ศาลรับฟ้องคดีญาติเหยื่อตากใบฟ้องเอาผิดทหาร-เจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง
2024.08.23
นราธิวาส และ กรุงเทพฯ
ศาลจังหวัดนราธิวาสมีคำสั่งรับฟ้องคดีที่ญาติผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ จากเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่หน้าสถานีตำรวจภูธรตากใบ จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 ยื่นฟ้องเอาผิดเจ้าหน้าที่ทหาร และข้าราชการ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์การสลายการชุมนุมและควบคุมตัวจนทำให้มีผู้เสียชีวิต 85 ราย และบาดเจ็บจำนวนมาก โดยศาลนัดสอบคำให้การ 12 กันยายน 2567 นับเป็นการรับฟ้องก่อนหมดอายุความเพียง 63 วัน
“คดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.578/2567 ที่ผู้เสียหาย ได้แก่ ครอบครัวผู้เสียชีวิต และผู้ได้บาดเจ็บ จากเหตุการณ์ตากใบ เป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญาต่อเจ้าหน้าที่รัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์การสลายการชุมนุมหน้า สภ.ตากใบ เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 มีมูลความผิดในข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่น ร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่น และร่วมกันหน่วงเหนี่ยวให้ประทับฟ้องไว้” ตอนหนึ่งของคำสั่งศาล
สำหรับจำเลยทั้ง 7 คน ที่ศาลรับฟ้องประกอบด้วย พล.อ. พิศาล วัฒนวงษ์คีรี อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 อายุ 74 ปี ปัจจุบันเป็น สส. บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย, พล.อ. เฉลิมชัย วิรุฬห์เพชร อดีตผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 5 อายุ 76 ปี, พล.ต.อ. วงกต มณีรินทร์ อดีตผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า อายุ 73 ปี, พล.ต.ท. มาโนช ไกรวงศ์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจภูธร ภาค 9 อายุ 77 ปี
พล.ต.ต. ศักดิ์สมหมาย พุทธกูล อดีตผู้กำกับสถานีตำรวจภูธร อ.ตากใบ จ.นราธิวาส อายุ 70 ปี, นายศิวะ แสงมณี อดีตรองผู้อำนวยการกองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ และอดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทย อายุ 78 ปี และนายวิชม ทองสงค์ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส อายุ 78 ปี
“ต้องขอบคุณองค์คณะผู้พิพากษาที่ทำการไต่สวน และมีคำสั่งประทับฟ้อง ไม่สั่งรับฟ้องในจำเลยที่ 2 และ 7 เพราะเห็นว่าไม่ได้อยู่ร่วมเหตุการณ์การควบคุมตัว ซึ่งคณะทนายความจะมาพิจารณาจะโต้แย้ง หรือเห็นสมควรอย่างใด ผมและทีมทนายถือว่า พอใจในคำสั่งวันนี้” นายรัษฎา มนูรัษฎา ทนายความฝ่ายโจทก์ กล่าวหลังฟังคำสั่ง
ฝ่ายโจทก์ 48 คน เป็นญาติของผู้ที่เสียชีวิต และบาดเจ็บจากการถูกอาวุธปืนยิงที่หน้า สภ.ตากใบ และระหว่างการควบคุมตัวไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร ยื่นฟ้องคดีต่อศาลในวันที่ 25 เมษายน 2567 ศาลจังหวัดนราธิวาสได้ไต่สวนมูลฟ้องจำเลย 9 ราย ตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายนที่ผ่านมา กระทั่งมีคำสั่งรับฟ้องจำเลย 7 ราย และยกฟ้อง 2 ราย ในวันศุกร์นี้
“ตัดสินใจฟ้องเพราะเราอยากรู้ว่าประเทศไทยยังเหลือความยุติธรรมอีกหรือไม่ และต้องการให้จำเลยยอมรับว่า สิ่งที่พวกเขาได้ทำลงไปมันผิดจริง” นางฟารีดาห์ โต๊ะเล อายุ 72 ปี โจทก์ของคดี เนื่องจากเสียลูกชายหนึ่งคน จากเหตุการณ์ในปี 2547 ระบุ
โจทก์ฟ้องเอาผิดเจ้าหน้าที่ในข้อหาฆ่าผู้อื่นโดยทรมานหรือโดยทารุณโหดร้าย, ข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใดโดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย และเสรีภาพ, หน่วงเหนี่ยว หรือกักขังผู้อื่นให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกาย และเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
“การจะสลายการชุมนุมคุณต้องมีมาตรการที่ถูกต้อง ไม่ใช่อาวุธปืนสงครามมาใช้กับประชาชน การควบคุมคนมัดมือไขว้หลังถอดเสื้อนอนคว่ำหน้ากับพื้นรถเพื่อความรวดเร็ว แต่ไม่นึกถึงชีวิตคน เจ้าหน้าที่ต้องตระหนัก และอย่าให้เกิดเรื่องนี้ซ้ำรอย การฟ้องคดีจะเป็นการเยียวยาทางจิตใจ และคืนความยุติธรรมให้กับชาวบ้าน” นายรัษฎา ระบุ
ก่อนหน้านี้ วันที่ 13 มีนาคม 2567 มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมได้ยื่นเรื่องต่อคณะกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้ติดตามความคืบหน้าของคดีในเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่สถานีตำรวจภูธรตากใบ ปี 2547
ต่อมา กมธ. กฎหมายฯ ได้เรียกเจ้าหน้าที่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกรณีที่เกิดขึ้นมาชี้แจง โดยเจ้าหน้าที่ระบุว่า ในสำนวนคดีไต่สวนการตาย พนักงานสอบสวนได้สรุปสำนวนว่า ไม่รู้ตัวผู้กระทำความผิด และไม่ทราบถึงสถานะและความมีอยู่ของสำนวนคดีอาญาที่ต้องดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ
น.ส. พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรมชี้ว่า การรับฟ้องของศาลครั้งนี้นับเป็นคดีประวัติศาสตร์ เพราะเป็นคดีแรกที่เจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมจากคดีการสลายการชุมนุม
“อยากให้บุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งจำเลย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อำนวยความยุติธรรมให้กับคดีนี้ โดยให้ความร่วมมือกับศาลด้วยการมาศาลในวันที่ 12 กันยายนนี้ เพื่อให้สังคมไทยเริ่มเข้าสู่การเป็นสังคมที่กฎหมายถูกบังคับใช้อย่างถ้วนหน้าโดยไม่เลือกปฏิบัติกับเจ้าหน้าที่รัฐ” น.ส. พรเพ็ญ กล่าว
ทั้งนี้ แม้คดีจะเหลืออายุความอีกเพียง 63 วัน แต่หากศาลเริ่มกระบวนการได้ในวันที่ 12 กันยายนนี้ อายุความก็จะขยายออกไปจนกว่าจะพิจารณาคดีเสร็จสิ้น
“ถ้าวันที่ 12 กันยายน ถ้าจำเลยมาศาล แล้วก็ให้การก็ถือว่า อายุความก็จะไม่นับ ถือว่าเริ่มต้นใหม่ แต่ถ้าไม่มาก็ต้องออกหมายจับ” นายอับดุลกอฮาร์ อาแวปูเต๊ะ ผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม กล่าว
กรณีนี้หากวันที่ 12 กันยายน จำเลยเดินทางมาศาลตามนัดหมาย คดีจะไม่หมดอายุความแม้กระบวนการพิจารณาจะเกิน 63 วันออกไป แต่หากจำเลยขอเลื่อนนัดศาลด้วยเหตุผลใดก็ตาม หรือหลบหนี ไม่ปรากฎตัวที่ศาล แม้ศาลจะออกหมายจับ แต่หากพ้นระยะเวลา 63 วัน เท่ากับว่าคดีนี้จะหมดอายุความ 20 ปีของคดีอาญา ไม่สามารถดำเนินคดีต่อได้
20 ปี กรณีตากใบ
ในวันที่ 25 ตุลาคม 2547 ประชาชนจำนวนหนึ่งรวมตัวที่หน้าโรงพักตากใบ เพื่อเรียกร้องให้ตำรวจปล่อยตัว เจ้าหน้าที่ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) 6 นาย ของบ้านโคกกูแว หมู่ 5 ต.พร่อน อ.ตากใบ ซึ่งถูกควบคุมตัวจากคดียักยอกทรัพย์สินราชการ และแจ้งความเท็จ หลังปืนลูกซองยาวของราชการในความรับผิดชอบของ ชรบ. กลุ่มดังกล่าวสูญหาย
ต่อมาเจ้าหน้าที่ได้เข้าสลายการชุมนุมดังกล่าวด้วยกำลัง ทำให้มีผู้เสียชีวิตทันที 7 ราย มีการควบคุมผู้ชุมนุมจำนวนหนึ่งไปที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ซึ่งห่างจาก อ.ตากใบ กว่า 150 กิโลเมตร โดยการควบคุมตัวผู้ชุมนุม เจ้าหน้าที่ได้ให้ทั้งหมดถอดเสื้อ มัดมือไพล่หลัง แล้วเรียงซ้อนทับกันในรถบรรทุกจีเอ็มซี ทำให้มีผู้เสียชีวิตอีก 78 ราย มีผู้สูญหาย บาดเจ็บ จำนวนมาก และในนั้นจำนวนหนึ่งกลายเป็นผู้พิการ
เดือนพฤษภาคม 2552 ศาลจังหวัดสงขลาได้อ่านคำสั่งไต่สวนการเสียชีวิตของผู้ชุมนุมในเหตุการณ์ดังกล่าว ระบุว่า ผู้ชุมนุมเสียชีวิตจากการขาดอากาศหายใจ ระหว่างการควบคุมตัวของเจ้าพนักงานที่ซึ่งปฏิบัติราชการตามหน้าที่ ต่อมาในเดือนมิถุนายน 2555 ญาติของผู้เสียชีวิตได้อุทธรณ์ต่อศาลให้เพิกถอนคำสั่งไต่สวนการเสียชีวิตดังกล่าว แต่ศาลมีคำสั่งยกคำร้อง ทำให้ถึงปัจจุบันเจ้าหน้าที่ซึ่งเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นั้น ไม่มีใครต้องรับโทษจากการมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของผู้ชุมนุม
อย่างไรก็ตาม ในปี 2556 รัฐบาลได้อนุมัติจ่ายเงินเยียวยาให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่ตากใบ ซึ่งเป็นญาติของผู้เสียชีวิต 85 ราย และผู้ได้รับบาดเจ็บ 49 ราย รวมเป็นเงิน 641.45 ล้านบาท
หลังจากไม่มีความคืบหน้าทางคดีมาหลายปี ช่วงปลายปี 2566 มีการรื้อฟื้นคดีเกี่ยวกับการสลายการชุมนุมที่หน้า สภ.ตากใบ ถูกกลับมาพูดถึงอีกครั้ง ต่อมาญาติของผู้เสียหายจากกรณีตากใบ เปิดเผยว่า ในวันที่ 7 มีนาคม 2567 มีบุคคลที่อ้างว่าเป็นตำรวจนอกเครื่องแบบได้มาพูดคุยกับญาติ เพื่อเชิญตัวไปสถานีตำรวจเพื่อเจรจาเรื่องการเยียวยา ซึ่งสร้างความหวาดกลัวให้กับญาติผู้เสียหายอย่างมาก
จึงทำให้ในสามวันต่อมา ในวันที่ 10 มีนาคม 2567 ญาติผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บ กรณีตากใบ ปี 2547 ได้ยื่นหนังสือต่อนายจาตุรงค์ ฉายแสง ประธานกรรมาธิการคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษา และเสนอแนวทางการส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ สภาผู้แทนราษฎร (กมธ. สันติภาพชายแดนใต้ฯ) ให้ตรวจสอบกรณีการคุกคามของเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบรายดังกล่าวด้วย
“คดีนี้นับเป็นคดีประวัติศาสตร์ เพราะไม่เคยมีเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงต้องขึ้นศาลจากคดีการสลายการชุมนุมที่ทำให้มีคนตายจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นกรณีเช่น 14 ตุลาคม 2516, 6 ตุลาคม 2519 หรือสลายการชุมนุมปี 2553 คดีกบฏต่าง ๆ เจ้าหน้าที่รัฐไม่เคยต้องขึ้นศาลเลย ดังนั้นคดีนี้จะเป็นประตูบานแรกที่จะนำประเทศไทยเข้าสู่การยุติภาวะลอยนวลพ้นผิดของเจ้าหน้าที่รัฐ” น.ส. พรเพ็ญ กล่าวกับเบนาร์นิวส์