ภาคเอกชนกังขาการลดก๊าซเรือนกระจก โดยไม่เลิกการใช้ถ่านหิน

ไทยไม่ได้ลงนามในข้อตกลงใด ๆ ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2021.11.16
กรุงเทพฯ
ภาคเอกชนกังขาการลดก๊าซเรือนกระจก โดยไม่เลิกการใช้ถ่านหิน หญิงสาวพยายามขี่จักรยานลุยผ่านถนนที่มีน้ำท่วมสูง ในกรุงเทพฯ วันที่ 3 พฤศจิกายน 2554
เอพี

ในระหว่างการประชุมระดับสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 26 (COP26) ในสกอตแลนด์ นายกรัฐมนตรีของไทย ได้กล่าวถึงความสำเร็จของประเทศไทยที่ลดก๊าซเรือนกระจก ในกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานและการขนส่ง ลงได้ถึง 17 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2563 และมีเป้าหมายบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2050 และจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ได้ในปี ค.ศ. 2065 ทว่านักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแย้งว่าไทยไม่สามารถบรรลุเป้าหมายได้ หากไม่ยกเลิกโรงงานฟ้าพลังงานถ่านหิน

ทั้งนี้ ประเทศไทยมีโรงงานไฟฟ้าพลังงานถ่านหินหลัก ๆ ประมาณ 10 แห่ง แต่ที่สำคัญต่อระบบการป้อนพลังไฟฟ้าจริงมี 2 โรงงาน แห่งหนึ่งในอำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ซึ่งเคยประสบปัญหามลพิษในอดีต และอีกแห่งตั้งอยู่ในจังหวัดระยอง ขณะที่มีการผลักดันโครงการก่อสร้างโรงงานแห่งใหม่อีกสองแห่ง ที่จังหวัดกระบี่ และอำเภอเทพา จังหวัดสงขลา แต่ถูกต่อต้านโดยชาวบ้านและนักสิ่งแวดล้อมอย่างหนัก

พลเอก ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตนเองได้นำเสนอสิ่งที่ประเทศไทยได้ทำสำเร็จไปแล้ว เพื่อช่วยลดภาวะโลกร้อน

“ที่ผมเน้นย้ำก็คือ โลกเรามีอยู่ใบเดียว ถูกไหม เราไม่มีโลกใบใหม่อีกแล้ว ในการให้ลูกหลานเราอยู่ต่อไป ถ้าหากเราทำให้โลกเราเสียหาย” พลเอก ประยุทธ์ กล่าว และระบุว่า ภาวะโลกร้อนเกิดจากผลการกระทำของน้ำมือมนุษย์ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะปัญหาการจราจร การใช้น้ำมัน การใช้พลังงาน ที่ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจก และต้องลดอุณหภูมิโลกให้ต่ำลงกว่า 2 องศาเซลเซียส เพื่อไม่ให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้น รวมทั้งเรื่องฝนฟ้าตกไม่ตรงตามฤดูกาล

ทั้งนี้ ในการประชุมระดับผู้นำ COP26 ประเทศไทยไม่ได้ลงนามในข้อตกลงระหว่างประเทศใด ๆ ไม่ว่าจะเป็นโครงการ Energy Transition Mechanism ที่เสนอโดยธนาคารพัฒนาเอเชีย ที่อาจจะช่วยให้สามารถเร่งปลดระวางโรงงานไฟฟ้าพลังงานถ่านหินได้เร็วขึ้น 10 ถึง 15 ปี หรือโครงการยกเลิกการตัดป่าไม้ (Glasgow Leaders’ Declaration on Forests and Land Use) ที่ 133 ชาติลงนาม (ยกเว้น ไทย กัมพูชา ลาว มาเลเซีย และเมียนมา) รวมทั้ง สัญญาการลดก๊าซมีเทน และการใช้รถไฟฟ้า

211116-TH-UN-Cop26-Climate.jpg

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เดินทางมาถึงการประชุมสุดยอดสภาพการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ของสหประชาชาติ (COP26) ที่เมืองกลาสโกว ประเทศสกอตแลนด์ วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 (เอพี)

อย่างไรก็ตาม หลังจากการประชุมครั้งที่ 21 ประเทศไทยได้เริ่มการใช้พลังงานอื่น ๆ เพื่อลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลและถ่านหิน เช่น การใช้พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ เชื้อเพลิงชีวภาพ ชีวมวล ในการผลิตไฟฟ้า และการใช้เชื้อเพลิงไบโอดีเซล

ทั้งนี้ รัฐบาลได้ก่อตั้งกลไกลดก๊าซเรือนกระจกภายในประเทศ ที่พัฒนาขึ้นตั้งแต่ปี 2557 มีชื่อเต็มว่า “โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program)” เรียกย่อว่า T-VER ซึ่งเป็นกลไกที่มีเป้าหมายในการส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้ผลิตและใช้พลังงานหมุนเวียน

ในภาคอุตสาหกรรม ให้มีการเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน การจัดการของเสีย ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักที่มีศักยภาพลดก๊าซเรือนกระจก การจัดการในภาคขนส่ง รวมถึงการปลูกต้นไม้และการอนุรักษ์ฟื้นฟูป่า ซึ่งเป็นกิจกรรมที่นอกจากจะช่วยกักเก็บก๊าซเรือนกระจกได้แล้วยังสามารถรักษาและสร้างสมดุลของความหลายหลายทางชีวภาพได้อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม องค์กรกรีนพีซ ประเทศไทย เกรงว่า “ถ้อยแถลงบนเวทีโลกอาจกลายเป็นเพียงสัญญาที่ว่างเปล่า หากการลงมือทำจริงกลับสวนทาง”

ทั้งนี้ กรีนพีซ กล่าวว่า กรอบแผนพลังงานแห่งชาติ ได้ระบุว่า จะมีการกำหนดนโยบายที่จะไม่เพิ่มปริมาณสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน และจะทยอยปลดระวางโรงไฟฟ้าที่ผลิตจากถ่านหิน และคาดว่าจะไม่มีไฟฟ้าที่ผลิตจากถ่านหินเข้าสู่ระบบ ตั้งแต่ปี 2593 เป็นต้นไป แต่นั่นคือการถ่วงเวลา

ทั้งนี้เพราะไทยสามารถเลิกใช้ถ่านหินในการผลิตไฟฟ้าและเลิกนำเข้าไฟฟ้าที่ผลิตจากถ่านหินได้อย่างเร็วที่สุด ภายในปี 2570 หรืออย่างช้าที่สุดภายในปี 2580 ซึ่งลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ลงได้ 129 และ 239 ล้านตันตามลำดับ โดยที่ยังสามารถคงความมั่นคงทางพลังงานไฟฟ้าในระดับกำลังผลิตสำรองมากกว่าร้อยละ 15 ของความต้องการใช้ไฟฟ้าสุงสุดได้ตลอดช่วงปี 2564-2580 อ้างอิงตามข้อมูลรายงาน ‘ปลดระวางถ่านหินเพื่อการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมในประเทศไทย (Coal Phase-Out and Just Transition in Thailand)'

ทั้งนี้ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน คาดการณ์ความต้องการพลังงานไฟฟ้าของประเทศในปีนี้ ไว้ที่ 38,900 เมกะวัตต์ และจะเพิ่มเป็น 61,965 วัตต์ ในปี พ.ศ. 2580 และจากข้อมูลของ IEA ประเทศไทยเป็นมีความต้องการพลังงานไฟฟ้าเพื่อครัวเรือน และเพื่อสนองตอบการบริโภคสินค้าและบริการ มากเป็นอันดับสามในอาเซียน รองลงมาจากอินโดนีเซีย และเวียดนาม ตามลำดับ

ในปัจจุบัน ไทยใช้ถ่านหินในการผลิตไฟฟ้าราว 20 เปอร์เซ็นต์ และตามแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ระหว่าง ปี พ.ศ. 2564-2573 สาขาพลังงาน ได้กำหนดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก ณ ปี พ.ศ. 2573 เท่ากับ 117.66 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

ในเรื่องนี้ ผศ.ดร. สุทธินี ดนตรี ภาควิชาภูมิศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า การเร่งยกเลิกถ่านหินจะเป็นผลดีต่อการลดอุณหภูมิโลก

“การเร่งยกเลิกการใช้พลังงานถ่านหิน ซึ่งเป็นมติของ COP26 ครั้งนี้อาจส่งผลโดยตรงต่อค่าเฉลี่ยของอุณหภูมิโลก ที่อาจจะสามารถลดได้เพิ่มอีก 1.7 องศา ก็เกือบจะเท่ากับเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้แล้ว” ผศ.ดร. สุทธินี กล่าวกับเบนาร์นิวส์

“สิ่งที่น่าสนใจ คือ ไทยจะถึงเป้าหมายร่วมกับใน COP26 ได้อย่างไร แม้ตอนนี้เราจะพยายามพึ่งพาก๊าซธรรมชาติให้มากขึ้น พึ่งถ่านหินไม่เกิน 20 เปอร์เซ็นต์ของพลังงานทั้งหมดในประเทศ แต่การที่จะทำให้ถ่านหินมันหายไปทั้งหมดภายในปี ค.ศ. 2035 ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย และสิ่งที่พวกเราไม่เคยรู้เลยก็คือ รัฐบาลจะทำอย่างไรเพื่อไปถึงจุดนั้น ตรงนี้ก็ยังไม่มีคำตอบเลย”

คุณวุฒิ บุญฤกษ์ ในเชียงใหม่ ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง