ชัยชนะของทรัมป์จะมีผลกับไทยอย่างไร

นักวิเคราะห์มอง ไทยอาจถูกกีดกันทางภาษี แนะรัฐบาลเตรียมรับมือแนวทางของทรัมป์
นนทรัฐ ไผ่เจริญ และจรณ์ ปรีชาวงศ์
2024.11.06
กรุงเทพฯ
ชัยชนะของทรัมป์จะมีผลกับไทยอย่างไร บรรยากาศประชาชนชาวอเมริกันที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย กลุ่มผู้สนับสนุนโดนัลด์ ทรัมป์ และพรรคริพับลิกัน ยินดีกับผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนถัดไปของสหรัฐอเมริกา ที่ย่านสุขุมวิท กรุงเทพ วันที่ 6 พฤศจิกายน 2567
สุภัทตรา โพล้งกล่ำ-ไทยนิวส์พิกซ์/เบนาร์นิวส์

ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า ชัยชนะของโดนัลด์ ทรัมป์ และการกลับมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาอีกครั้ง จะส่งผลกระทบถึงไทยในหลายประเด็น โดยเฉพาะภาคการส่งออก เพราะเชื่อแน่ว่า ทรัมป์พร้อมที่จะขึ้นภาษีเพื่อลดการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ จึงแนะนำให้รัฐบาลเร่งหาบุคลากรที่เข้าใจแนวทางของทรัมป์มาวางแผนรับมือ

“ผลกระทบจะมาในเรื่องกำแพงภาษี นับเป็นเรื่องใหญ่ที่สุด ซึ่งคาดว่าจะต้องจ่ายภาษีเพิ่ม 10% หรือมากกว่านั้น ในประเด็นอิทธิพลจีน ทรัมป์คงไม่อยากเผชิญหน้าโดยตรง เพราะมาจากภาคธุรกิจ แต่น่าจะมีวิธีลดความเข้มแข็งของจีนลงในหลายรูปแบบ เช่น คว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ ถ้าจีนย้ายฐานการผลิตมาไทย ก็มีความเสี่ยงว่า สหรัฐฯอาจตามมาคว่ำบาตร” รศ.ดร. ปณิธาน วัฒนายากร นักวิชาการอิสระด้านความมั่นคงและการต่างประเทศ ระบุ

โดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 45 ตัวแทนจากพรรครีพับลิกัน สามารถเอาชนะ คามาลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีคนปัจจุบัน ตัวแทนจากเดโมแครต ในการเลือกตั้งประธานาธิบดี คนที่ 47 ของสหรัฐฯ ในวันที่ 5 พ.ย. นี้ตามเวลาท้องถิ่น

“ทรัมป์อาจจะลดกิจกรรมทางการทูต หรือยุทธศาสตร์ในระดับโลก เพื่อเติมงบประมาณให้กิจการภายในประเทศ แต่ไม่คิดว่าจะพลิกฝ่ามือถึงขนาดโดดเดี่ยวตัวเองออกจากประชาคมโลก แต่คงมีนโยบายอนุรักษ์นิยมมากขึ้น และกีดกันการค้าในความสัมพันธ์แบบทวิภาคี ถ้าเขามองว่าประเทศไหนได้ดุลการค้าอย่างต่อเนื่อง” รศ.ดร. ดุลยภาค ปรีชารัชช รองผู้อำนวยการสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวกับเบนาร์นิวส์ 

ทรัมป์ ปัจจุบัน อายุ 78 ปี เป็นคนนิวยอร์ก เคยศึกษาในโรงเรียนนายร้อยทหารนิวยอร์ก และศึกษาด้านการเงินและพาณิชย์ ที่วิทยาลัยวอร์ตัน มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ต่อมาประสบความสำเร็จในธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และสื่อสิ่งพิมพ์ ก่อนเข้าสู่วงการโทรทัศน์ในฐานะผู้ดำเนินรายการ 

“ความตึงเครียดในเชิงภูมิศาสตร์รัฐศาสตร์ระหว่างสหรัฐฯ กับจีนจะสูงขึ้น ซึ่งจะเป็นทั้งวิกฤต และโอกาสของไทย ซึ่งรัฐบาลต้องพยายามฉวยมาให้ได้ ถ้าสถานการณ์ตึงเครียด สหรัฐฯ จะขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน จะทำให้สินค้าจีนบางส่วนระบายสินค้ามาที่ไทย รัฐบาลต้องเตรียมรับมือ” พริษฐ์ วัชรสินธุ สส. บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคประชาชน กล่าว

ในปี 2559 ทรัมป์ซึ่งชูคำขวัญ “Make America Great Again” สามารถมีชัยชนะเหนือ ฮิลลารี คลินตัน ตัวแทนจากเดโมแครต ซึ่งเป็นอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และภรรยาของอดีตประธานาธิบดีบิล คลินตัน 

รศ.ดร. ดุลยภาค มองว่า สหรัฐฯ ใต้การบริหารของทรัมป์สมัยที่ 2 อาจเข้ามามีบทบาทเรื่องสถานการณ์ในเมียนมามากขึ้น เพื่อถ่วงดุลอำนาจกับจีน อย่างไรก็ตาม อาจไม่เข้มข้นเท่ากับ ยุทธศาสตร์ที่มีต่อสถานการณ์ อิสราเอล-ปาเลสไตน์ หรือ ยูเครน-รัสเซีย

241106-2.JPG
ประชาชนชาวอเมริกันกลุ่มผู้สนับสนุน คามาลา แฮร์ริส ทิม วอลซ์ และพรรคเดโมแครต หลังทราบผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ ที่ร้านอาหารย่านบางรัก กรุงเทพฯ วันที่ 6 พฤศจิกายน 2567 (สุภัทตรา โพล้งกล่ำ-ไทยนิวส์พิกซ์/เบนาร์นิวส์)

“ถ้าสหรัฐฯ ขยับเรื่องสถานการณ์ช่องแคบไต้หวัน ไทยก็ต้องอยู่ในสมการอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะเรามีฐานทัพที่อเมริกาเคยเข้ามามีบทบาทช่วงสงครามเย็น และถ้าอิทธิพลจีนเข้ามาในไต้หวัน หรือกัมพูชามากขึ้น ไทยก็ต้องวางแผนว่าจะถ่วงดุลความสัมพันธ์ทั้งจีน และสหรัฐฯ อย่างไร” รศ.ดร. ดุลยภาค ระบุ 

ทรัมป์ เมื่อรับตำแหน่งสมัยแรก ปี 2560 มีแนวทางที่เป็นของตัวเองมากมาย เช่น เปิดฉากสงครามการค้ากับจีน, ถอนตัวจากข้อตกลงด้านสภาพภูมิอากาศ, ห้ามการเดินทางจาก 7 ประเทศที่มีประชากรมุสลิมเป็นส่วนใหญ่, จำกัดการโยกย้ายถิ่นฐานอย่างเข้มงวดขึ้น รวมถึง ปรับระดับความสัมพันธ์กับประเทศในตะวันออกกลาง

ไทยต้องพร้อมรับมือความคาดเดาไม่ได้ของทรัมป์

“สหรัฐฯ ในยุคทรัมป์จะคาดเดาแนวทางต่างๆ ได้ยากหน่อย แต่เชื่อว่าน่าจะเน้นปัญหาภายใน ทรัมป์น่าจะกลับดูเรื่องของการเข้าเมือง แรงงาน ผู้อพยพ แม้ไม่กระทบไทยโดยตรงแต่ทำให้คนไทยเข้าเมืองลำบากขึ้น รัฐบาลไทยคงจะต้องปรับทีมเพื่อเจรจาเรื่องกำแพงภาษีให้ดี และเร็วกว่านี้” รศ.ดร. ปณิธาน กล่าวกับเบนาร์นิวส์ 

ปี 2563 ทรัมป์ถูกยื่นถอดถอน จากกรณีที่พยายามกดดันให้ยูเครนสอบสวนโจ ไบเดน คู่แข่งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากเดโมแครต ซึ่งการกระทำดังกล่าวขัดต่อกฎหมายสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม สว. ซึ่งเสียงส่วนใหญ่เป็นรีพับลิกันลงมติให้ทรัมป์พ้นผิด แต่ในปีเดียวกัน ทรัมป์ต้องพ่ายแพ้แก่ไบเดนในการชิงตำแหน่งสมัยที่ 2 

“ไทยต้องเตรียมทีมงานด้านต่างประเทศ ซึ่งมีความเข้าใจวิสัยทัศน์ รู้เรื่องหลักการวิเคราะห์ และจิตวิทยาของทรัมป์ จุดพิเศษคือ ทรัมป์คาดเดาไม่ได้ และต้องจับตาดูทีมงานที่ปรึกษาของทรัมป์ โดยเฉพาะคนที่ดูแลกิจการเอเชีย ต้องประเมินว่าเขารู้เรื่องไทยแค่ไหน และจะมีการเปลี่ยนคณะทูตฯในไทยยังไง” รอง ผอ. สถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาฯ กล่าว

แม้จะเคยพ่ายแพ้ แต่ทรัมป์ยังได้รับเลือกจากรีพับลิกันให้ชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2567 เพื่อต่อสู้กับคู่แข่งคนเดิมคือไบเดน อย่างไรก็ตามเพียง 3 เดือนเศษก่อนการเลือกตั้ง ไบเดนได้ตัดสินใจถอนตัว และส่งไม้ต่อให้กับ แฮร์ริส รองประธานาธิบดี เชื้อสายจาไมกา-อินเดีย วัย 59 ปี ซึ่งเป็นอดีตอัยการสูงสุดรัฐแคลิฟอร์เนีย

ต่อการเลือกตั้ง มาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ยืนยันว่า การเปลี่ยนตัวประธานาธิบดีของสหรัฐฯ จะไม่กระทบความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ 

“ต่อให้ใครมาเป็นรัฐบาลความสัมพันธ์ระหว่างประเทศยังคงมั่นคงและแน่นแฟ้นเหมือนเดิม นั่นคือนโยบายของนายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร ที่ต้องการให้ประเทศไทยมีบทบาท ไม่ใช่เป็นผู้ที่จะไปกำหนดอะไร รัฐบาลต้องการเห็นความร่วมมือระหว่างประเทศไทยกับทุกประเทศ อย่างดีและต้องมีความยุติธรรม” มาริษ กล่าว 

รุจน์ ชื่นบาน ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง