ไทยส่ง เตียว ฮุย ฮวด นักธุรกิจมาเลเซียให้จีนไปดำเนินคดีฉ้อโกง

รุจน์ ชื่นบาน
2024.08.26
กรุงเทพฯ
ไทยส่ง เตียว ฮุย ฮวด นักธุรกิจมาเลเซียให้จีนไปดำเนินคดีฉ้อโกง ไฟล์ภาพสนามบินสุวรรณภูมิ ณ วันที่ 7 สิงหาคม 2566 ที่ซึ่งนายเตียว ฮุย ฮวด ถูกส่งตัวกลับไปดำเนินคดีที่ประเทศจีนเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2567
ลิเลียน สุวรรณรัมภา/เอเอฟพี

นายเตียว ฮุย ฮวด (Teow Wooi Huat) นักธุรกิจชาวมาเลเซีย ถูกส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดนไปให้กับรัฐบาลจีน เพื่อดำเนินคดีเกี่ยวกับฉ้อโกงชาวจีนในมาเลเซีย อย่างไรก็ตาม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกลับไม่ได้เปิดเผยเรื่องนี้อย่างเป็นทางการ ทำให้นักวิชาการชี้ว่า การส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนควรดำเนินการอย่างเปิดเผยโปร่งใส

“กองการต่างประเทศ ระบุว่า นายเตียว ฮุย ฮวด ชาวมาเลเซีย มหาเศรษฐีนักธุรกิจหมื่นล้านชาวมาเลเซียเจ้าของอาณาจักรเอ็มบีไอกรุ๊ป ข้อหาจัดตั้งองค์กรที่ชักจูงและประกอบสินค้าขายตรง โดยแอบอ้างเป็นธุรกิจการให้บริการ โดยให้ผู้เข้าร่วมชำระเงินค่าบริการหรือสินค้าเพื่อเข้าเป็นสมาชิกที่มีลักษณะแชร์ลูกโซ่ที่ประเทศจีน ถูกจับตามหมายแดงอินเตอร์โพลข้อหาฟอกเงิน นำตัวส่งผู้ร้ายข้ามแดนให้กับประเทศจีน ตามคำสั่งอัยการสูงสุด” ข้อความในข่าว ระบุ 

สื่อมวลชนหลายสำนักรายงานตรงกันว่า เจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำประเทศไทยได้ไปรับตัว นายเตียว จากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เพื่อพาตัวไปยังประเทศจีนด้วยเที่ยวบินที่ CA960 ของสายการบินแอร์ไชน่า (Air China) ในเวลา 19.35 น. ของวันที่ 20 สิงหาคม 2567 

อย่างไรก็ตาม ขณะที่นายเตียวถูกควบคุมตัวที่ห้องควบคุมชั่วคราวท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ กำหนดการถูกเปลี่ยนกะทันหัน โดยนายเตียวถูกพาตัวขึ้นเครื่องบิน เที่ยวบินที่ FM 834 ของสายการบิน เซี่ยงไฮ้แอร์ไลน์ (Shanghai Airlines) ในเวลา 17.34 น. ของวันที่ 20 สิงหาคมท่ามกลางการคุ้มกันอย่างเข้มงวด 

สำนักข่าวและหนังสือพิมพ์ เช่น ไทยพีบีเอส ไทยรัฐ รวมถึงสำนักข่าวต่างประเทศเช่น เซ้าท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ ของฮ่องกงรายงานตรงกันว่า นายเตียวถูกส่งตัวกลับประเทศจีนในวันที่ 20 สิงหาคม 2567

เบนาร์นิวส์สอบถามไปยัง พล.ต.ท. อาชยน ไกรทอง โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้รับคำตอบว่า ไม่ทราบเรื่องดังกล่าว ให้ติดต่อไปยังกองการต่างประเทศ ซึ่งเมื่อติดต่อไปยัง พล.ต.ต.สุระพันธุ์ ไทยประเสริฐ ผู้บังคับการกองการต่างประเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก็ได้รับการยืนยันว่า “กองการต่างประเทศ ไม่เคยมีใครเปิดเผย และผมก็ไม่มีหน้าที่ให้ข่าวด้วย” 

อย่างไรก็ตาม กระทรวงพิทักษ์สันติราษฎร์ (Ministry of Public Security) ของจีน ได้ยืนยันบนเว็บไซต์ว่า รัฐบาลไทยแจ้งกับจีนอย่างเป็นทางการว่า ได้ตัดสินใจจะส่งตัวนายเตียวในวันที่ 14 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนครั้งนี้ เป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลจีนและไทยใน “ปฏิบัติการล่าสุนัขจิ้งจอก” ซึ่งเน้นการปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ แต่ไม่ได้ระบุวันที่ส่งตัวจริงๆ 

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่รัฐบาลมาเลเซียรายหนึ่งกล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า มาเลเซียได้รับแจ้งเพียงว่ามีการส่งผู้ร้ายข้ามแดนเกิดขึ้นเท่านั้น แต่ไม่สามารถให้รายละเอียดได้มากนัก เนื่องจากเรื่องนี้ได้รับการจัดการผ่านช่องทางรัฐบาลต่อรัฐบาล

นายเตียว ฮุย ฮวด (Teow Wooi Huat) หรืออีกชื่อหนึ่งคือ เทดดี้ เตียว(Teddy Teow) ชาวมาเลเซีย หรือรัฐบาลจีนเรียกว่า นายจาง มูมู (Zhang Moumou) เจ้าของกิจการอาณาจักรด้านเอนเตอร์เทนเมนต์ MBI Group และเป็นผู้ก่อตั้ง MBI International Sdn Bhd ถูกตำรวจสากล (Interpol) ออกหมายจับสีแดง (Red Notice) ตั้งแต่ปี 2563 จากการสร้างเครือข่ายลักษณะแชร์ลูกโซ่ และเปิดบริษัทหลอกลวงสมาชิกชาวมาเลเซีย และจีนจำนวนมาก ตั้งแต่ปี 2552 มีเงินหมุนเวียนในระบบกว่า 4.75 แสนล้านบาท 

ในเดือนสิงหาคม 2565 เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถควบคุมตัวนายเตียวได้ที่ บริษัท เอ็มบีไอ จำกัด ในพื้นที่ ต.สำนักขาม อ.สะเดา จ.สงขลา และดำเนินคดีในข้อหาฟอกเงิน ต่อมาในเดือนกันยายนปีเดียวกัน สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำประเทศไทย ได้ยื่นคำร้องขอให้รัฐบาลไทยส่งตัว นายเตียว เป็นผู้ร้ายข้ามแดนไปดำเนินคดีที่จีน ตามฐานความผิดเกี่ยวกับการจัดตั้งองค์กรชักชวนคนขายตรง และแอบอ้างทำธุรกิจแชร์ลูกโซ่ 

กระทั่ง มกราคม 2566 ศาลอาญามีคำสั่งให้ส่งตัว นายเตียว เป็นผู้ร้ายข้ามแดนไปยังประเทศจีน อย่างไรก็ตาม นายเตียวได้ให้ทนายความยื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว แต่เดือนพฤษภาคม 2567 ศาลมีคำสั่งยกคำร้องอุทธรณ์ คือ ยืนยันให้ส่งตัวนายเตียวไปที่ประเทศจีน กระทั่งมีข่าวการส่งตัวกลับ

ต่อกรณีที่เกิดขึ้น นายวรชาติ อาวิพันธ์ นักวิชาการสถาบันศาสนา วัฒนธรรม และสันติภาพ มหาวิทยาลัยพายัพ ชี้ว่า การส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน แม้จะเป็นคดีที่มีหมายจับของตำรวจสากล รัฐบาลไทยก็ควรปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด และเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส

“ถึงแม้ผู้ร้ายจะมี Red Notice แต่ก็ควรได้รับการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด มีการตรวจสอบข้อมูลอย่างละเอียด ได้รับสิทธิในการต่อสู้คดี โดยต้องสร้างสมดุลระหว่างการบังคับใช้กฎหมายและการคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องสงสัย” นายวรชาติ กล่าว

นายวรชาติ ยังระบุว่า “การไม่เปิดเผยข้อมูลอย่างตรงไปตรงมาในกรณีนี้ อาจเป็นผลมาจากความซับซ้อนของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ความจำเป็นในการรักษาความปลอดภัยของปฏิบัติการ และความพยายามในการหลีกเลี่ยงแรงกดดันจากสาธารณชน อย่างไรก็ตาม การขาดความโปร่งใสนี้อาจนำมาซึ่งคำถามเกี่ยวกับความชอบธรรมของกระบวนการและความรับผิดชอบของรัฐบาลต่อสาธารณะ”

มุซลิซา มุสตาฟา ในกัวลาลัมเปอร์ ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง