นักสิทธิร้องสถานพินิจอนุญาตให้ทนายเยี่ยม 'หยก' วัย 15 ปี ถูกคดี ม.112

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2023.04.05
กรุงเทพฯ
นักสิทธิร้องสถานพินิจอนุญาตให้ทนายเยี่ยม 'หยก' วัย 15 ปี ถูกคดี ม.112 ภาพสเก็ตช์ของ 'หยก' เด็กหญิงอายุน้อยที่สุดที่ถูกดำเนินคดี ม.112 ด้วยวัย 14 ปี ในวันที่ต้องสงสัยว่ากระทำผิด เมื่อเดือนตุลาคม ปี 2665
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

นักสิทธิมนุษยชน กล่าวกับเบนาร์นิวส์ในวันพุธนี้ว่า ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนหญิงบ้านปรานี ต้องอนุญาตให้ญาติ และทนายความเข้าเยี่ยม “หยก” หรือธนลภย์ (สงวนนามสกุล) เยาวชนอายุ 15 ปี ซึ่งถูกคุมตัวด้วยข้อหามาตรา 112 ตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม ที่ผ่านมา

ด้าน กัญญาภัทร สุทธิบูรณ์ ผู้อำนวยการบ้านปรานี ระบุว่า หยก ไม่ได้อยู่ในการดูแลของตนเอง จึงให้ข่าวไม่ได้

นางสาวประกายดาว พฤกษาเกษมสุข เจ้าหน้าที่มูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า มูลนิธิผสานวัฒนธรรม และศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พยายามร้องขอต่อสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนกรุงเทพมหานคร เพื่อเข้าเยี่ยมหยก แต่ยังไม่ได้รับการอนุญาต

“เคสนี้เป็นเคสแรกที่เยาวชนอายุแค่ 15 ปี ถูกควบคุมตัวจากคดี ม.112 น่าตกใจที่เด็กต้องถูกคุมขัง เราไปยื่นเอกสารพร้อมทนายที่บ้านปรานี ตั้งแต่เมื่อวาน (4 เมษายน 2566) วันนี้ เราเดินทางไปอีก แต่เข้าไปไม่ได้ เพราะเขาอ้างว่าหนังสือขอเข้าเยี่ยมยังไม่ได้รับการอนุมัติ” ประกายดาว กล่าวผ่านโทรศัพท์

หยก ถูกดำเนินคดีเพราะไปร่วมกิจกรรมทางการเมือง “13 ตุลาหวังว่าสายฝนจะพาล่องไป” เพื่อรณรงค์ให้ปล่อยผู้ต้องขังคดีการเมือง และยกเลิก ม.112  ที่เสาชิงช้า ในวันที่ 13 ตุลาคม 2565 ต่อมาหยกได้รับหมายเรียกจาก สถานีตำรวจสำราญราษฎร์ ในวันที่ 23 มกราคม 2566 ว่า ให้ไปให้ปากคำกรณีที่ อานนท์ กลิ่นแก้ว แกนนำกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) ร้องว่า หยก ทำผิด ม.112 ในระหว่างร่วมกิจกรรมดังกล่าว

หยก ได้นัดเข้ารายงานตัวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในวันที่ 9 เมษายน 2566 แต่ถูกควบคุมตัวและยึดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิก ในวันที่ 28 มีนาคม 2566 ขณะถ่ายวิดีโอการพ่นสีที่กำแพงวัดพระแก้วของศิลปิน “บังเอิญ”

เจ้าหน้าที่ตำรวจอ้างว่าได้ควบคุมตัวหยกตามหมายจับตามกรณีที่เกิดขึ้นในวันที่ 13 ตุลาคม 2565 และถูกควบคุมตัวที่ สน.สำราญราษฎร์ 1 คืน ก่อนถูกนำตัวไปยังศาลเยาวชนและครอบครัวกลางในวันรุ่งขึ้น  

หยกปฏิเสธที่จะเข้ากระบวนการยุติธรรม ปฏิเสธขอประกันตัว และแต่งตั้งทนายความ และหลังการพิจารณา ศาลสั่งให้นำตัวหยกไปควบคุมที่ ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนหญิงบ้านปรานี นครปฐม

นางสาวประกายดาว ระบุว่า ทนายความจากศูนย์ทนายฯ ได้เข้าพบหยกเป็นเวลา 10 นาที ในวันที่ 30 มีนาคมที่ผ่านมา แต่หลังจากนั้นพยายามขอเข้าพบอีก แต่ไม่เคยได้รับการอนุมัติ ปัจจุบัน หยก จึงยังถูกควบคุมตัวที่บ้านปรานี และไม่มีผู้ใดสามารถเข้าพบได้

เบนาร์นิวส์ ได้ติดต่อไปยังนางกัญญาภัทร สุทธิบูรณ์ ผู้อำนวยการบ้านปรานี เพื่อสอบถามรายละเอียดการคุมตัวหยก แต่นางสาวกัญญาภัทรปฏิเสธที่จะให้ข้อมูลโดยระบุว่า “เด็ก (หยก) อยู่ที่สถานแรกรับบ้านปรานี แต่เด็กไม่ได้อยู่ในการดูแลของเรา”

