นักสิ่งแวดล้อมกังวล อ่าวมาหยาอาจเสียหายอีก หลังเปิดรับนักท่องเที่ยว

วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช
2022.10.28
กรุงเทพฯ
นักสิ่งแวดล้อมกังวล อ่าวมาหยาอาจเสียหายอีก หลังเปิดรับนักท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวกลับมาเยือนอ่าวมาหยา ในจังหวัดกระบี่ วันที่ 29 พฤษภาคม 2565
สุเบล ราย บันดารี/เบนาร์นิวส์

อ่าวมาหยา บนเกาะพีพีเล กลับมาคราคร่ำอีกครั้งหลังการเปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศได้โดยไม่ต้องมีการกักตัว ซึ่งผู้ประกอบการท่องเที่ยวหวังว่าธุรกิจจะฟื้นตัวเร็ววันนี้ แต่มันกลับสร้างความกังวลให้กับนักอนุรักษ์ที่กลัวว่าธรรมชาติจะเสียหายอีกครั้ง หลังจากได้หยุดพักฟื้นฟูตัวเองช่วงปิดโควิด

วิสุทธิ์ หนูแป้น ทำงานที่เกาะพีพี มาตั้งแต่ปี 2529 เล่าว่า ช่วงโควิดที่ผ่านมาเป็นโอกาสที่ธรรมชาติได้หยุดพักฟื้นฟูตัวเอง หลังจากที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ประกาศปิดอ่าวมาหยาไปกว่า 3 ปี วันนี้ สิ่งแวดล้อมและธรรมชาติของอุทยานทางทะเลเปลี่ยนแปลงไปมาก ปะการังแตกหน่อชูช่อใหม่สีขาว ฝูงปลาฉลามหูดำกว่า 100 ตัว กลับมาว่ายน้ำเข้ามาหากินบริเวณหน้าอ่าวมาหยา

“วันนี้ ผมไปดำน้ำสำรวจดูเห็นปะการังเริ่มงอกขึ้นมาใหม่ ขาวมาก เห็นปลาฉลามหูดำว่ายน้ำเข้ามาหากินหน้าอ่าวมากขึ้น” วิสุทธิ์ อายุ 59 ปี ให้สัมภาษณ์เบนาร์นิวส์

อ่าวมาหยา เป็นอุทยานทางทะเลแห่งหนึ่งในหมู่เกาะพีพี มีน้ำทะเลสีฟ้าใส หาดทรายขาว ที่โอบล้อมด้วยหินผา เป็นจุดดำน้ำดูปะการัง และกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวอันโด่งดังระดับโลกที่ทุกคนต้องไป หลังจากภาพยนตร์ฮอลลีวู๊ด เรื่อง The Beach นำแสดงโดย ลีโอนาโด ดีคาปรีโอ ที่ออกฉายเมื่อปี 2543

ในปี 2560 กรมอุทยานแห่งชาติฯ สามารถจัดเก็บรายได้ถึง 679.41 ล้านบาท จากนักท่องเที่ยวที่เยือนอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา–หมู่เกาะพีพี จำนวน 1.99 ล้านคน สร้างรายได้ให้ภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดกระบี่ มากกว่า 105,000 ล้านบาท

ข้อมูลจากกรมอุทยานฯ ยังระบุด้วยว่า จำนวนนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติที่เยือนอ่าวมาหยา มีมากถึง 4,000–5,000 คนต่อวัน แต่กระนั้นได้สร้างผลกระทบต่อชายหาดอย่างรุนแรง

“นักท่องเที่ยวเต็มชายหาด เรือเป็นร้อย ๆ ลำเข้ามาจอดเทียบริมชายหาด คนแน่นเหมือนตลาดน้ำจนไม่มีที่เดิน ธรรมชาติเสียหายไปมาก” วิสุทธิ์ ระบุ

“นักท่องเที่ยวหลายคนไม่ได้มาเฉย ๆ แต่มาถ่ายรูป ถ่ายวิดีโอ ยูทูบเบอร์มาหักปะการัง จับปลา ทำคอนเทนต์ลงโซเชียลมีเดีย” อดีตไกด์นำเที่ยวรายหนึ่ง กล่าวกับเบนาร์นิวส์

อดีตไกด์นำเที่ยวรายนี้ เล่าย้อนไปถึงการเยือนหมู่เกาะพีพี เมื่อกว่า 30 ปีที่แล้วว่า เขาเดินทางไปเกาะพีพีด้วยเรือของชาวบ้าน มีฝูงปลาโลมาว่ายน้ำคลอเคลียข้างกาบเรือ นำทางเข้าสู่หมู่เกาะพีพี จนเขาสามารถเอื้อมมือไปจับปลาโลมาได้ ผู้ประกอบการและนักท่องเที่ยวสมัยก่อนเรียนรู้ที่จะอยู่กับธรรมชาติ ขอบคุณธรรมชาติที่ทำให้เขามีรายได้จึงควรต้องรักษาไว้ให้นาน

จนกระทั่งมีนายทุนนอกพื้นที่เข้ามาทำธุรกิจ ชายหาดที่เคยเป็นที่สาธารณะ กลายเป็นพื้นที่เอกชนมีเจ้าของ มีการก่อสร้างรีสอร์ตคอนกรีตขนาดใหญ่ที่ริมชายหาด มีการ์ดเฝ้าชายหาดห้ามบุกรุก ฝูงปลาโลมาหายไป ชายหาดเต็มไปด้วยเรือสปีดโบตทอดสมอรอ รับ-ส่ง นักท่องเทียว

“พอนักท่องเที่ยวเยอะ ปลาก็ไม่กล้าเข้ามาใกล้ ๆ ก็ไปหากินที่อื่น ปะการังก็หักเสียหายไปมาก จากสมอเรือ” วิสุทธิ์ กล่าว

ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกำลังไปได้สวย ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลของอ่าวมาหยากลับถูกทำลายไปด้วยเช่นกัน ปลาฉลามหูดำที่เคยพบเห็นได้ง่าย ๆ หายไป ชายหาดเสื่อมโทรม เกิดปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาว จากสารเคมีในครีมกันแดด และกิจกรรมของนักท่องเที่ยว ทั้งหมดส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมการดำรงชีวิตของปะการัง

ในที่สุด กรมอุทยานฯ ประกาศปิดอ่าวมาหยา ในวันที่ 1 มิถุนายน ถึงเดือนกันยายน พ.ศ. 2561 ตามคำเรียกร้องของนักวิชาการและคนในพื้นที่ โดยไม่อนุญาตให้มีการจัดกิจกรรมใด ๆ ในบริเวณอ่าวมาหยา

ต่อมาเมื่อรัฐบาลเห็นว่าการปิดอ่าวมาหยา ทำให้ธรรมชาติเริ่มฟื้นฟูตัวเอง จึงประกาศปิดอ่าวมาหยาต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นปี 2564 และเปิดต้อนรับนักท่องเที่ยวอีกครั้งเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2565 ภายใต้เงื่อนไขการกำหนดจุดรอดเรือใหม่ ห้ามจอดเรือหน้าอ่าวมาหยาเหมือนเคย และจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้าพื้นที่รอบละไม่เกิน 375 คน โดยต้องมีการจองล่วงหน้า และใช้เวลาได้รอบละไม่เกิน 1 ชั่วโมง รวมถึงการห้ามนักท่องเที่ยวลงเล่นน้ำในอ่าวมาหยา

221028-th-ch-tourism-conservation-inside.jpg

เรือหางยาวรอลูกค้าที่ทางเข้าด้านหลังอ่าวมาหยา จังหวัดกระบี่ วันที่ 29 พฤษภาคม 2565 (สุเบล ราย บันดารี/เบนาร์นิวส์)

ผู้ประกอบการบางรายไม่เห็นด้วยกับการปิดอ่าว

นายเอกวิทย์ ภิญโญธรรมโนทัย ผู้ประกอบการ และอดีตประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดกระบี่ ไม่เห็นด้วยกับมาตรการปิดอ่าวมาหยา โดยระบุว่า ร้อยละ 95 ของพื้นที่ท่องเที่ยวอยู่ในพื้นที่อุทยานฯ การปิดอ่าวมาหยากว่า 3 ปี ส่งผลกระทบต่อธุรกิจเป็นอย่างมาก ประเทศไทยเสียโอกาสทางธุรกิจการท่องเที่ยว ซึ่งถือว่าเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

“มันมีเส้นบาง ๆ ระหว่างการอนุรักษ์กับการไม่รู้เรื่อง ต้องถามว่าการฟื้นฟูสามปีนี้ ได้อะไรกลับมาบ้าง” เอกวิทย์ ให้สัมภาษณ์กับเบนาร์นิวส์

เอกวิทย์ ระบุว่า แม้ว่าตนเห็นด้วยกับการอนุรักษ์และการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวเพื่อรักษาทรัพยากรธรรมชาติ แต่เกาะแก่งต่าง ๆ ด้านฝั่งอันดามัน มีช่วงไฮซีซั่นและโลว์ซีซั่น ซึ่งในช่วงโลว์ซีซั่นจะมีนักท่องเที่ยวน้อยหรือแทบจะไม่มีอยู่แล้ว ถือเป็นการที่ให้ธรรมชาติได้ฟื้นฟูตัวเองไปด้วย ส่วนที่อ้างว่าปิดอ่าวแล้วเห็นฉลามนั้น เอกวิทย์บอกว่า ไม่ต้องปิดอ่าวก็มีปลาฉลามให้เห็นอยู่แล้วในช่วงโลว์ซีซั่น เพราะไม่มีนักท่องเที่ยว

อย่างไรก็ตาม ในปี 2565 กรมอุทยานฯ ประกาศปิดอ่าวมาหยาอีกครั้ง ช่วงเดือนมิถุนายน-เดือนกันยายน ระบุว่าเป็นช่วงช่วงโลว์ซีซั่น และเปิดให้บริการอีกครั้งตั้งแต่ 1 ตุลาคม เป็นต้นมา

“อ่าวมาหยา เป็นจุดขายของกระบี่ อันดามัน ทุกคนต้องไปอ่าวมาหยา พออ่าวมาหยาปิด ความน่าสนใจก็น้อยลงไป การท่องเที่ยวเสียโอกาส” เอกวิทย์ กล่าว และระบุด้วยว่า กรมอุทยานฯ ควรให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมกับภาคเอกชน ในการประกาศปิดหรือเปิดอุทยานฯ เนื่องจากภาคธุรกิจต้องนำข้อมูลไปทำแผนการตลาด ทำโบรชัวร์ ดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งต้องทำล่วงหน้าเป็นปี

เอกวิทย์ เห็นว่าการจัดการเรื่องจำนวนนักท่องเที่ยวต่อรอบต่อวัน การจัดระบบเรือ การจองคิวเข้าชมอุทยานแห่งชาติทางทะเล ที่มีประสิทธิภาพ จะช่วยเรื่องการอนุรักษ์ได้มากขึ้นและมีประสิทธิภาพมากกว่าการปิดอ่าวมาหยา และยังจะช่วยเพิ่มมูลค่าของอุทยานทางทะเล มากกว่านี้ด้วย “จะเก็บมากกว่า 400 บาทต่อคน ยังได้” เอกวิทย์ระบุ

ฟื้นคืนอย่างมหัศจรรย์

ผศ.ดร. ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม และที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหารจัดการอุทยานแห่งชาติ กล่าวว่า ได้เดินทางไปยังอ่าวมาหยาเมื่อต้นเดือนนี้ และรู้สึกดีใจที่โครงการประสบผลสำเร็จ

“เป็นเรื่องมหัศจรรย์ที่สัตว์ทะเลกลับฟื้นคืนมา พบปะการัง ท้องน้ำที่สงบ ผมเห็นปลาฉลามหูดำว่ายใกล้ชายหาด นี่คือสิ่งที่ผมปรารถนา” ผศ.ดร. ธรณ์ กล่าวกับเบนาร์นิวส์ในวันศุกร์

ทีมผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศทางทะเลและอาสาสมัครภายใต้การนำของ ผศ.ดร. ธรณ์ ที่ทำงานฟื้นฟูอ่าวมาหยา ได้ปลูกปะการังใหม่กว่า 30,000 กิ่ง

วิสุทธิ์ หนูแป้น ร่วมกับชาวบ้านที่เกาะพีพี ในพื้นที่ดำน้ำดูแลปกป้องปะการัง เก็บขยะใต้ทะเล และความสะอาดบนผืนชายหาด เหมือนที่ทำมากว่า 30 ปี เมื่อเห็นนักท่องเที่ยวกลับมาใจหนึ่งก็ดีใจที่ภาคธุรกิจจะฟื้นตัวอีกครั้ง เพราะที่ผ่านมาก็ลำบากกันมามากจากการปิดประเทศ อีกใจหนึ่งยังกังวลว่าธรรมชาติที่สวยงามจะกลับไปเสื่อมสภาพอีก

“ถ้าจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวได้จริง จะรักษาธรรมชาติได้ยั่งยืนมาก บริษัททัวร์ทำธุรกิจ แต่ควรรักษาสิ่งแวดล้อมไปด้วย” วิสุทธิ์ กล่าว

“แต่ผมเชื่อมั่นว่าชาวบ้านชุมชนเกาะพีพี จะช่วยกันดูแลหม้อข้าวตัวเองให้ดีที่สุด ไม่ให้เหมือนที่ผ่านมา”

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง