ที่ปรึกษาความมั่นคงสหรัฐฯ บินมาพบ รมว. ต่างประเทศจีนที่กรุงเทพฯ
2024.01.26
กรุงเทพฯ
นายเจก ซัลลิแวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา เดินทางมาเยือนประเทศไทย โดยจะพูดคุยกับนายหวัง อี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีน ระหว่างวันศุกร์และเสาร์นี้ ด้านนักวิชาการเชื่อว่า ไทยจะได้รับผลดีจากการเป็นพื้นที่กลางในการเจรจาระหว่างสองประเทศมหาอำนาจ
น.ส. อาเดรียน วัตสัน (Adrienne Watson) โฆษกสภาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ เปิดเผยว่า การพบกันระหว่างตัวแทนระดับสูงของสองประเทศ เป็นการต่อยอดการพบกันของผู้นำของทั้งสองประเทศจากเมื่อปลายปีก่อน
“การประชุมครั้งนี้เป็นการสานต่อความมุ่งมั่นของทั้งสองฝ่ายในการประชุมสุดยอดวูดไซด์ (Woodside Summit) เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2566 ระหว่างนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ และนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน เพื่อรักษาการสื่อสารเชิงกลยุทธ์และจัดการความสัมพันธ์อย่างมีความรับผิดชอบ” วัตสัน กล่าว
วัตสัน เปิดเผยว่า การพบกันของตัวแทนสองประเทศ เป็นการสานต่อการหารือนอกรอบการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) ซึ่งผู้นำของทั้งสองประเทศพูดคุยกันเป็นเวลา 4 ชั่วโมง โดยตกลงที่จะเปิดสายด่วนประธานาธิบดี เพื่อเริ่มการติดต่อสื่อสารของกองทัพอีกครั้ง และทำงานร่วมกันเพื่อควบคุมการส่งยาเฟนทานิลเข้าสู่สหรัฐฯ แต่ทั้งสองประเทศยังเห็นไม่ตรงกันในประเด็นไต้หวัน
เช่นเดียวกัน นายวัง เหวินปิน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีน ได้ยืนยันการพบกันระหว่าง ซัลลิแวน และอี้ แต่ยังไม่ระบุ วันและเวลาการพบกันที่แน่นอน
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี (ซ้าย) พูดคุยกับ นายเจก ซัลลิแวน ที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา ที่ทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพฯ วันที่ 26 มกราคม 2567 (สำนักงานโฆษกรัฐบาลไทย/เอพี)
สำหรับการพบกันของ ซัลลิแวน และอี้ นางกาญจนา ภัทรโชค อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวในการแถลงข่าวว่า ไทยยินดีที่ได้เป็นพื้นที่พูดคุยของทั้งสองประเทศ และเชื่อว่าการพูดคุยครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ต่อภูมิภาค
“เราไม่ได้มีบทบาทสำคัญอะไรในการพูดคุยครั้งนี้ แต่เรายินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เปิดพื้นที่ให้การพูดคุย และมั่นใจมากว่า การเจรจาระหว่างสองประเทศจะสร้างสันติ และความมั่นคง และความก้าวหน้าให้แก่ประเทศในภูมิภาค และเวทีโลก” นางกาญจนา กล่าว
ด้าน ดร. เอียชา การ์ตี นักวิจัยนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ชี้ว่า การพบกันครั้งนี้จะเป็นการแสดงศักยภาพทางการทูตของไทย
“นับเป็นการตอกย้ำบทบาทเชิงยุทธศาสตร์ของไทย ในฐานะพื้นที่กลางสำหรับการเจรจาของมหาอำนาจ ถ้าดูประวัติศาสตร์ ไทยเหมาะสมอย่างยิ่งที่จะเป็นเจ้าภาพการหารือระดับสูงเช่นนี้ การประชุมในไทยอาจถือเป็นการแสดงความเคารพต่อสถานะทางการทูต และความสามารถของไทยในการอำนวยความสะดวกให้แก่การพูดคุยระดับโลกที่สำคัญ” ดร. เอียชา กล่าว
“ไม่ว่าการเจรจาจะออกมาเป็นแบบใด นับว่าเป็นผลดีกับรัฐบาลของเศรษฐาทั้งสิ้น อย่างน้อยที่สุดไทยจะได้รับผลประโยชน์ในทางอ้อมจากการพบกันของสองชาติในครั้งนี้ คือมันเสริมสร้างสถานะเป็นผู้เล่นที่สำคัญในเวทีการทูตของภูมิภาค และไทยยังสามารถสร้างความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการเมืองที่มากขึ้นกับมหาอำนาจเหล่านี้” ดร. เอียชา กล่าวเพิ่มเติม
ซัลลิแวน เข้าพบเศรษฐา
ซัลลิแวน ได้เยี่ยมคารวะนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และหารือกับ นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
“ทั้งสองฝ่ายได้ย้ำถึงความเป็นพันธมิตรระหว่างทั้งสองประเทศที่มีมายาวนานบนพื้นฐานของค่านิยมประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และความมั่นคงของมนุษย์ ที่ทั้งสองฝ่ายให้ความสำคัญร่วมกัน และได้หารือกันถึงแนวทางในการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างกัน ทั้งในระดับทวิภาคีและภูมิภาค อาทิ ความร่วมมือด้านการทหารและความมั่นคง ไซเบอร์และเทคโนโลยีอุบัติใหม่” กระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผย
คำแถลงทำเนียบขาว สหรัฐฯ ระบุว่า ซัลลิแวนย้ำ ในระหว่างการประชุมว่า สหรัฐฯ มีความมุ่งมั่นที่จะขยายความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุน เร่งการเปลี่ยนแปลงสู่อนาคตพลังงานสะอาด กระชับความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น และขยายความร่วมมือด้านความมั่นคงเพื่อส่งเสริมอินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง”
ทั้งสองประเทศยังตกลงที่จะจัดการประชุม Thailand–U.S. Strategic and Defense Dialogue (การประชุม 2+2) ที่กรุงเทพฯ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2567
ไทย-จีน ลงนามฟรีวีซ่า
นางกาญจนา โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยว่า นายหวัง อี้ จะพบกับนายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี เพื่อประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศไทย-จีนอย่างเป็นทางการครั้งแรก ในวันที่ 28 มกราคม 2567
“นายปานปรีย์และนายหวังมีกำหนดการลงนามบันทึกความตกลงการยกเว้นการตรวจลงตราหนังสือเดินทาง (ฟรีวีซ่า) ระหว่าง 2 ประเทศสำหรับหนังสือเดินทางบุคคลธรรมดาและหนังสือเดินทางกึ่งราชการ โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2567 เป็นต้นไป” นางกาญจนา กล่าวในการแถลงข่าววันศุกร์
ก่อนหน้านี้ ไทยเคยใช้นโนบายฟรีวีซ่าสำหรับนักท่องเที่ยวชาวจีน ตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน 2566-29 กุมภาพันธ์ 2567 เพื่อเป็นการจูงใจนักท่องเที่ยวชาวจีน
ทั้งนี้ ประเทศไทยและจีนจะมีความสัมพันธ์ทางการทูตครบรอบ 50 ปี ในปี 2568