สหประชาชาติรับรองมติ 'สกัดการส่งอาวุธ' เข้าเมียนมา

สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติได้มีมติเรียกร้องให้กองทัพเมียนมานำประเทศคืนสู่ประชาธิปไตย และเรียกร้องให้ประเทศสมาชิก “สกัดการส่งอาวุธ” ไปยังประเทศที่กองกำลังความมั่นคงได้สังหารประชาชนของตน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประท้วงไปแล้วกว่า 800 ชีวิตนับตั้งแต่การทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์

สมาชิก 4ใน 10 ประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) – บรูไน กัมพูชา ลาว และไทย – งดออกเสียง แสดงให้เห็นถึงความแตกแยกในกรอบการจัดการกับรัฐบาลทหารเมียนมาที่ล้มล้างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

มติดังกล่าว “เรียกร้องให้กองทัพเมียนมาเคารพเจตจำนงของประชาชนตามผลการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2563 ยุติภาวะฉุกเฉิน เคารพสิทธิมนุษยชนของชาวเมียนมาทุกคนและเพื่อให้เมียนมาเปลี่ยนผ่านสู่การมีประชาธิปไตยอย่างยั่งยืน”

นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้ปล่อยตัวประธานาธิบดีวิน มินต์ ที่ปรึกษาแห่งรัฐ นางอองซานซูจี และ “ทุกคนที่ถูกควบคุมตัว ตั้งข้อหา หรือจับกุมโดยพลการ” ประมาณ 4,880 คน ตามข้อมูลของสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองเมียนมาในประเทศไทย

ทูตเมียนมาประจำสหประชาชาติ ซึ่งกล่าวแทนรัฐบาลพลเรือนว่า มตินี้ “ไม่เป็นไปตามที่เราคาดไว้” เพราะ “ไม่ได้รวมถึงการสั่งห้ามค้าอาวุธ” กับประเทศเมียนมา

โดยสมาชิกสหประชาชาติ 119 ประเทศ ได้สนับสนุนมตินี้ 36 ประเทศ งดออกเสียง และ 37 ประเทศ ไม่ร่วมลงมติประเทศเบลารุสเป็นประเทศเดียวที่ลงมติไม่เห็นด้วย

ส่วน จีน เป็นหนึ่งในประเทศที่งดออกเสียง โดยกล่าวว่า คัดค้านการมีมติเฉพาะเจาะจงกับประเทศหนึ่งประเทศใด และรัสเซียก็งดออกเสียงเช่นกัน โดยระบุว่า มติดังกล่าวจะไม่ช่วยแก้ไขวิกฤตในเมียนมา ส่วน นายจอ โม ตุนทูตเมียนมาประจำสหประชาชาติ กล่าวว่าเขารู้สึกผิดหวังที่ “ใช้เวลาถึงสามเดือน กว่าจะมาลงมติที่แสนอ่อนเปลี้ยเช่นนี้”

ถึงกระนั้น ผู้แทนพลเรือนเมียนมาก็ลงมติ “เห็นด้วย เพราะมันอาจจะเป็นการกดดันรัฐบาลทหารให้หยุดการกระทำที่ไร้มนุษยธรรมในเมียนมาได้ในระดับหนึ่ง”

'ความเสี่ยง ต่อการเกิด สงครามกลางเมืองใหญ่ ' ในเมียนมา

การลงมติดังกล่าว ซึ่งประเทศลิกเตนสไตน์เป็นผู้แนะนำ ที่ถูกเลื่อนการลงมติจากเดือนที่แล้ว เนื่องจากหน่วยงานของสหประชาชาติพยายามหาผู้สนับสนุนเพิ่ม โดยเฉพาะจากประเทศกลุ่มอาเซียนที่ต้องการให้ลบข้อความ ห้ามค้าอาวุธจากร่างมติฯ

หลังจากร่างมติฯ ถูกแก้ไขแล้ว ประเทศสมาชิกสหประชาชาติ จึงได้ร่วมลงมติ ในวันศุกร์

มติดังกล่าวเรียกร้องให้ประเทศสมาชิกสหประชาชาติ “สกัดการส่งอาวุธเข้าไปในเมียนมา” ตามมติคณะมนตรีความมั่นคงตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ปี พ.ศ. 2563 ที่เรียกร้องให้มีการหยุดยิงทั่วโลกและลดระดับความรุนแรง ในห้วงการระบาดใหญ่ของโควิด-19

อย่างไรก็ตาม การลงมติดังกล่าวถือเป็นก้าวย่างที่สำคัญ เพราะเป็นการ "สื่อข้อความว่า จะไม่มีการทำธุรกิจใด ๆ เหมือนเช่นเคยกับรัฐบาลทหารที่สังหารประชาชนของตนเอง" ไซมอน อดัมส์ ผู้อำนวยการบริหารของ Global Center for the Responsibility to Protect กล่าวผ่านทวิตเตอร์

ในขณะเดียวกัน นางคริสติน ชราเนอร์ เบอเกเนอร์ ทูตพิเศษสหประชาชาติด้านกิจการเมียนมา กล่าวกับที่ประชุมว่า “โอกาสในการหวนคืนสู่ประชาธิปไตย [ในเมียนมา] กำลังน้อยลงเต็มที”

หลังจากการลงมตินางเบอร์เกเนอร์ได้กล่าวสรุปในที่ประชุมถึงการเดินทางไปเยือนภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นเวลาหลายสัปดาห์ของเธอ หลังจากเกิดรัฐประหารในเมียนมา ซึ่งเธอไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าประเทศเมียนมา แต่ได้เฝ้าสังเกตการณ์สถานการณ์ในเมียนมาจากประเทศไทย

เธอกล่าวว่า “ความเสี่ยงของการเกิดสงครามกลางเมืองครั้งใหญ่มีจริง” และเตือนว่าประชากรครึ่งหนึ่งของประเทศอาจจมดิ่งสู่ความยากจน ภายในปี 2565 หากความรุนแรงยังคงดำเนินต่อไป

4 ประเทศสมาชิกอาเซียนงดออกเสียง

มติดังกล่าวระบุว่า อาเซียนมีบทบาทสำคัญในการมีส่วนร่วมกับเมียนมา และอำนวยความสะดวกในการแก้ปัญหาอย่างสันติ “เพื่อประโยชน์ของประชาชนชาวเมียนมาและการดำรงชีวิตของพวกเขา”

อย่างไรก็ตาม ประเทศสมาชิกอาเซียน บรูไน กัมพูชา ลาว และไทย ที่งดออกเสียง เป็นการแสดงให้เห็นอีกครั้งว่ากลุ่มประเทศในภูมิภาคมีความแตกแยกเพียงใด

ร่างมติของสหประชาชาติดังกล่าวยังเรียกร้องให้เมียนมา “ดำเนินการอย่างรวดเร็ว” ต่อฉันทามติ 5 ประเด็นที่อาเซียนแถลงผลสรุปให้กับผู้นำทหารเมียนมาไปแล้วเมื่อวันที่ 24 เมษายน

หากแต่อาเซียนยังไม่ได้ดำเนินความคืบหน้าใดๆ ในฉันทามติ 5 ประเด็นดังกล่าว ซึ่งประเด็นหนึ่งในนั้นคือ การแต่งตั้งทูตพิเศษประจำเมียนมา และการไปเยือนประเทศที่ประสบปัญหาวิกฤตของคณะผู้แทนอาเซียน

นายออง ตู เงียน ผู้อำนวยการสถาบันยุทธศาสตร์และนโยบายเมียนมา ในย่างกุ้ง กล่าวว่า ประเทศสมาชิกอาเซียนไม่มีจุดยืนที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในประเด็นเมียนมา “ข้อเท็จจริงคือรัฐส่วนใหญ่ [ของประเทศสมาชิก] ไม่ได้เป็นแม้แต่ รัฐประชาธิปไตย”

อย่างไรก็ตาม นายออง ตู เงียน กล่าวกับ เรดิโอฟรีเอเชีย (RFA) สำนักข่าวในเครือเดียวกับเบนาร์นิวส์ว่า ประเทศในภูมิภาคยังมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาได้

“ผมคิดว่า อาเซียนก็ยังคงมีบทบาทที่สำคัญในการจัดการกับวิกฤตในเมียนมา หลายประเทศสนับสนุนฉันทามติ 5 ประเด็นของอาเซียน” นายออง ตู เงียน กล่าวกับ RFA

“คิดว่าแนวทางของอาเซียนไม่เพียงพอ แต่เนื่องจากมีหลายประเทศสนับสนุนฉันทามติ 5 ประเด็น… เราจึงควรยึดถือแนวทางนั้น”

เรดิโอฟรีเอเชีย ภาคภาษา เมียนมา ร่วมรายงาน