คดีตากใบ : ตำรวจยังคว้าน้ำเหลว ญาติสิ้นศรัทธาในกระบวนการยุติธรรม
2024.10.18
กรุงเทพฯ
เหลือเวลาไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์ อายุความของคดีการสลายการชุมนุม เมื่อวันที่ 25 ต.ค. 2547 ที่หน้าสถานีตำรวจภูธรตากใบ จ.นราธิวาส ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิต 85 ราย กำลังจะหมดลง ขณะที่ตำรวจยังไม่สามารถนำตัวจำเลย และผู้ต้องหาในคดีมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้ ทำให้ญาติของเหยื่อสิ้นศรัทธาในกระบวนการยุติธรรม
“เราไม่เลือกปฏิบัติ เราได้มีการตรวจสอบโทรศัพท์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิก ถิ่นที่อยู่ คนใกล้ชิด ติดตามแล้ว แต่ยังไม่พบ มีสองคนอยู่ต่างประเทศ เราขอหมายแดงไปที่อินเตอร์โพลตั้งแต่วันที่ 7 ต.ค. 2567 เรามีเดดไลน์วันที่ 25 ต.ค. 2567 ในการตามมันก็ยากอยู่เหมือนกัน แต่เราต้องตาม เราทำงานทุกวัน” พ.ต.อ. รังษี มั่นจิตร ผู้กำกับการซักถาม 2 กองบังคับการสืบสวนสอบสวน จังหวัดชายแดนภาคใต้ เปิดเผย
ขณะที่หนึ่งในจำเลยของคดี พล.อ. พิศาล วัฒนวงษ์คีรี อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 เป็น สส. บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ทำให้พรรคเพื่อไทยในฐานะแกนนำรัฐบาลถูกวิจารณ์ถึงการไม่พยายามนำตัว สส. ในสังกัดมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม อย่างไรก็ตาม วันที่ 15 ต.ค. ที่ผ่านมานี้ พล.อ. พิศาล ได้ยื่นใบลาออกจาก สส. แล้ว
“ต้องปล่อยให้เป็นกระบวนการของกฎหมาย เราให้ความร่วมมือกับกฎหมายอยู่แล้ว แต่สุดท้ายก็ต้องเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ” น.ส. แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าว
ในบรรดาจำเลยและผู้ต้องหาของคดี 14 คน ประกอบด้วย อดีตทหาร, อดีตตำรวจ, อดีตผู้ว่าราชการจังหวัด และข้าราชการระดับสูง ซึ่งปัจจุบัน ยังคงหลบหนีการจับกุม โดยตามประมวลกฎหมายอาญา คดีจะมีอายุความ 20 ปี ซึ่งทำให้คดีตากใบจะหมดอายุความลงในวันที่ 25 ตุลาคม 2567
เบนาร์นิวส์ได้พยายามติดต่อ พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เพื่อสอบถามเกี่ยวกับคดีนี้ แต่ไม่สามารถติดต่อได้
“ยังไม่มีความมั่นใจในกระบวนการยุติธรรม ยังไม่เชื่อในการตามหาผู้กระทำผิดมาลงโทษ รู้สึกเหมือนกับว่าไม่ได้รับความกระจ่าง เพราะศาลออกหมายจับไปแล้ว แต่ก็ยังจับจำเลยไม่ได้สักคน ทำให้ญาติยังรู้สึกค้างคาใจ ไม่สบายใจ เหนื่อยแต่ว่าต้องสู้ เพื่อความยุติธรรมของผู้เสียชีวิตไปแล้ว” นายมูฮำมะซาวาวี อูเซ็ง ซึ่งสูญเสียพี่ชายจากเหตุการณ์ตากใบ กล่าวกับเบนาร์นิวส์
คดีตากใบ สืบเนื่องจากการชุมนุมของประชาชนร่วมพันคน หน้า สภ.อ. ตากใบ เมื่อวันที่ 25 ต.ค. 2547 เรียกร้องให้ตำรวจปล่อยตัวเจ้าหน้าที่ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) ที่ถูกจับ เพราะถูกกล่าวหาว่าทำปืนราชการสูญหาย ต่อเจ้าหน้าที่ใช้กำลังสลายการชุมนุม ทำให้มีผู้เสียชีวิตเจ็ดราย
ผู้ชุมนุมอีกกว่าพันคนถูกมัดมือ และเรียงซ้อนกันในรถบรรทุกทหาร 25 คัน เพื่อนำตัวไปสอบสวนที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร จ.ปัตตานี ที่ห่างไปกว่า 150 กม. ทำให้มีผู้เสียชีวิตระหว่างการเดินทางอีก 78 ราย และบาดเจ็บอีกจำนวนมาก
“ญาติรู้สึกเหมือนการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ในการดำเนินเรื่อง เหมือนไม่มีความจริงใจในการแก้ปัญหา นำผู้ต้องหา จำเลยมาดำเนินคดี เพราะมีแต่คำตอบที่ว่า ไม่เกี่ยว ไม่รู้ ไม่เห็น ยังจับไม่ได้ เหมือนกับอยากให้คดีมันจบไป” นายมูฮำมะซาวาวี กล่าว
ปัจจุบัน คดีที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นี้แบ่งเป็น 1. คดีที่ญาติผู้เสียหาย 48 คน เป็นโจทก์ฟ้องข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุม ซึ่งคดีอยู่ในศาลจังหวัดนราธิวาส
และ 2. คดีที่สำนักงานอัยการสูงสุดเป็นโจทก์ฟ้อง ผู้บังคับบัญชา และคนขับรถบรรทุกขนผู้ชุมนุม ซึ่งอยู่ระหว่างการส่งฟ้องต่อศาลจังหวัดปัตตานี ทั้งสองคดีมี จำเลยและผู้ต้องหาทั้งหมดรวม 14 คน ถูกออกหมายจับ และอยู่ระหว่างการหลบหนี
ด้านกระบวนการยุติธรรม เมื่อวันที่ 15 ต.ค. 2567 ศาลจังหวัดนราธิวาส ได้นัดสอบคำให้การคดีตากใบครั้งที่สอง หลังจากนัดแรกในวันที่ 12 ก.ย. ปีเดียวกัน จำเลย 7 คน ในคดีไม่ยอมเดินทางมาศาลตามนัด จนถูกออกหมายจับ อย่างไรก็ตาม นัดครั้งที่สองก็ไร้เงาของจำเลยเช่นเดิม
“มันเป็นโอกาสสุดท้ายที่คุณจะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม มันเป็นโอกาสที่คุณจะมาพูดความจริงต่อศาล ถ้าคุณหลบหนี อายุความทางกฎหมายขาด แต่อายุความแห่งความทรงจำ เรื่องราวของประชาชน ไม่มีวันขาด เขาจะสงสัยข้องใจตลอดว่า คนตายตั้ง 85 คน ใครรับผิดชอบบ้าง” นายรัษฎา มนูรัษฎา ทนายความฝ่ายญาติผู้เสียหาย กล่าว
แม้จะยังไม่เคยมีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุมปี 2547 ได้รับโทษ แต่ในปี 2556 รัฐบาลได้อนุมัติจ่ายเงินเยียวยาให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นญาติของผู้เสียชีวิต 85 ราย และผู้ได้รับบาดเจ็บ 49 ราย รวมเป็นเงิน 641.45 ล้านบาท
ต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น น.ส. พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ชี้ว่า ไทยควรใช้โอกาสที่ประเทศไทยได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (United Nations Human Rights Council - HRC) วาระปี 2568-2570 ในการอำนวยความยุติธรรมในเรื่องนี้
“รัฐบาลควรเร่งรัดคดีตากใบ เพื่อสร้างความเป็นธรรม และส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในประเทศ ในฐานะที่ได้รับโอกาสจากสหประชาชาติ และสร้างความเชื่อมั่นว่า เราจะคุ้มครองสิทธิของโลกใบนี้ได้ คดีนี้จะเป็นประตูบานแรกที่จะนำประเทศไทยเข้าสู่การยุติภาวะลอยนวลพ้นผิดของเจ้าหน้าที่รัฐ” น.ส. พรเพ็ญ กล่าวกับเบนาร์นิวส์
รุจน์ ชื่นบาน ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน