พล.อ. ประวิตรมั่นใจยกระดับค้ามนุษย์ขึ้นเป็นเทียร์ 2 ปีนี้
2022.05.11
กรุงเทพฯ
พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในการประชุมร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ และองค์กรระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ในวันพุธนี้ว่า กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ควรจัดระดับสถานการณ์การค้ามนุษย์ของไทย ในปี 2565 ให้อยู่ในกลุ่มที่ 2 (Tier 2) จากที่ปัจจุบันอยู่ในกลุ่มที่ 2 เฝ้าระวัง (Tier 2 Watch List) เพราะได้ดำเนินงานตามที่มีการแนะนำไว้ในรายงานปีที่แล้วประสบผลสำเร็จ
พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ ได้แถลงผลการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ของรัฐบาล โดยในปี 2564 เจ้าหน้าที่สามารถจับกุมคดีค้ามนุษย์เพิ่มมากขึ้นเป็น 188 คดี จากจำนวน 133 คดี ในปี 2563 โดยในช่วงเดือนเมษายน 2564-มีนาคม 2565 ได้ขับเคลื่อนการทำงานตามข้อเสนอแนะในรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ของไทย (2021 US TIP Report) จนสำเร็จครบทั้ง 15 ข้อ
นอกจากนี้ ยังได้ริเริ่มโครงการสำคัญ (Flagship Project) อีก 4 โครงการ ได้แก่ โครงการที่ 1 จัดทำแผนปฏิบัติการว่าด้วยกลไกการส่งต่อระดับชาติ การบริหารจัดการคดี และการช่วยเหลือคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ และการบังคับใช้แรงงานหรือบริการ พ.ศ. 2565
โครงการที่สอง จัดตั้งศูนย์คัดแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ระดับประเทศ สาม จัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ และโครงการที่ 4 ออกมาตรการเชิงรุกด้านการป้องกันเด็กจากการค้ามนุษย์ ซึ่งเป็นการยกระดับมาตรฐานในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ในไทยระดับสากลอย่างยั่งยืนและเป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชน
“จากผลการดำเนินงานที่ได้กล่าวมาทั้งหมด คือการให้เห็นถึงความพยายามอย่างชัดเจนว่ารัฐบาลได้ดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์อย่างยั่งยืนต่อไป ดังนั้นประเทศไทยสมควรได้รับการพิจารณาจัดระดับขึ้นเป็นเทียร์ 2 ในปี 2565 นี้” พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ กล่าวในที่ประชุม
“รัฐบาลตระหนักถึงความร้ายแรงของอาชญากรรมค้ามนุษย์ โดยประกาศเป็นวาระแห่งชาติ ปี 58 โดยกำหนดทิศทางและขับเคลื่อนทุกภาคส่วนร่วมแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ซึ่งมีพัฒนาการในทางที่ดีขึ้นต่อเนื่องมา โดยเฉพาะการดำเนินการแก้ปัญหามิติต่าง ๆ ตามข้อเสนอแนะใน TIP Report” พล.อ.ประวิตร กล่าวเพิ่มเติม
อย่างไรก็ตาม น.ส. ชุติมา สีดาเสถียร อดีตผู้สื่อข่าวภูเก็ตหวาน (Phuket Wan) ผู้เปิดโปงขบวนการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญา กล่าวว่า ประเทศไทยยังไม่สมควรที่จะได้รับการปรับระดับ
“ในกรณีชาวโรฮิงญา หากเจ้าหน้าที่ไม่สามารถแยกแยะความแตกต่างระหว่างผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาไร้สัญชาติและผู้อพยพผิดกฎหมายที่หางานทำ ระบบที่มีหรือกฎหมายที่มีไม่อาจจะบังคับใช้ได้ในมาตราฐานสากล เรามองว่าก็ยังไม่ควรที่จะได้รับการยกระดับ” น.ส. ชุติมา กล่าวกับเบนาร์นิวส์
น.ส. ชุติมา ระบุว่า แม้ว่าเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานมีความเข้าใจในกระบวนการจัดการคดีค้ามนุษย์มากขึ้น มีการประสานงานระหว่างหน่วยงาน แต่ยังมีชาวโรฮิงญาหลบหนีออกจากเมียนมาเข้ามายังประเทศไทยอยู่ตลอดเวลา โดยมีเพียง 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่รัฐถือว่าเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ และส่วนใหญ่ถูกระบุว่าเป็น “บุคคลที่ต้องการความคุ้มครอง”
“ในการจำแนกกลุ่มอย่างนี้ พวกเขาไม่สามารถกลับประเทศได้ ในกรณีที่ไม่ได้ถูกระบุว่าเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ ชาวโรฮิงญาไม่มีสิทธิ์ที่จะได้ไปตั้งถิ่นฐานในประเทศที่สาม ส่วนคนที่หลบหนีออกจากสถานกักตัวเพื่อเดินทางไปยังประเทศอื่น ก็เสี่ยงที่จะต้องถูกเอาเปรียบโดยพวกนายหน้า” น.ส. ชุติมา กล่าวเพิ่มเติม
ทั้งนี้ ประเทศไทยเคยถูกจัดให้อยู่ในระดับ 2 ของรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ (Trafficking in Persons Report หรือ TIP) ในปี 2551 และ 2552 ก่อนถูกปรับให้อยู่ในระดับ 2 เฝ้าระวัง ช่วงปี 2553-2556 และถูกลดสู่ระดับที่ 3 ในปี 2557 หลังการรัฐประหาร ทำให้ไทยสูญเสียสิทธิประโยชน์ด้านการค้าบางอย่าง รัฐบาลจึงพยายามอย่างมากในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ กระทั่งสามารถกลับขึ้นสู่ระดับ 2 ในปี 2561
จากนั้น ในปี 2564 สหรัฐอเมริกาจัดระดับสถานการณ์การค้ามนุษย์ของไทย ให้อยู่ในกลุ่มที่ 2 เฝ้าระวัง (Tier 2 Watch List) เป็นการลดระดับลงจากที่เคยถูกจัดอยู่ในกลุ่มที่ 2 (Tier 2) มาตลอด 3 ปีที่ผ่านมา โดยสหรัฐฯ มองว่าไทยไม่ได้ดำเนินการเแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์อย่างเพียงพอ
ในวันนี้ ที่ประชุมได้รับทราบรายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะของรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ ปี 2564 ที่มีพัฒนาการเชิงรุกและเป็นรูปธรรมในหลายด้าน ทั้งการพัฒนาศักยภาพและความเชื่อมั่นของผู้บังคับใช้กฎหมายและเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง การดำเนินคดีเชิงรุกกับเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง การเพิ่มความสามารถในการ สื่อสาร คัดแยกและคุ้มครองผู้เสียหาย การดูแลสภาพจิตใจและเยียวยาผู้เสียหายอย่างเป็นธรรม การลดเงื่อนไขและเพิ่มประสิทธิภาพระบบการสืบสวนสอบสวน และส่งต่อการค้ามนุษย์ในแรงงานภาคบังคับ การส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่เอื้อผู้เสียหายทางกระบวนการยุติธรรม รวมทั้ง สนับสนุนให้ยึดผู้เสียหายเป็นศูนย์กลาง และคำนึงถึงบาดแผลทางจิตใจในการพิจารณาคดี
นอกจากนั้น ยังได้รับทราบการดำเนินการริเริ่มสร้างนวัตกรรมในการยกระดับการต่อต้านการค้ามนุษย์ของไทยสู่มาตรฐานสากลในด้านต่าง ๆ เช่น การจัดทำแผนปฏิบัติการว่าด้วยกลไกการส่งต่อระดับชาติ การบริหารจัดการคดีในการช่วยเหลือคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ รวมทั้งการบังคับใช้แรงงานหรือบริการ พ.ศ. 2565 การจัดตั้งศูนย์คัดแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ระดับประเทศ การจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศ เพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ การออกมาตรการเชิงรุกด้านการป้องกันเด็กจากการค้ามนุษย์
โดยแผนปฏิบัติการฉบับนี้ มุ่งยกระดับมาตรฐานการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ด้านป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ในทุกขั้นตอนของกลไกการส่งต่อระดับชาติ โดยมีกลไกทั้งขั้นตอนการเผชิญเหตุหรือรับแจ้งเหตุ ขั้นตอนคัดกรองเบื้องต้น ขั้นตอนการคัดแยก และขั้นตอนการคุ้มครองต่อไป