ศาล รธน. ไม่รับวินิจฉัยกรณีทักษิณรักษาตัว รพ. ตำรวจ ระหว่างรับโทษ
2024.12.18
กรุงเทพฯ
ศาลรัฐธรรมนูญมีมติไม่รับคำร้องไว้พิจารณา กรณีมีผู้ร้องให้วินิจฉัยว่า การที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม อธิบดีกรมราชทัณฑ์ และผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ให้นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ ขณะรับโทษจำคุกเป็นการใช้อำนาจล้มล้างการปกครองหรือไม่
“ผู้ถูกร้องทั้งสามปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ปรากฏข้อเท็จจริง หรือพยานหลักฐานอื่นที่ชัดเจนเพียงพอ และยังห่างไกลเกินกว่าเหตุที่แสดงให้เห็นได้ว่าผู้ถูกร้องทั้งสาม กระทำการอันเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ตอนหนึ่งของมติศาลรัฐธรรมนูญ
กรณีนี้ นายคงเดชา ชัยรัตน์ ในฐานะประชาชน ยื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุด (อสส.) เมื่อวันที่ 11 พ.ย. 2567 ขอ อสส. ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้นายทักษิณ เลิกการกระทำที่เป็นการครอบงำหรือจูงใจให้ผู้ถูกร้องทั้งสามใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองฯ
สืบเนื่องจาก นายทักษิณถูกพิพากษาให้จำคุก 8 ปี ก่อนได้รับพระราชทานอภัยโทษเหลือ 1 ปี จากคดีทุจริต 3 คดี ที่เกิดขึ้นขณะเป็นนายกรัฐมนตรี โดยหลังจากลี้ภัยในต่างประเทศกว่า 16 ปี นายทักษิณได้กลับประเทศ เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2566 แล้วถูกควบคุมตัวไปฟังคำพิพากษาทันที
แต่นายทักษิณไม่เคยต้องนอนในเรือนจำแม้แต่คืนเดียว เนื่องจากกรมราชทัณฑ์ได้ย้ายเขามาคุมตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ โดยอ้างปัญหาสุขภาพ ต่อมานายทักษิณได้รับการพักโทษปล่อยตัวเป็นอิสระ ในเดือน ก.พ. 2567 หลังจากพักอยู่บนชั้น 14 ของโรงพยาบาลตำรวจนาน 6 เดือน
ขณะที่ นายชัยชนะ เดชเดโช สส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ประธานคณะกรรมาธิการการตำรวจ (กมธ.ตำรวจ) สภาผู้แทนราษฎร กล่าวต่อสื่อมวลชนว่า กรณีของนายทักษิณ ขอให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตรวจสอบเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด
“เคยพูดแล้วว่า นายทักษิณคงไม่ผิด แต่คนที่ผิดคือผู้ที่ร่วมขบวนการ ต้องดูว่าใครร่วมขบวนการกี่คนในเรื่องนี้ อันนี้คือข้อเท็จจริงมากกว่า นายทักษิณเป็นผู้ที่ได้รับผล จากการกระทำในเรื่องนี้ ผลจากการนำผู้ต้องหาออกจากเรือนจำ และนำไปรักษาที่โรงพยาบาลตำรวจ ขั้นตอนวิธีการถูกต้องหรือไม่” นายชัยชนะ กล่าว
ด้าน ผศ.ดร. ธนพร ศรียากูล ผู้อำนวยการสถาบันวิเคราะห์การเมืองและนโยบาย สมาคมนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ ชี้ว่า นับตั้งแต่ นายทักษิณพ้นโทษเด็ดขาดในวันที่ 22 ส.ค. ที่ผ่านมา จะไม่มีคดีหรือคำร้องใดๆ ที่น่ากังวลสำหรับเขา
“หลังพ้นโทษวันที่ 22 ส.ค. นายใหญ่คล่องตัวมากขึ้น จะเห็นการสั่งการ การลงพื้นที่ กลไกของรัฐอะไรต่างๆ ที่รู้สึกตะขิดตะขวงใจหมดไป เพราะฉะนั้นการขับเคลื่อนนโยบายก็จะง่ายขึ้น แม้ไม่ต้องมีตำแหน่งที่ปรึกษา หรือตำแหน่งรัฐมนตรีใดๆ เพราะนายใหญ่นั้นใหญ่กว่านายกฯ(น.ส. แพทองธาร ชินวัตร บุตรสาวของนายทักษิณ)” ผศ.ดร. ธนพร กล่าว
ในวันเดียวกัน ศาลรัฐธรรมนูญก็มีมติไม่รับวินิจฉัยคำร้องของ นายสนธิญา สวัสดี อดีตสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ที่ร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการที่ น.ส. แพทองธาร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และนายกรัฐมนตรี ใช้นโยบายดิจิทัลวอลเล็ตหาเสียง แต่เมื่อดำเนินโครงการจริงมีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียด เป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และ พรป. การเลือกตั้ง สส. หรือไม่
“ไม่ปรากฏว่าผู้ร้องถูกละเมิด สิทธิและเสรีภาพและได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายจากการถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพโดยตรง” ตอนหนึ่งของคำวินิจฉัย ระบุ
แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะไม่รับคำร้อง กรณีการรักษาตัวในโรงพยาบาลตำรวจของนายทักษิณ แต่เมื่อวันจันทร์ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้มีมติรับพิจารณา และตั้งคณะกรรมการไต่สวน ข้าราชการที่เกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าวว่า เป็นการกระทำที่เอื้อประโยชน์ให้กับนายทักษิณหรือไม่
ขณะที่ คำร้องที่เกี่ยวข้องกับนายทักษิณ ยังมีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำลังพิจารณาว่า การที่แกนนำพรรคร่วมรัฐบาลเดินทางไปยังบ้านจันทร์ส่องหล้าของนายทักษิณ หลังจาก นายเศรษฐา ทวีสิน ถูกศาลรัฐธรรมนูญให้พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อเดือน ส.ค. 2567 เป็นการครอบงำพรรคหรือไม่
และ คดี ม. 112 จากกรณีที่นายทักษิณเคยให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนที่กรุงโซล เกาหลีใต้ พาดพิงถึงสถาบันกษัตริย์ เมื่อปี 2558 ก็ยังอยู่ในการพิจารณาของศาลอาญาในปัจจุบัน