พบผู้เสียชีวิตหนึ่งราย เหตุอุโมงค์รถไฟความเร็วสูงถล่มที่โคราช

จรณ์ ปรีชาวงศ์ และ นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2024.08.29
กรุงเทพฯ
พบผู้เสียชีวิตหนึ่งราย เหตุอุโมงค์รถไฟความเร็วสูงถล่มที่โคราช เจ้าหน้าที่ตำรวจนำรถพยาบาล เคลื่อนร่างคนงานที่เสียชีวิต 1 ราย ออกจากอุโมงค์คลองไผ่ที่เกิดเหตุดินทรุดตัว ไปยัง รพ.มหาราชนครราชสีมา จ.นครราชสีมา วันที่ 29 สิงหาคม 2567
Handout/การรถไฟแห่งประเทศไทย

เจ้าหน้าที่พบผู้เสียชีวิตแล้วหนึ่งรายจากเหตุอุโมงค์รถไฟความเร็วสูงถล่มช่วงคลองขนานจิต ต.จันทึก อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ขณะที่เจ้าหน้าที่กำลังวางแผนเพื่อช่วยเหลือพนักงานอีกสองคนที่เชื่อว่ายังติดอยู่ภายใน

นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยกับสื่อมวลชนว่า เจ้าหน้าที่กู้ภัยของการรถไฟแห่งประเทศไทย และทีมกู้ภัยหูหนานซันไชน์ (Hunan Sunshine) จากประเทศจีน พบร่างผู้ประสบภัยรายแรกแล้วในเวลาประมาณ 11.00 น.

“เบื้องต้นทราบว่าเป็นแรงงานชาวเมียนมา ไม่ทราบชื่อ ซึ่งทีมกู้ภัยได้นำร่างแรงงานชาวเมียนมาออกมาจากอุโมงค์ได้แล้ว และได้นำศพส่งไปตรวจพิสูจน์ที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมาเพื่อหาสาเหตุของการเสียชีวิตอย่างละเอียด” นายชัยวัฒน์ กล่าว

“หลังจากนี้วิศวกรโครงสร้างขอสร้างสิ่งที่มั่นคงให้ทีมกู้ภัยได้เข้าไปค้นหา เพราะดินไม่มีความมั่นคงตลอดเวลา เมื่อนำร่างผู้เคราะห์ร้ายออกแล้ว วิศวกรขอทำค้ำยันอีกนิดนึง เพราะไม่งั้นจะเป็นอันตรายต่อผู้ที่กู้ภัย หลังจากนั้นได้ประสานสุนัขดมกลิ่น เพื่อเข้ามาช่วยเหลือผู้ที่จะกู้ภัย” นายชัยวัฒน์ ระบุ

หลังพบผู้เสียชีวิต นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะ รมว.มหาดไทย  กล่าวว่า ทีมแพทย์รายงานให้ทราบว่าผู้เสียชีวิตคนแรกที่นำร่างออกมา ได้ขาดอากาศหายใจมาประมาณ 3 -5 วันแล้ว

“ส่วนจะมีปัจจัยใดเพิ่มเติม ขอให้รอผลชันสูตรที่เป็นทางการอย่างชัดเจน รวมถึงรายละเอียดเรื่องเนื้อเยื่อและผลต่าง ๆ ที่เกิดในร่างกายขณะเสียชีวิต” นายอนุทิน ระบุ

เหตุอุโมงค์ถล่มดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงเวลาประมาณ 23.30 น. ของวันเสาร์ที่ 24 สิงหาคมที่ผ่านมา ในอุโมงค์ซึ่งมีขนาดความยาวประมาณ 2 กิโลเมตร ในพื้นที่ ต.จันทึก อ.ปากช่อง จุดเกิดเหตุอยู่ห่างจากปากอุโมงค์ ประมาณ 1.5 กิโลเมตร 

นพ. อุดม อัศวุตมางกุร สาธารณสุขนิเทศ เขตสุขภาพที่ 9 นครราชสีมา เปิดเผยว่า หลังจากนี้จะนำร่างผู้เสียชีวิตไปตรวจ เพื่อให้ทราบชื่อ และสาเหตุการเสียชีวิต 

“หลังจากนี้จะนำร่างของผู้เสียชีวิตส่งไปชันสูตร โดยแพทย์ของโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ปัจจุบัน โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา และโรงพยาบาลปากช่อง จะเตรียมพร้อม 24 ชั่วโมง เพื่อปฏิบัติหน้าที่ โดยสิ่งที่ต้องกังวลสำหรับผู้ประสบภัยคือ การขาดสารน้ำ และเกลือแร่ รวมทั้งต้องขนย้ายอย่างถูกวิธีหากมีผู้รอดชีวิต” นพ. อุดม กล่าว

มีผู้ประสบภัย 3 คนประกอบด้วย 1. นายหู เสียง หมิ่น วิศวกรผู้ควบคุมงาน ชาวจีน 2. นายตง ชิ่น หลิน คนขับรถขุด ชาวจีน และ 3. คนขับรถบรรทุกชาวเมียนมาเพศชาย (ยังไม่ทราบชื่อและนามสกุล)

“คืนวันเสาร์ที่ 24 ภูเขาหินทรายมันไหลลงมา ทำให้ผู้สูญหายสามคนติดอยู่ข้างในอุโมงค์ ความลึกไกลจากอุโมงค์สัก 1.5 กิโลเมตร เบื้องต้น หลังจากเกิดเหตุมีการขุดทรายออกมา เพื่อเข้าไปถึงผู้เสียหาย ขุดแล้วทรายก็ยังไหลลงมาอีก เรากำลังระดมคนและเครื่องมือช่วงเหลืออย่างใกล้ชิด เหตุการณ์ตรงนี้ยังอยู่ในพื้นที่ก่อสร้าง ไม่กระทบต่อพี่น้องประชาชนทั่วไป ผู้สูญหายทั้งสามคนเป็นพนักงานก่อสร้างของโครงการ” นายกฤชนนท์ อัยยปัญญา โฆษกกระทรวงคมนาคม กล่าว

โครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา เป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและจีน โดยไทยออกงบประมาณก่อสร้าง 1.79 แสนล้านบาท เริ่มต้นก่อสร้างในปี 2560 โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาตร์เส้นทางและสายแถบ (One Belt, One Road) ของจีน มีเป้าหมายเชื่อมโยงรถไฟความเร็วสูงของลาว

การก่อสร้างแบ่งเป็น 4 ช่วง 1. กลางดง-ปางอโศก 3.5 กม. 2. ปากช่อง-คลองขนานจิตร 11 กม. 3. แก่งคอย-โคราช 138.5 กม. และ 4. กรุงเทพฯ-แก่งคอย 133 กม. เบื้องต้น คาดให้ก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2566 แต่มีความล่าช้าในการก่อสร้าง สำหรับโครงการช่วงที่มีการถล่ม เป็นส่วนรับผิดชอบของ บริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) 

โครงการรถไฟความเร็วสูงจะใช้รถไฟรุ่นฟู่ซิ่งเฮ่า ผลิตโดยบริษัท ไชน่า เรลเวย์ คอนสตรัคชั่น คอร์ปอเรชั่น (CRCC) ออกแบบให้มีอายุใช้งาน 30 ปี โดย 1 ขบวน มีตู้รถไฟ 8 ตู้ เป็นชั้นธุรกิจ 2 ตู้, ชั้นปกติ 4 ตู้, และชั้นปกติที่ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวก 1 ตู้ และตู้สำหรับรับประทานอาหาร 1 ตู้ มีจำนวนที่นั่งรวม 594 ที่นั่ง แยกเป็นชั้นธุรกิจ 96 ที่นั่ง และชั้นปกติ 498 ที่นั่ง รถไฟมีความเร็วสูงสุด 250 กิโลเมตร ต่อชั่วโมงใช้พลังงานไฟฟ้าในการขับเคลื่อน

ให้บริการ 6 สถานี ประกอบด้วย บางซื่อ ดอนเมือง อยุธยา ลพบุรี ปากช่อง และนครราชสีมา เบื้องต้น ในหนึ่งวันจะให้บริการ 6 ขบวน โดยใช้เวลาเดินทางจากกรุงเทพฯ ถึงนครราชสีมาเพียง 1.17 ชั่วโมง ค่าโดยสารเบื้องต้นกำหนดไว้ที่ 80 บาท + 1.8 บาทต่อกิโลเมตร หรือ 535 บาทต่อคน ในเส้นทาง กรุงเทพฯ - นครราชสีมา 

ล่าสุด กระทรวงคมนาคม ระบุว่า การก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงนี้ แบ่งออกเป็น 14 สัญญา ก่อสร้างแล้วเสร็จ 2 สัญญา ดำเนินการก่อสร้างอยู่ 10 สัญญา และรอการลงนามในสัญญาก่อสร้าง 2 สัญญา ภาพรวมของโครงการคืบหน้าไปแล้วประมาณ 32.31 % โดยคาดว่าจะก่อสร้างสำเร็จ และเปิดให้บริการได้ในปี 2571 

นายอนุทิน กล่าวด้วยว่า ขั้นตอนต่อไปกู้ภัยจะวางแผนในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างรอบคอบ

“สภาพอากาศข้างในมันไม่ได้เลย ฝุ่นเป็นเม็ด ๆ เลย มีหลายปัจจัยที่ทำให้เขาไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ คนแรกตายแล้ว เราต้องนับหนึ่งใหม่ คนที่สองห่างออกไปสี่เมตร คนที่สามออกไปอีกเกือบสิบเมตร แต่ถ้ายังไม่เจอตัว เราจะบอกว่า เขาตายแล้วก็ไม่ได้ ตราบใดที่ยังไม่เจอ เราก็ต้องหาเขาให้เจอ” นายอนุทิน กล่าว

ทั้งนี้ ปลายเดือนกรกฎาคม 2567 ที่ประชุมคณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) มีมติอนุมัติโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ระยะที่ 2 (นครราชสีมา-หนองคาย) ระยะทาง 357.12 กม. คาดว่าจะใช้งบประมาณ 3.41 แสนล้านบาท คาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้าง 72 เดือน แต่ปัจจุบัน คณะรัฐมนตรี (ครม.) ยังไม่ได้อนุมัติให้มีการเดินหน้าโครงการนี้

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง