ทวี สั่งสอบราชทัณฑ์คุมทักษิณที่ รพ.ตำรวจ เลือกปฏิบัติหรือไม่
2024.08.06
กรุงเทพฯ
พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยในวันอังคารนี้ว่า ได้สั่งการให้กรมราชทัณฑ์ตรวจสอบกรณีที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ชี้ว่า การให้นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ถูกคุมตัวที่โรงพยาบาลตำรวจตลอด 6 เดือน แทนที่จะอยู่ในเรือนจำอาจเข้าข่ายทุจริต และเอื้อประโยชน์แก่บุคคล
“เบื้องต้น กรมราชทัณฑ์ได้ชี้แจงไปแล้ว ทาง กสม. อาจมองว่าเป็นการละเมิดสิทธิ อาจเป็นการละเมิดสิทธิของผู้ต้องขังโดยรวม ก็ได้ให้กรมราชทัณฑ์ไปติดตามอยู่ ถ้าเราได้รับข้อมูลก็จะไปตั้งคณะทำงาน และไปแก้กฎกระทรวง” พ.ต.อ. ทวี กล่าว
การที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมมีคำสั่งครั้งนี้ สืบเนื่องจากการแถลงของ กสม. เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2567 เกี่ยวกับการพักรักษาตัวของนายทักษิณในโรงพยาบาลตำรวจตลอด 6 เดือนของการถูกคุมขัง
“กสม. เห็นว่าการกระทำของเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และโรงพยาบาลตำรวจ รวมทั้งผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าข่ายเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับบุคคล อาจเป็นการกระทำผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ แล้วก็กระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการก็เลยส่งให้ ป.ป.ช.” นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กสม. แถลงต่อสื่อมวลชน
กสม. ได้ทำการตรวจสอบเรื่องดังกล่าวหลังจากที่ได้รับคำร้องเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2566 ให้ตรวจสอบ กรณีที่ นายทักษิณถูกพิพากษาให้จำคุก 8 ปี จากคดีทุจริต 3 คดี ที่เกิดขึ้นขณะเป็นนายกรัฐมนตรี เขาถูกควบคุมตัวทันทีที่เดินทางกลับจากการลี้ภัยในต่างประเทศเมื่อ 22 สิงหาคม 2566 ก่อนได้รับพระราชทานอภัยโทษเหลือ 1 ปี
แต่ตั้งแต่วันแรกที่เข้าเรือนจำ นายทักษิณถูกย้ายไปคุมตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ โดยอ้างปัญหาสุขภาพขั้นวิกฤต และไม่เคยต้องนอนในเรือนจำแม้แต่คืนเดียว กระทั่งต่อมาได้รับการพักโทษปล่อยตัวเป็นอิสระ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 หลังจากพักอยู่ในโรงพยาบาลตำรวจ 6 เดือน
“เราเสนอเรื่องให้ทางกระทรวงยุติธรรมตรวจสอบการทำหน้าที่ของเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ แล้วก็กรมราชทัณฑ์ด้วย แล้วก็เสนอไปทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้ตรวจสอบทางผู้ที่เกี่ยวข้องในโรงพยาบาลตำรวจด้วย รวมทั้งส่งไปยังแพทยสภาให้ตรวจสอบแพทย์ที่มีความเห็นในการเจ็บป่วยของนายทักษิณนี่ด้วย” นายวสันต์ ระบุ
กสม. ระบุว่า จะได้ทำหนังสือส่งเรื่องดังกล่าวให้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และแพทยสภา ตรวจสอบเพื่อลงโทษผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง
ก่อนหน้านี้ กรณีการรักษาตัวนายทักษิณทำให้เกิดเสียงวิจารณ์จากประชาชนและสื่อว่า เป็นการเลือกปฏิบัติ หรือนายทักษิณมีสุขภาพเข้าขั้นวิกฤตจริงหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาอาการป่วยของนายทักษิณไม่ได้ถูกเปิดเผยต่อสาธารณชนอย่างละเอียด เนื่องจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอ้างว่าเป็นข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ป่วย
ต่อกรณีดังกล่าว นายทักษิณ หรือครอบครัวไม่ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน หรือให้ความเห็นต่อกรณีที่เกิดขึ้น
ก่อนหน้านี้ นางพงษ์สวาท นีละโยธิน ปลัดกระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เคยระบุว่า นายทักษิณ จะพ้นโทษเด็ดขาด 22 สิงหาคมที่จะถึง แต่ล่าสุด กรมราชทัณฑ์ได้ชี้แจงในวันจันทร์นี้ว่า นายทักษิณจะพ้นโทษเด็ดขาดนับตั้งแต่วันที่ 31 สิงหาคม 2567 เนื่องจากต้องนับโทษจากวันที่ได้รับพระราชทานอภัยโทษคือ 31 สิงหาคม 2566
“เพื่อไทยเชื่อว่า คนที่จะกอบกู้คะแนนนิยมของพรรคได้มีเพียงคุณทักษิณคนเดียว เพราะที่การเลือกตั้งที่ผ่านมาเพื่อไทยเสียต้นทุนจากการตั้งรัฐบาลข้ามขั้ว คะแนนนิยมแย่ลง การเดินหน้าของคุณทักษิณจึงเป็นการเตรียมพร้อมสำหรับการเลือกตั้งในอนาคต ทั้งการเลือกตั้ง สส. และการเลือกตั้งท้องถิ่น” ผศ.ดร. โอฬาร ถิ่นบางเตียว อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าว
อย่างไรก็ตาม นายทักษิณยังมีคดีที่ค้างอยู่ในชั้นศาลอีกหนึ่งคดี คือ คดีเกี่ยวกับการให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน ที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ พาดพิงถึงสถาบันกษัตริย์ เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2558 ซึ่งศาลได้รับฟ้องคดีของนายทักษิณในข้อหาฝ่าฝืนมาตรา 112 และ พรบ.คอมพิวเตอร์ฯ แต่ให้ประกันตัวระหว่างการต่อสู้คดี
รุจน์ ชื่นบาน ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน