ทูตสหรัฐยืนยันไม่เคยแทรกแซงการเมืองไทย
2023.06.27
กรุงเทพฯ
นายโรเบิร์ต เอฟ. โกเดค เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย กล่าวกับสื่อมวลชนในวันอังคารนี้ว่า สหรัฐอเมริกา ไม่เคยแทรกแซงการเมืองของประเทศไทย หรือสนับสนุนพรรคการเมืองพรรคใดเป็นพิเศษ หลังมีการปลุกปั่นกระแสจากฝ่ายอนุรักษ์นิยมไทยว่า สหรัฐแทรกแซงการเลือกตั้งครั้งล่าสุด
ด้าน นักวิชาการชี้ว่า ทฤษฎีสมคบคิดที่ว่าสหรัฐฯ แทรกแซงการเมืองไทย อาจเป็นผลมาจากการที่พรรคที่ชนะเลือกตั้งในครั้งล่าสุดเป็นพรรคฝ่ายเสรีนิยม
“สหรัฐอเมริกามีค่านิยมพื้นฐานคือ สนับสนุนการเลือกตั้งที่เสรี ยุติธรรม และน่าเชื่อถือ กรณีทฤษฎีสมคบคิดที่น่ากลัวนั้น ผมขอชี้แจงว่า ข่าวลือที่สหรัฐฯ แทรกแซงการเมืองไทยไม่เป็นความจริง เราไม่ได้สนับสนุนแคนดิเดตนายกฯ คนไหน หรือพรรคใด” นายโกเดค กล่าวต่อสื่อมวลชนในการแถลงข่าวโต๊ะกลมก่อนหน้าวันชาติสหรัฐอเมริกา
“เราสนับสนุนกระบวนการประชาธิปไตย ซึ่งการเลือกของคนไทยก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของพวกเขาเอง เช่นเดียวกับคนอเมริกัน ที่ให้คุณค่าเสรีภาพ ความยุติธรรม ประชาธิปไตย และอำนาจอธิปไตย เราตั้งตารอที่จะได้ร่วมงานกับรัฐบาลชุดต่อไป” เอกอัครราชทูตสหรัฐ ระบุ
การชี้แจงของ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ สืบเนื่องจากในช่วงก่อนการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 เกิดข่าวลือที่ส่งต่อกันในกลุ่มอนุรักษ์นิยมไทย และนักวิชาการชาตินิยมว่า สหรัฐฯ พยายามแทรกแซงการเลือกตั้งและมีความพยายามมาตั้งฐานทัพในประเทศไทยเพราะมีปัญหากับจีน จนกระทั่งหลังการเลือกตั้ง ศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) และเครือข่าย ได้ชุมนุมที่หน้าสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ในกรุงเทพ เพื่อเรียกร้องให้สหรัฐฯ หยุดแทรกแซงการเมืองไทย
“ต้องการมายืนยันเจตนารมณ์ไม่ให้สหรัฐฯ เข้ามาแทรกแซงกิจการภายในของประเทศไทย อย่าแตะต้องสถาบัน (กษัตริย์) คัดค้านการแตะต้อง ม.112 อย่าอ้างเสียงส่วนมากที่เลือกมา 14 ล้านเสียง หากแตะ ม.112 พร้อมออกมาทั่วประเทศ” ผู้ชุมนุมรายหนึ่ง กล่าวเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2566
การชุมนุมของ ศปปส. เกิดขึ้นหลังจากที่พรรคก้าวไกล ซึ่งสนับสนุนแนวทางเสรีนิยมได้รับเสียงสนับสนุนกว่า 14 ล้านเสียงจากการเลือกตั้ง และกลายเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลใหม่
ในมุมมองของนักวิชาการ ดร. เอียชา การ์ตี นักวิจัยนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เห็นว่า แม้จะมีความเชื่อหรือทฤษฎีสมคบคิดว่า สหรัฐฯ พยายามแทรกแซงการเมืองไทย แต่ความเชื่อนั้นจะไม่ส่งผลกระทบกับการจัดตั้งรัฐบาลใหม่
“ที่ประเด็นนี้ถูกนำกลับมาเป็นอาวุธทางการเมือง อาจเพราะพรรคที่ชนะเลือกตั้งมีความเป็นเสรีนิยมสูง และมีนโยบายแบบตะวันตก โดยเฉพาะอเมริกา ความเชื่อเรื่องนี้น่าจะเป็นแค่ Echo Chamber (เชื่อกันเองในคนกลุ่มเล็ก ๆ) เพราะคนยุคปัจจุบัน สามารถหาข้อเท็จจริงด้วยตัวเอง ซึ่งเชื่อว่าข่าวลือนี้จะส่งผลกับภาพลักษณ์ของรัฐบาลเล็กน้อย แต่ไม่มีผลกับภาพรวมหรือนโยบายระดับประเทศ” ดร. การ์ตี กล่าวกับเบนาร์นิวส์
ดร. การ์ตี ยังตั้งข้อสังเกตว่า การต่อต้านต่างชาติในไทยค่อนข้างแปลก เพราะขณะที่มีกลุ่มคนออกมาขับไล่สหรัฐฯ เรียกร้องให้หยุดแทรกแซงทางการเมือง แต่ขณะเดียวกัน ไทยก็ยังพบปัญหาที่เกิดจากกลุ่มทุนจีน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องการเมืองมากกว่ามิติความมั่นคงของรัฐเพียงอย่างเดียว
หลังทราบผลเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม พรรคก้าวไกล, เพื่อไทย, ประชาชาติ, ไทยสร้างไทย, เพื่อไทรวมพลัง, เสรีรวมไทย, เป็นธรรม และพลังสังคมใหม่ รวม ส.ส. 313 เสียงจากทั้งหมด 500 เสียง ได้ประกาศจับมือกันเพื่อจัดตั้งรัฐบาล
อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ได้ให้อำนาจ ส.ว. 250 คน ที่มาจากการแต่งตั้งโดย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งหมายความว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล จะได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรี ก็ต่อเมื่อมีเสียงสนับสนุนอย่างน้อย 376 เสียง จากทั้งหมด 750 เสียงของรัฐสภาร่วม
ด้วยเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ ทำให้ก้าวไกลพยายามเจรจากับ ส.ว. เพื่อโน้มน้าวให้เลือกนายพิธา เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ ส.ว. บางคนระบุว่าจะไม่สนับสนุนนายพิธา โดยพยายามอ้างว่า พรรคก้าวไกลมีความคิดล้มล้างการปกครองจากการใช้การแก้ไข ม.112 เป็นนโยบายการหาเสียง ขณะเดียวกันมีการอ้างว่า พรรคก้าวไกลได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ
คุณวุฒิ บุญฤกษ์ ในเชียงใหม่ ร่วมรายงาน