติผู้เสียหายอย่างมาก
“คดีนี้นับเป็นคดีประวัติศาสตร์ เพราะไม่เคยมีเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงต้องขึ้นศาลจากคดีการสลายการชุมนุมที่ทำให้มีคนตายจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นกรณีเช่น 14 ตุลาคม 2516, 6 ตุลาคม 2519 หรือสลายการชุมนุมปี 2553 คดีกบฏต่าง ๆ เจ้าหน้าที่รัฐไม่เคยต้องขึ้นศาลเลย ดังนั้นคดีนี้จะเป็นประตูบานแรกที่จะนำประเทศไทยเข้าสู่การยุติภาวะลอยนวลพ้นผิดของเจ้าหน้าที่รัฐ” น.ส. พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวกับเบนาร์นิวส์
นนทรัฐ ไผ่เจริญ ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน