เจ้าหน้าที่พบร่างเหยื่ออุโมงค์รถไฟความเร็วสูงถล่มแล้วทั้งสามราย
2024.08.30
กรุงเทพฯ
เจ้าหน้าที่พบผู้เสียชีวิตเพิ่มอีกสองราย รวมเป็นทั้งหมดสามราย จากเหตุอุโมงค์รถไฟความเร็วสูงถล่มช่วงคลองขนานจิต ต.จันทึก อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ด้านนักวิชาการชี้เหตุการณ์อุโมงค์ถล่มอาจส่งผลกระทบกับความเชื่อมั่นในการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงระยะที่ 2 ระหว่างนครราชสีมาถึงหนองคาย
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รักษาการรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ยืนยันว่า ผู้ประสบภัยสามรายเสียชีวิตทั้งหมด โดยจะส่งร่างให้กับโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมาพิสูจน์ และแถลงสาเหตุการเสียชีวิตอย่างเป็นทางการในภายหลัง
“ภารกิจของภาครัฐที่มาร่วมกันกู้ภัย กู้ชีวิตของเหตุการณ์ดินถล่มในครั้งนี้ก็น่าจะสิ้นสุดลง และจะมีการส่งมอบพื้นที่กลับไปยังการรถไฟแห่งประเทศไทย และผู้รับจ้าง สถานการณ์ล่าสุด เราได้ค้นพบผู้เคราะห์ร้ายทั้งสามครบแล้ว ได้นำร่างทั้งสามออกมาแล้ว เบื้องต้นเสียชีวิตจากสภาพการขาดอากาศหายใจ เป็นเหตุการณ์ที่ไม่มีใครอยากให้เกิด” นายอนุทิน กล่าว
เหตุอุโมงค์ถล่มดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงเวลาประมาณ 23.30 น. ของวันเสาร์ที่ 24 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยอุโมงค์ความยาวประมาณ 2 กิโลเมตร ในพื้นที่ ต.จันทึก อ.ปากช่อง จุดเกิดเหตุอยู่ห่างจากปากอุโมงค์ ประมาณ 1.5 กิโลเมตร
หลังเหตุถล่มมีการเปิดเผยว่า มีผู้ประสบภัย 3 คนประกอบด้วย 1. นายหู เสียง หมิ่น วิศวกรผู้ควบคุมงาน ชาวจีน 2. นายตง ชิ่น หลิน คนขับรถขุด ชาวจีน และ 3. คนขับรถบรรทุกชาวเมียนมาเพศชาย (ยังไม่ทราบชื่อและนามสกุล)
“รัฐบาลจีนได้ส่งเจ้าหน้าที่กู้ภัย ที่เป็นเจ้าหน้าที่ชาวจีนมาอำนวยการเรื่องการกู้ภัย เป็นความร่วมมือกันอย่างดี ก็หวังว่ากรณีนี้จะเป็นอุทาหรณ์ ทุกฝ่ายก็คงจะต้องทำการศึกษาว่า จะทำอย่างไรไม่ให้เกิดเหตุเช่นนี้ขึ้นอีก หรือถ้าเกิดเหตุเช่นนี้จะมีวิธีการใดที่จะทำให้ใช้เวลาให้น้อยที่สุดในการให้การช่วยเหลือผู้เคราะห์ร้าย” รองนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติม
การช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ใช้เจ้าหน้าที่กู้ภัยของการรถไฟแห่งประเทศไทย และทีมกู้ภัยหูหนานซันไชน์ (Hunan Sunshine) จากประเทศจีน กระทั่ง 11.00 น. ของวันพฤหัสบดี เจ้าหน้าที่พบร่างผู้เสียชีวิตรายแรก ซึ่งเป็นคนขับรถบรรทุกชาวเมียนมา
นายเอกรัช ศรีอาระยันพงษ์ หัวหน้าสำนักงานผู้ว่าการ การรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ในเวลา 06.00 น. ของวันศุกร์นี้ เจ้าหน้าที่กู้ภัยสามารถพบร่างผู้เสียชีวิตเพิ่มเติมอีกสองราย
“พบร่างคนงานที่เสียชีวิตเพิ่มอีก 2 ราย คือ นายหูเสียงหมิ่น เพศชาย สัญชาติจีน (ผู้ควบคุมงาน) นายตงชิ่นหลิน เพศชาย สัญชาติจีน (ขับรถแบ็กโฮ) โดยเจ้าหน้าที่กู้ภัยได้ขุดดินและสร้างกล่องค้ำยันทะลุกองดินเข้าไปภายในอุโมงค์ ห่างจากจุดแรก ประมาณ 3 เมตร” นายเอกรัช ระบุ
นายเอกรัช กล่าวว่า การรถไฟแห่งประเทศไทย ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้ง และพร้อมให้ความช่วยเหลือครอบครัวของผู้เสียชีวิต และขอขอบคุณทีมงานกู้ภัย เจ้าหน้าที่ภาครัฐ ภาคเอกชนทุกคน ที่มีส่วนร่วมในการให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ จนสามารถพบร่างของคนงานที่ติดค้างทั้ง 3 ราย
ต่อเหตุการณ์ดังกล่าว ดร. เจียง ยู่ ลี่ อาจารย์ประจำสำนักวิชานิติศาสตร์และสังคมวิทยา มหาวิทยาลัยยูนนาน นอร์มอล ประเทศจีน ระบุว่า การเสียชีวิตของชาวต่างชาติทั้ง 3 ราย อาจส่งผลกระทบกับโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงในระยะถัดไป
“โครงการรถไฟความเร็วสูงเฟสถัดไป (นครราชสีมา-หนองคาย) อาจได้รับผลกระทบในแง่ของการชะลอการตัดสินใจ การเพิ่มต้นทุนด้านความปลอดภัย และการเผชิญกับกระแสต่อต้านจากประชาชน” ดร. เจียง กล่าวกับเบนาร์นิวส์
"รัฐบาลไทยควรใช้เหตุการณ์นี้เป็นโอกาสในการทบทวนและปรับปรุงการดำเนินโครงการ ปรับปรุงมาตรการความปลอดภัยอย่างเข้มงวด และสื่อสารกับสาธารณะให้ชัดเจน” ดร. เจียง กล่าวทิ้งท้าย
โครงการรถไฟความเร็วสูงของไทย
โครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา เป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและจีน โดยไทยออกงบประมาณก่อสร้าง 1.79 แสนล้านบาท เริ่มต้นก่อสร้างในปี 2560 โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์เส้นทางและสายแถบ (One Belt, One Road) ของจีน มีเป้าหมายเชื่อมโยงรถไฟความเร็วสูงของลาว
การก่อสร้างแบ่งเป็น 4 ช่วง 1. กลางดง-ปางอโศก 3.5 กม. 2. ปากช่อง-คลองขนานจิตร 11 กม. 3. แก่งคอย-โคราช 138.5 กม. และ 4. กรุงเทพฯ-แก่งคอย 133 กม. เบื้องต้น คาดให้ก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2566 แต่มีความล่าช้าในการก่อสร้าง สำหรับโครงการช่วงที่มีการถล่ม เป็นส่วนรับผิดชอบของ บริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน)
โครงการรถไฟความเร็วสูงจะใช้รถไฟรุ่นฟู่ซิ่งเฮ่า ผลิตโดยบริษัท ไชน่า เรลเวย์ คอนสตรัคชั่น คอร์ปอเรชั่น (CRCC) ออกแบบให้มีอายุใช้งาน 30 ปี โดย 1 ขบวน มีตู้รถไฟ 8 ตู้ เป็นชั้นธุรกิจ 2 ตู้, ชั้นปกติ 4 ตู้, และชั้นปกติที่ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวก 1 ตู้ และตู้สำหรับรับประทานอาหาร 1 ตู้ มีจำนวนที่นั่งรวม 594 ที่นั่ง แยกเป็นชั้นธุรกิจ 96 ที่นั่ง และชั้นปกติ 498 ที่นั่ง รถไฟมีความเร็วสูงสุด 250 กิโลเมตร ต่อชั่วโมงใช้พลังงานไฟฟ้าในการขับเคลื่อน
ให้บริการ 6 สถานี ประกอบด้วย บางซื่อ ดอนเมือง อยุธยา ลพบุรี ปากช่อง และนครราชสีมา เบื้องต้น ในหนึ่งวันจะให้บริการ 6 ขบวน โดยใช้เวลาเดินทางจากกรุงเทพฯ ถึงนครราชสีมาเพียง 1.17 ชั่วโมง ค่าโดยสารเบื้องต้นกำหนดไว้ที่ 80 บาท + 1.8 บาทต่อกิโลเมตร หรือ 535 บาทต่อคน ในเส้นทาง กรุงเทพฯ - นครราชสีมา
ล่าสุด กระทรวงคมนาคม ระบุว่า การก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงนี้ แบ่งออกเป็น 14 สัญญา ก่อสร้างแล้วเสร็จ 2 สัญญา ดำเนินการก่อสร้างอยู่ 10 สัญญา และรอการลงนามในสัญญาก่อสร้าง 2 สัญญา ภาพรวมของโครงการคืบหน้าไปแล้วประมาณ 32.31 % โดยคาดว่าจะก่อสร้างสำเร็จ และเปิดให้บริการได้ในปี 2571
ทั้งนี้ ปลายเดือนกรกฎาคม 2567 ที่ประชุมคณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) มีมติอนุมัติโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (ระยะที่ 2 (นครราชสีมา-หนองคาย) ระยะทาง 357.12 กม. คาดว่าจะใช้งบประมาณ 3.41 แสนล้านบาท คาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้าง 72 เดือน แต่ปัจจุบัน คณะรัฐมนตรี (ครม.) ยังไม่ได้อนุมัติให้มีการเดินหน้าโครงการนี้
หากโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง กรุงเทพฯ-หนองคายเสร็จสมบูรณ์ จะสามารถเชื่อมต่อ โครงการรถไฟความเร็วสูงลาว นครหลวงเวียงจันทน์-คุนหมิง มณฑลยูนนาน ประเทศจีนได้ ที่ก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้บริการตั้งแต่ปี 2564 ใช้เวลาก่อสร้าง 5 ปี มูลค่า 1.99 แสนล้านบาท