ต่อกรณีที่เกิดขึ้น แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกการดำเนินคดีกับผู้ที่แสดงออกทางความคิดทั้งหมด

“นับตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ผู้ชุมนุมประท้วงโดยสงบหลายคนถูกพิพากษาตัดสินว่า มีความผิดฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ เพียงเพราะการใช้สิทธิในเสรีภาพในการแสดงออกผ่านการโพสต์ข้อความทางออนไลน์ การเข้าร่วมงานแฟชั่นที่จัดขึ้นเพื่อล้อเลียน และเมื่อเร็ว ๆ นี้ ในการขายปฏิทินออนไลน์ซึ่งมีภาพวาดเป็ดเหลือง อันเป็นสัญลักษณ์ของขบวนการชุมนุมประท้วง ทางการไทยต้องยกเลิกการดำเนินคดีต่อบุคคลในทุกข้อหา ซึ่งเป็นการใช้กฎหมายที่มีเนื้อหาไม่สอดคล้องกับกฎหมายและมาตรฐานระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน” ชนาธิป ตติยการุณวงศ์ นักวิจัยประจำประเทศไทย แอมเนสตี้ ระบุในแถลงการณ์ เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2566

ตั้งแต่กรกฎาคม 2563 มีประชาชน และเยาวชนออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แก้ไขรัฐธรรมนูญ และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ รัฐบาลพยายามใช้กฎหมายจัดการกับผู้ประท้วง และผู้ที่แสดงความคิดเห็นทางการเมือง ศูนย์ทนายฯ รวบรวมข้อมูลพบว่า นับตั้งแต่มีการเคลื่อนไหว จนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2566 มีประชาชนถูกดำเนินคดีจากการชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองแล้วอย่างน้อย 1,898 คน จาก 1,187 คดี ในนั้นเป็นผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี 41 คน และอายุระหว่าง 15-18 ปี 243 คน

ทั้งนี้ หากนับเฉพาะคดี ม.112 หรือหมิ่นประมาทกษัตริย์ มีผู้ถูกดำเนินคดี 238 คน ใน 257 คดี ในนั้นเป็นเยาวชนอายุไม่เกิน 18 ปี จำนวน 18 คน ใน 21 คดี

โดยหยกนับเป็นผู้ที่มีอายุน้อยที่สุดที่ถูกฟ้องคดี ม.112 และนับเป็นคนแรกที่ถูกควบคุมตัวในสถานที่ควบคุม โดยหยกมีอายุเพียง 14 ปี 7 เดือน ในวันที่ 13 ตุลาคม ซึ่งมีผู้กล่าวหาว่าหยกกระทำผิด และปัจจุบัน หยกถูกควบคุมตัวในขณะที่มีอายุ 15 ปี 2 เดือน

สำหรับกฎหมายอาญา ม.112 มีโทษจำคุกตั้งแต่ 3-15 ปี โดยตามกฎหมายอาญา หากเป็นผู้ต้องหาที่มีอายุไม่ถึง 12 ปี จะไม่ต้องรับโทษ แต่ต้องนำตัวเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟู เยียวยาผู้เสียหาย ถ้าอายุ 12–15 ปี ศาลเยาวชนและครอบครัวจะพิจารณาว่า จะดำเนินการบำบัดฟื้นฟู หรือว่ากล่าวตักเตือน หรือส่งตัวไปยังสถานที่บำบัดหรืออบรม ถ้าอายุ 15-18 ปี ศาลจะเป็นผู้พิจารณาว่า ควรลงโทษหรือไม่ หากเห็นว่าไม่ควรลงโทษให้ใช้กระบวนการเดียวกับผู้ที่อายุไม่เกิน 15 ปี แต่ถ้าหากศาลเห็นว่าควรลงโทษ ให้รับโทษกึ่งหนึ่งของความผิดที่กฎหมายกำหนด

นางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวเรียกร้องให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องนี้ คือ สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ลงมาตรวจสอบกรณีนี้ ไม่เช่นนั้นอาจจะถือได้ว่าเป็นการควบคุมที่ไม่ชอบตามกฎหมาย

ด้าน นายสุณัย ผาสุข ที่ปรึกษาองค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ประจำประเทศไทย ชี้ว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งระดับสากล และในประเทศไทยควรดำเนินการเพื่อแก้ไขเรื่องที่เกิดขึ้น

“น่ากังวลมากที่ญาติ และทนายไม่สามารถเข้าเยี่ยมหยกได้ ไม่สามารถรับรู้ได้ว่าสภาพความเป็นอยู่เป็นยังไง หน่วยงานที่มีสถานะพิเศษ และสามารถขอเข้าเยี่ยมได้ตามกฎหมายตอนนี้เลย คือ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ขณะที่องค์กรสากลก็คือ Unicef สององค์กรนี้ควรต้องดำเนินการอะไรเกี่ยวกับกรณีที่เกิดขึ้นอย่างเร่งด่วน” นายสุณัย กล่าวกับเบนาร์นิวส์

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง