ศาลอาญาเริ่มพิจารณาคดีจำเลยชาวอุยกูร์ คดีระเบิดศาลพระพรหม

จำเลยคดีระเบิดราชประสงค์ : ผมอยากย้ายเรือนจำ
นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2022.11.22
กรุงเทพฯ
ศาลอาญาเริ่มพิจารณาคดีจำเลยชาวอุยกูร์ คดีระเบิดศาลพระพรหม เจ้าหน้าที่ชุดเก็บกู้วัตถุระเบิดเข้าตรวจสอบจุดเกิดเหตุระเบิด ที่ศาลพระพรหมเอราวัณ ใจกลางแหล่งท่องเที่ยวและการค้าของกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2558
คริสตอฟ อาร์คัมโบลต์/เอเอฟพี

ศาลอาญากรุงเทพใต้ เริ่มการพิจารณาคดีที่มีชาวอุยกูร์สองคนตกเป็นจำเลยในคดีวางระเบิดที่ศาลพระพรหมเอราวัณ ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตยี่สิบรายแล้วในวันอังคารนี้ หลังจากที่ได้รับโอนคดีมาจากศาลทหาร

อาเด็ม คาราดัก อายุ 37 ปีและไมไรลี ยูซุฟู อายุ 33 ปี สองจำเลยในคดีวางระเบิดที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2558 มีรูปร่างผอมบาง อยู่ในชุดนักโทษสีน้ำตาล ถูกใส่กุญแจมือและเท้า และพาตัวมายังห้องพิจารณาคดีที่ 402 ของศาลอาญากรุงเทพใต้ เพื่อสืบพยาน

ซึ่งนับเป็นการสืบพยานในศาลพลเรือนครั้งแรก หลังจากที่นายกรัฐมนตรี มีคำสั่งให้โอนคดีพลเรือนในศาลทหารมาพิจารณาในศาลปกติ เมื่อเดือนกรกฎาคม 2562 โดยที่ผ่านมาการสืบพยานถูกเลื่อนออกไปหลายครั้ง เพราะไม่สามารถหาล่ามภาษาอุยกูร์ที่มีคุณสมบัติพร้อมได้ ทั้งมีการแพร่ระบาดของโควิด-19

ในห้องพิจารณาคดี ในวันอังคารนี้ มีตัวแทนจากสถานเอกอัครราชทูตจีน 5 คน โดยหนึ่งในนั้นเป็น อับดุลวายลี ไอไบ ทำหน้าที่ล่ามแปลภาษาอุยกูร์-อังกฤษให้กับศาล มีทักษะ อรเอก ทำหน้าล่ามแปลภาษาอังกฤษ-ไทย มีผู้สังเกตการณ์จากองค์กรสิทธิมนุษยชน และอื่น ๆ ประมาณ 10 คน

ช่วงเช้า อัยการนำสืบ พ.ต.ท. ทศพร ทับทิม และ พ.ต.ท. สราวุธ อิ่มจิต ซึ่งทำหน้าที่ในกองพิสูจน์หลักฐานกลาง เก็บวัตถุพยานในที่เกิดเหตุบริเวณศาลท้าวมหาพรหม สี่แยกราชประสงค์ วันที่ 17 สิงหาคม 2558 และท่าเรือสาทร 18 สิงหาคม 2558 ในฐานะพยาน ส่วนในช่วงบ่าย สืบพยานปากที่สาม คือ พล.ต.ท. กำธร อุ่นเจริญ ซึ่งได้กล่าวว่า พบสารประกอบระเบิดในห้องของจำเลย

ในการตรวจค้นห้องพบของสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งคือ ของใช้ส่วนตัว กลุ่มที่สองคือ วัตถุที่สามารถใช้ประกอบระเบิดได้ ยูเรีย ดินดำ ดินเทา” พล.ต.ท. กำธร ให้การต่อศาล

ด้านทนายฝ่ายจำเลยพยายามซักค้านว่า ห้องพักในย่านหนองจอกนั้น ถูกเจ้าหน้าที่ทหารบุกเข้าไปในห้องและยุ่งเหยิงกับหลักฐาน ก่อนหน้าที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะไปถึง ซึ่ง พล.ต.ท. กำธร ก็ยืนยันต่อศาลว่า ห้องถูกพังประตูเข้าไป และวัตถุพยานถูกกองรวมกันไว้ที่กลางห้อง ก่อนที่ตำรวจจะไปถึงจริง

ทนายชูชาติ กล่าวว่าการพิจารณาคดีต้องใช้เวลาอีกนาน เพราะมีพยานโจทก์จำนวนมาก

“ไม่รู้ว่าต้องใช้เวลาอีกเท่าไหร่ เพราะมีพยานโจทก์ 700 ปาก แล้วตัดออกเหลือสองร้อยกว่าปาก แต่ผมยังยืนยันไม่ได้” ทนายชูชาติ กล่าวกับเบนาร์นิวส์

221122-th-uyghurs-bombing-shrine-trial-court-main.jpg

อาเด็ม คาราดัก และไมไรลี ยูซุฟู สองจำเลยในคดีวางระเบิดศาลพระพรหมเอราวัณ ถูกทางการนำตัวไปขึ้นศาลในกรุงเทพฯ วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2559 (นิโคลัส อัสโฟริ/เอเอฟพี)

ฝ่ายจำเลยอ้างล่ามไม่แม่น

นางชลิดา ทาเจริญศักดิ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิศักยภาพชุมชน ซึ่งร่วมสังเกตการณ์ในห้องพิจารณาคดี กล่าวว่า ล่ามที่รัฐบาลจีนเสนอมานั้นไม่แม่นภาษากฎหมาย

“ล่ามภาษาอุยกูร์ของฝ่ายจำเลยบอกว่า ล่ามจากจีนทำงานไม่มืออาชีพ เพราะไม่เข้าใจภาษากฎหมายหลายคำ ทำให้แปลได้ไม่ครบ แต่ก็ไม่น่ากังวลมากนัก เพราะมีล่ามฝ่ายจำเลยทำงานคู่ขนานกันไป” นางชลิดา กล่าวกับเบนาร์นิวส์

นายชูชาติ ทนายความจำเลย กล่าวว่า ในก่อนหน้านี้ ฝ่ายจำเลยพยายามคัดค้านการใช้ล่ามที่รัฐบาลจีนส่งมา แต่ศาลยืนยันให้ใช้ล่ามซึ่งรัฐบาลจีนเป็นคนจัดหาเพื่อทำหน้าที่ผู้แปลหลักต่อไป

ผมอยากย้ายเรือนจำ

อาเด็ม และไมไรลี ได้เผยกับเบนาร์นิวส์ว่า ต้องการที่จะขอย้ายออกจากเรือนจำชั่วคราวหลักสี่ เนื่องจากคุณภาพชีวิตของพวกเขาย่ำแย่ลงขณะถูกควบคุมตัวที่นี่

“ผมอยากย้ายเรือนจำ เพราะตอนนี้สุขภาพพวกเราแย่มาก ผมปวดท้อง อาเด็ม (คาราดัก) ปวดฟัน แล้วก็ตามีปัญหาเห็นไม่ชัด อาหารแต่ละมื้อเราเลือกไม่ได้ ถ้าเขาให้หมู หรือไก่ เราก็กินไม่ได้ เพราะมันไม่ฮาลาล เราก็ต้องอด ถ้าปลาเราพอจะกินได้ ผมได้คุยกับเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์แล้วคิดว่า ถ้าได้ไปอยู่เรือนจำปกติ คุณภาพชีวิตเราน่าจะดีกว่านี้” ไมไรลี กล่าว

ไมไรลี ซึ่งปัจจุบันสามารถพูดภาษาไทยได้ดี เปิดเผยว่า เขาถูกควบคุมตัวในเรือนจำชั่วคราวหลักสี่มานาน แทบไม่ได้เห็นเดือนเห็นตะวัน เพราะต้องอยู่แต่ในห้องขัง ไม่ได้รับอนุญาตให้ออกไปกลางแจ้ง ไม่ได้เข้าถึงความบันเทิงชนิดต่าง ๆ ทั้งโทรทัศน์ แม้กระทั่งหนังสือ

“ไม่มีใครมาเยี่ยม โทรศัพท์ไม่ได้ ติดต่อญาติไม่ได้ เขาไม่ให้โทรศัพท์ ไม่ให้เขียนจดหมาย ทั้งเรือนจำมีแค่เราสองคน มันเหงา” เขากล่าว

เหตุผลทั้งหมดทำให้ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ไมไรลี และอาเด็ม พยายามร้องขอผู้คุมให้ย้ายพวกเขาไปยังเรือนจำแห่งอื่น เขายืนยันว่า “ร้องขอหลายครั้ง แต่ไม่เคยสำเร็จ” ดังนั้นในวันอังคารนี้ เขาขอให้นายชูชาติ กันภัย ทนายความของอาเด็ม ทำหนังสือร้องต่อศาล เพื่อย้ายพวกเขาไปควบคุมตัวที่อื่น

221122-th-uyghurs-shrine-bombing-trial-lawyer.jpg

นายชูชาติ กันภัย ทนายความของอาเด็ม คาราดัก ให้สัมภาษณ์กับนักข่าวที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ วันที่ 22 พฤศจิกายน 2565 (นนทรัฐ ไผ่เจริญ/เบนาร์นิวส์)

ความเป็นมา : คดีระเบิดบริเวณศาลท้าวมหาพรหม และกระบวนการศาล

คดีของอาเด็ม และไมไรลี ถูกโอนย้ายจากศาลทหารมายังศาลอาญากรุงเทพใต้ ในปลายปี 2562 แต่การพิจารณาคดีต้องเลื่อนมาโดยตลอดด้วยปัญหาที่ยังไม่สามารถหาล่ามภาษาอุยกูร์ ที่จำเลยทั้งสองคนยอมรับได้ และการแพร่ระบาดของโควิด-19 กระทั่ง จำเลยทั้งคู่ได้มาขึ้นศาลอีกครั้งในวันที่ 17 มกราคม 2565 ในวันนัดพร้อม

คดีนี้สืบเนื่องจากเหตุระเบิดบริเวณศาลท้าวมหาพรหม โรงแรมแกรนด์ไฮแอท เอราวัณ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณสี่แยกราชประสงค์ ในค่ำวันที่ 17 สิงหาคม 2558 ตามภาพทีวีวงจรปิด มีผู้ชายใส่เสื้อสีเหลืองวางกระเป๋าซึ่งเชื่อว่าบรรจุระเบิดเอาไว้ตรงม้านั่ง ภายในบริเวณศาลฯ ต่อมาฉนวนระเบิดถูกจุดแรงระเบิดทำให้มีผู้เสียชีวิต 20 คน และบาดเจ็บกว่า 120 ราย และในวันถัดมาเกิดเหตุระเบิดบริเวณท่าเรือสาทร แต่ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต

ปลายเดือนสิงหาคม 2558 เจ้าหน้าที่ได้จับกุมตัวอาเด็ม หรือบิลาล โมฮัมเหม็ด ที่พูนอนันต์อพาร์ทเมนต์ ย่านหนองจอก ต่อมาไมไรลี ถูกเจ้าหน้าที่จับกุมที่ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ขณะกำลังจะข้ามแดนไปยังประเทศกัมพูชา ในฐานะผู้ต้องสงสัยของคดี ทั้ง 2 คนมีเชื้อสายอุยกูร์ มีภูมิลำเนาอยู่ที่เมืองอุรุมชี เขตปกครองพิเศษซินเจียง อุยกูร์ (XUAR) ประเทศจีน โดยในชั้นพนักงานสอบสวนทั้งคู่ให้การรับสารภาพว่าเป็นผู้ก่อเหตุ

อัยการทหารส่งฟ้องจำเลยในหลายข้อหาสำคัญ ประกอบด้วย ข้อหาร่วมกันมีวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่ออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครอง และใช้วัตถุระเบิดในการกระทำผิดฐานฆ่าผู้อื่น, ร่วมกันพยายามกระทำให้เกิดระเบิด, ร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และร่วมกันกระทำให้เกิดระเบิด จนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย เป็นต้น ซึ่งหากถูกตัดสินว่ามีความผิดจริง มีโทษสูงสุดถึงประหารชีวิต

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2559 จำเลยทั้งคู่ได้ขึ้นศาลทหาร กรุงเทพฯ ครั้งแรก โดยให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และอ้างว่า เหตุผลที่ยอมสารภาพในชั้นสอบสวนเป็นเพราะถูกทำร้ายร่างกาย ต่อมาการพิจารณาในชั้นศาลทหารเป็นไปด้วยความล่าช้า เนื่องจากติดปัญหาเรื่องการหาล่ามภาษาอุยกูร์ และพยานบางคนไม่มาศาลตามนัด กระทั่งมีการย้ายคดีจากศาลทหารมายังศาลพลเรือน และได้เริ่มพิจารณาคดีในปี 2565

ในคดีเดียวกัน เจ้าหน้าที่ยังได้ทำการออกหมายจับผู้ต้องสงสัยอีก 15 คน โดยในปี 2560 ตำรวจได้จับกุมตัว น.ส. วรรณา สวนสัน หรือไมซาเราะห์ ชาวจังหวัดพังงา หนึ่งในผู้ต้องสงสัย ซึ่งภายหลัง น.ส. วรรณา ถูกตั้งข้อหาร่วมกันมียุทธภัณฑ์และครอบครองวัตถุระเบิด เพราะเช่าห้องให้แก่นายอาเด็ม และนายไมไรลี

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง